เช้าตรู่วันพฤหัสบดีที่ 10 มิถุนายน 2564 ผมออกเดินทางจากจังหวัดปราจีนบุรีโดยรถยนต์กระบะคันเก่า พร้อมกระเป๋าเสื้อผ้าและอุปกรณ์การตั้งแค้มป์ชุดเล็กๆ มุ่งหน้าสู่กรุงเทพฯ เพื่อแวะรับเพื่อนร่วมทางอีกหนึ่งท่าน สาโรจน์ ปาลกวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ซึ่งมีอาชีพเป็นทั้งช่างภาพและนักเขียนมายาวนาน ทริปนี้เราเดินทางกันเพียงสองคนจึงเป็นทริปเล็กๆ ระยะเวลาสั้นการเดินทางไม่ไกล พอให้ดับกระหายความคิดถึงป่าเขาลำเนาไพร
บ้านกร่างแค้มป์ คือเป้าหมายของทริปนี้ ซึ่งที่นี่คือหน่วยพิทักษ์ของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน (กจ.4) โดยตั้งอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 35 กิโลเมตร เรียกได้ว่าเป็นเส้นทางเข้าสู่ป่าลึก ใกล้ชายแดนไทย-เมียนมาร์ ด้วยสภาพป่าเป็นผืนใหญ่ต่อมาจากป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จึงมีความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าและพืชพรรณนานาชนิด
วิธีการเดินทางที่สะดวกรวดเร็วที่สุดคือ ขับรถไปตามเส้นทางพระราม 2 – ปากท่อ เมื่อถึงเขาย้อยย่านข้าวแกงอร่อยให้ชิดซ้ายขึ้นทางต่างระดับข้ามไปตามป้ายหนองหญ้าปล้อง แล้วไปตามป้ายแก่งกระจาน เมื่อถึงวงเวียนให้ตรงไปอีกจนกว่าจะถึงทางแยกไปบ้านกร่างแค้มป์ คือทางหลวงหมายเลข 3432 เป็นทางลาดยางตลอด โดยไม่ต้องเลี้ยวเข้าที่ทำการอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน รวมระยะทางจากกรุงเทพฯ ประมาณ 220 กิโลเมตร แนะนำให้ปักหมุดในแผนที่ระหว่างเดินทางด้วยนะครับจะได้ไม่พลาด
เราสองคนเดินทางถึงจุดหมายในช่วงบ่าย พร้อมกับสายฝนพรำ สิ่งแรกที่ทำคือการเดินหาทำเลที่ตั้งเต้นท์ วันนี้ผู้คนค่อนข้างบางตา ชายใกล้ชราสองคนจึงเลือกทำเลได้อย่างสะดวก ที่นี่เป็นเสมือนวิมานของนักดูนก และผู้พิสมัยในสีสันลวดลายบนปีกผีเสื้อ แต่ทว่าช่วงนี้เข้าสู่ฤดูฝนผีเสื้อจึงค่อนข้างน้อยไม่เหมือนฤดูแล้งที่เพิ่งผ่านมา วันนี้เราจึงพบเพียงผีเสื้อตาลหางแหลมธรรมดา ที่ออกล่าหากลิ่นเกลืออยู่ตามราวป่าและริมธารน้ำใส พอให้เป็นสีสันรื่นรมย์สมใจในวันพักผ่อน
ระหว่างที่ผมหุงหาอาหารสนุกสนานกับการปรุงเสบียง คุณสาโรจน์ได้เดินท่องไพรไปตามลำธาร เสียงน้ำไหลในไพรพนาบวกรวมกับสายฝนพรำ ให้ความรู้สึกฉ่ำเย็นคลายความเหนื่อยล้าน่าเบื่อจากสภาพความวิบัติที่มีอันต้องจากมา เราลืมมันได้อย่างน้อยก็สองวัน ป่าช่วยบันดาลความสุขลืมความทุกข์ แม้จะอยู่ในช่วงที่ต้องระมัดระวังตัว แต่การได้มาพักผ่อนกับธรรมชาติในสถานที่ผู้คนน้อยๆนั้น สำหรับผมแล้วรู้สึกปลอดภัยกว่าการอยู่ในตลาดแอร์
ไม่นานก่อนที่ข้าวสารในหม้อสนามจะกลายร่างเป็นข้าวสุกขาวหอม คุณสาโรจน์เดินกลับมาพร้อมกับของฝากคือภาพนกหัวขวานสี่นิ้วหลังทอง และนกปรอทเหลืองหัวจุก พร้อมยังเล่าต่อว่า ระหว่างนั่งซุ่มมองปลากระโดดทวนน้ำอยู่ได้ไปสบตากับเหี้ยวัยรุ่นมาตัวนึง ดวงตาของมันช่างแวววาวไร้พิษสงน่าผูกมิตรยิ่งนัก…เอากับเขาสิครับมากับศิลปินก็สนุกอย่างนี้ ทุกอย่างสวยงามไปหมด และนี่คือข้อดีที่ทำให้มีความสุขครับ
ความอยากรู้อยากเห็นของเราไม่ได้หยุดอยู่เพียงที่แค้มป์ที่พัก เช้าวันต่อมาเราเดินหน้าต่อไปยังบริเวณ กม.18 ที่ซึ่งทางอุทยานฯ อนุญาตให้เราได้เดินทางเพียงแค่นั้น หากเป็นสมัยก่อนเส้นทางสายนี้คือเส้นทางสู่ยอดเขาพะเนินทุ่ง จุดชมทะเลหมอกอันโด่งดังของผืนป่าแก่งกระจาน ก่อนถึง กม.18 เราต้องขับรถข้ามลำห้วยอยู่สองสามครั้ง
บริเวณลำห้วยมักเป็นที่สัตว์ป่าได้มาอาศัยดื่มกิน ผมสังเกตเห็นมูลช้างระหว่างทาง เห็นผีเสื้อชราที่หลงเหลือจากฤดูแล้งโบยบิน และนักดูนกเดินออกมาจากราวป่า ลำธารในป่านี้จึงเปรียบเสมือนแหล่งอาหารของสัตว์ป่า เราควรต้องตระหนักถึงความสำคัญ อย่าไปทำลายแม้กระทั่งส่งเสียงดังรบกวน ที่แห่งนี้คือบ้านของเขา เราเป็นเพียงผู้มาเยือน ทุกอย่างที่นำเข้ามาเราต้องนำออกไป เช่นกันครับทุกอย่างที่อยู่ข้างในนี้เราไม่มีสิทธิ์ที่จะหยิบออกไป เพื่อเราจะได้มีที่สุขใจไปนานๆ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
- อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โทร.0 3277 2311
- หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน (กจ.4) บ้านกร่างแค้มป์
- ปิดเวลา 17.00 น. นักท่องเที่ยวต้องเดินทางไปให้ถึงก่อนเวลาปิด
ดูเนื้อหาต้นฉบับ
ที่มา : https://www.sanook.com/travel/1427313/
ขอขอบคุณ : https://www.sanook.com/travel/1427313/