อารยธรรมขอมโบราณ เคยมีความรุ่งเรืองสูงสุดในภูมิภาคอินโดจีนทั้ง ไทย ลาว และกัมพูชา โดยได้มีการสร้างสิ่งปลูกสร้างไว้มากมาย โดยเฉพาะ ปราสาทหิน หรือ ปราสาทขอม ในเมืองไทยมีปราสาทหินโบราณกระจายอยู่ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดทางภาคอีสาน ตะวันตก ที่มีพื้นที่บางส่วนติดกับชายแดนกัมพูชา ปราสาทหินบางแห่งโดดเด่นจนกลายเป็นสัญลักษณ์ในแต่ละจังหวัด สำหรับใครที่ชอบเที่ยวในเชิงประวัติศาสตร์ หลงใหลสถาปัตยกรรมโบราณ เมื่อไปถึงจังหวัดที่มีปราสาทโบราณจึงไม่ควรพลาดแวะชม
ปราสาทพนมรุ้ง บุรีรัมย์
เริ่มกันที่ความยิ่งใหญ่ของปราสาทหิน ที่สร้างชื่อให้กับเมืองไทยมานาน ปราสาทหินพนมรุ้ง ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นโบราณสถานที่ตั้งอยู่บนเขาพนมรุ้งยอดภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว สูงประมาณ 200 เมตรจากพื้นราบ สร้างขึ้นโดยมีรูปแบบของศิลปะเขมรโบราณที่มีความงดงามมากที่สุดแห่งหนึ่ง ปราสาทหิน พนมรุ้งเป็นหนึ่งในปราสาทหินขอมของไทยที่มีชื่อเสียงมากที่สุด เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญและถือเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของจังหวัดบุรีรัมย์
ภาพและข้อมูลเพิ่มเติม คลิ๊ก ปราสาทพนมรุ้ง
ปราสาทเมืองต่ำ บุรีรัมย์
อีกหนึ่งปราสาทที่ไม่ควรพลาดเมื่อมาถึงบุรีรัมย์ ซึ่งต้องเรียกว่าอยู่เคียงคู่กับปราสาทพนมรุ้ง คือ ปราสาทเมืองต่ำ ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลกันห่างกันเพียงแค่ 8 ก.ม. ปราสาทเมืองต่ำ ตั้งอยู่ใน อำเภอประโคนชัย มีรูปแบบที่แตกต่างจากปราสาทหินที่อื่น คือ มีปรางค์องค์ใหญ่ตรงกลางล้อมรอบด้วยปรางค์ขนาดเล็กกว่าทั้ง 4 มุม ลักษณะเป็นกลุ่มปราสาทอิฐ 5 องค์ ตั้งอยู่บนศิลาแลงอันเดียวกัน เรียงเป็น 2 แถว แถวหน้า 3 องค์ ส่วนแถวหลังมีปรางค์อิฐจำนวน 2 องค์ วางตำแหน่งให้อยู่ระหว่างช่อง ของปรางค์ 3 องค์ ในแถวแรกทำให้สามารถมองเห็นปรางค์ทั้ง 5 องค์ พร้อมกันโดยไม่มีองค์หนึ่งมาบดบัง ความโดดเด่นที่สำคัญอีกอย่างคือ นาคที่ขอบสระทั้ง 4 เป็นนาคแบบเศียรโลนไม่มีแผงรัศมีซึ่งเป็นศิลปะแบบบาปวนอย่างแท้จริง
ภาพและข้อมูลเพิ่มเติม คลิ๊ก ปราสาทเมืองต่ำ
ปราสาทหินพิมาย นครราชสีมา
อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ปราสาทหินขอมโบราณแบบบาปวน ตั้งอยู่ในอำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ประกอบด้วยปราสาทหินในสมัยอาณาจักรขอมที่ใหญ่โตและงดงาม สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ปราสาทหินพิมาย สร้างขึ้นตามความเชื่อเกี่ยวกับสวรรค์ และโลกมนุษย์ ลักษณะผังของปราสาทหินพิมายนั้นสร้างขึ้นคล้ายเขาพระสุเมรุ มีองค์ปราสาทประธาน ซึ่งอยู่ใจกลางของเทวสถาน เป็นเสมือนทางเชื่อมระหว่างโลกกับสวรรค์ ปราสาทหินพิมาย เป็นปราสาทหินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในอำเภอพิมาย
ปราสาทศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์
ปราสาทศีขรภูมิ ตั้งอยู่ อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ เป็นปราสาทที่มีความสมบูรณ์และงดงามที่สุดมากที่สุดในจังหวัดสุรินทร์ มีทับหลังเป็นรูปนางอัปสรถือดอกบัว และทวารบาลยืนกุมกระบอง ซึ่งนางอัปสราที่ปราสาทศีขรภูมินี้มีลักษณะคล้ายกับนางอัปสราที่ปราสาทนครวัด ประเทศกัมพูชา ซึ่งไม่พบที่ปราสาทศิลปะเขมรโบราณแห่งใดอีกเลยในประเทศไทย พบที่ปราสาทศีขรภูมิเพียงแห่งเดียวเท่านั้น
ภาพและข้อมูลเพิ่มเติม คลิ๊ก ปราสาทศีขรภูมิ
ปราสาทสระกำแพงใหญ่ ศรีสะเกษ
ปราสาทวัดสระกำแพงใหญ่ ตั้งอยู่ภายในวัดสระกำแพงใหญ่ ตั้งอยู่ใน อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ เป็นปราสาทขอม โบราณสถานที่มีอายุกว่า 1,000 ปี เป็นปราสาทหินขนาดใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดของจังหวัด ภายในวัดมีสรีระของหลวงปู่เครื่อง สภัทโท อดีตเจ้าอาวาสวัดสระกำแพงใหญ่ ซึ่งเป็นเกจิชื่อดังของจังหวัดศรีสะเกษ นอกจากนี้ ยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ อยู่หลายแห่ง ทั้งอุโบสถพญานาคที่ประดิษฐานพระเมี๊ยะมุนีจำลอง รูปหล่อหลวงปู่เครื่ององค์ใหญ่ ถ้ำเงินถ้ำทอง เป็นต้น
ภาพและข้อมูลเพิ่มเติม คลิ๊ก ปราสาทวัดสระกำแพงใหญ่
ปราสาทปรางค์กู่ ศรีสะเกษ
ปราสาทปรางค์กู่ ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลกู่ อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ ป็นศาสนสถานที่ได้รับอิทธิพลศิลปะเขมร ลักษณะเป็นปราสาท 3 หลัง สร้างเป็นแนวเรียงหน้ากระดานจากทิศใต้ไปทิศเหนือ ตั้งอยู่บนฐานที่สร้างด้วยหินศิลาแลงทั้งหมด ถึงแม้จะเป็นปราสาทขนาดเล็ก แต่ยังคงเอกลักษณ์ความโบราณ มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ตัวปราสาทมีความสมบูรณ์พอสมควร มีความโดดเด่นด้วยการนำแผ่นหินแกะสลัก คล้ายกับหน้าบันประตูวางเรียงรายหน้าปราสาท เป็นความแปลกตาที่ไม่เคยเห็นในปราสาทหินที่ใดมาก่อน
รีวิวและภาพเพิ่มเติม คลิ๊ก ปราสาทปรางค์กู่
ปราสาทปรางกู่ ชัยภูมิ
ปรางค์กู่ เป็นโบราณสถานที่สำคัญ ตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ มีสภาพสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในจังหวัดชัยภูมิ และยังเป็นที่เคารพของคนในจังหวัดชัยภูมิอีกด้วย ปรางค์กู่ไม่ได้มีขนาดใหญ่โตมากนัก แต่มีความงดงามด้วยสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากขอม เชื่อกันว่าเป็นอโรยาศาล(โรงพยาบาล) ในสมัยก่อน คำว่าปรางค์กู่นั้น เป็นชื่อเรียกของกลุ่มอาคารที่มีแผนผังและลักษณะแบบเดียวกันกับอาคารที่ เชื่อกันว่าเป็นอโรคยาศาลที่สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 18 ในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
ภาพและข้อมูลเพิ่มเติม คลิ๊ก ปรางค์กู่
ปราสาทสด๊กก๊อกธม สระแก้ว
ปราสาทสด๊กก๊อกธม ตั้งอยู่ในอำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว เป็นปราสาทขอมโบราณที่สำคัญของจังหวัดสระแก้วและใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 14 เพื่อใช้ประดิษฐานรูปเคารพและใช้ประกอบพิธีกรรมตามคติความเชื่อ ในลัทธิศาสนาฮินดู คำว่าสด๊กก๊อกธม หมายถึง “ เมืองที่มีต้นกกขึ้นรกในหนองน้ำใหญ่ ” ปัจจุบันยังพอมองเห็นหนองน้ำใหญ่ในอดีตอยู่ใกล้ ๆ ปราสาทสิ่งที่มีคุณค่าและสำคัญยิ่งของปราสาทสด๊กก๊อกธม คือ การพบหลักศิลาจารึกสด๊กก๊อกธม (หลักที่ 2) ซึ่งจดบันทึกเรื่องราว ประวัติศาสตร์ของชนชาติขอมเป็นช่วงระยะเวลานานถึง 200 ปี
ภาพและข้อมูลเพิ่มเติม คลิ๊ก ปราสาทสด๊กก๊อกธม
ปราสาทเมืองสิงห์ กาญจนบุรี
อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำแควน้อยทางทิศเหนือใน อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรีแวดล้อมด้วยทิวเขาเป็นแนวยาวอยู่โดยรอบ เป็นโบราณสถานทางด้านตะวันตกของประเทศไทยที่เก่าแก่พอๆ กับช่วงที่สร้างนครวัด ลักษณะผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กำแพงเมืองก่อด้วยศิลาแลง กว้างประมาณ 800 เมตร หมายถึงส่วนกว้างของเมือง ยาวประมาณ 850 เมตร และกำแพงสูง 7 เมตร มีประตูเข้าออก 4 ด้าน มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ภายในเมืองมีสระน้ำ 6 สระ
ปราสาทขอมวัดกำแพงแลง เพชรบุรี
ปราสาทขอมวัดกำแพงแลง ตั้งอยู่ในวัดกำแพงแลงเป็นที่ตั้งของโบราณสถานแบบขอมและเก่าแก่ที่สุดในเมืองเพชรบุรี สันนิษฐานว่าสร้างมาแต่สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7ที่แผ่อำนาจเข้ามาสู่ดินแดนทางภาคกลางของประเทศไทย และเมืองเพชรบุรีเป็นแหล่งสุดท้ายที่แผ่อิทธิพลมาถึง แสดงให้เห็นถึงประวัติศาสตร์และการตั้งชุมชนมาแล้วอย่างยาวนานปราสาทแบบขอม เป็นเทวสถานของสมัยบายน ประกอบด้วยหมู่ปราสาทหรือปรางค์ 5 หลัง สร้างด้วยศิลาแลง ตั้งอยู่ติดกันมีซุ้มประตูที่เรียกว่า โดปุระ ทั้ง 2 ด้านโดยมีปรางค์ประธานอยู่ตรงกลางสิ่งที่หน้าสนใจคือ จำหลักหินเป็นลวดลายต่างๆ บนผนังศิลามีร่องรอยงานปูนปั้นให้เห็นเป็นฝีมือของช่างพื้นเมือง ซึ่งมีลักษณะต่างจากปราสาทขอมที่พบในตะวันออกเฉียงเหนือ
ติดตามไปด้วยกัน
Tags : เที่ยวปราสาทขอม, เที่ยวปราสาทหิน
-
บทความที่เกี่ยวข้อง
ดูเนื้อหาต้นฉบับ
ที่มา : https://www.paiduaykan.com/travel/%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%AB%E0%B8%B4%E0%B8%99
ขอขอบคุณ : https://www.paiduaykan.com/travel/%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%AB%E0%B8%B4%E0%B8%99