อีกแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในช่วงยุคก่อนประวัติศาสตร์ของไทยคือที่ “จังหวัดกาญจนบุรี” ไม่ว่าจะเป็นแหล่งถ้ำเขาทะลุ ถ้ำเม่น ถ้ำหีบ รวมถึงแหล่งโบราณคดีบ้านเก่า (แหล่งนายบาง) ที่มีอายุกว่า 3,000-4,000 ปี และมีชื่อเสียงไปทั่วโลกในฐานะตัวแทนของสังคมเกษตรกรรมระยะแรกเริ่มของไทย ถือเป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ช่วงสมัยหินใหม่จนถึงสมัยโลหะที่สำคัญ ทำการขุดค้นโดยคณะวิจัยร่วมทางโบราณคดีไทย – เดนมาร์ก เมื่อ พ.ศ. 2503-2504
จากการสำรวจในช่วงแรกได้ต่อยอดมาสู่การขุดสำรวจชุดล่าสุดระหว่าง พ.ศ. 2559 – 2564 โดยสำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี ได้ทำการขุดค้นทางโบราณคดี แหล่งโบราณคดีโรงเรียนวัดท่าโป๊ะ พบหลุมฝังศพสมัยสำริดมากถึง 24 หลุม โดยเป็นการฝังร่างร่วมกับภาชนะดินเผา ทั้งยังพบเครื่องประดับจากเปลือกหอย และขวานสำริดมีบ้อง
อีกข้อมูลชุดสำคัญที่ได้มาพร้อมกับการสำรวจครั้งนี้คือ การขุดพบ “พื้นที่ผลิตโลหะสำริด” กำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์ได้ระหว่าง 2,491-3,083 ปีมาแล้ว และเมื่อนำมาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลจากแหล่งโบราณคดีบ้านเก่า สามารถเชื่อมโยงให้เห็นภาพรวมของการใช้พื้นที่ในเขตนี้ได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้นว่า มีการตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่สมัยหินใหม่ โดยมีหลักฐานเป็นแหล่งฝังศพขนาดใหญ่บริเวณแหล่งโบราณคดีบ้านเก่า (แหล่งนายบางและนายลือ) ริมห้วยแมงลัก ซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำแควน้อย ต่อมาในสมัยสำริดจึงได้มีการเปลี่ยนสถานที่ฝังศพมายังริมแม่น้ำแควน้อย หรือก็คือบริเวณ “แหล่งโรงเรียนวัดท่าโป๊ะ” ที่เพิ่งขุดค้นพบนี้ และต่อมาในสมัยเหล็กได้ขยายการใช้พื้นที่ลงใต้ไปตามแม่น้ำ
เรียกได้ว่า แหล่งโบราณคดีโรงเรียนวัดท่าโป๊ะ เป็นตัวแทนของสมัยสำริด และเป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่ทำให้นักโบราณคดีรู้ถึงพัฒนาการทางสังคมของชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในพื้นที่ตำบลบ้านเก่า ไล่เรียงตั้งแต่สมัยหินใหม่ สมัยสำริด และสมัยเหล็ก ได้อย่างต่อเนื่อง ถือเป็นการเติมเต็มช่องว่างของหลักฐานทางโบราณคดีของไทยในช่วงเวลาที่ขาดหายไปได้อย่างสมบูรณ์
สำหรับ แหล่งโบราณคดีโรงเรียนวัดท่าโป๊ะ ตั้งอยู่ในที่ราชพัสดุแปลงติดกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า มีการสำรวจในลักษณะของหลุมขุดค้นเปิด หรือ Site museum ซึ่งทางกรมศิลปากรกำลังวางแผนดำเนินการพัฒนาควบคู่ไปกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า เพื่อให้เป็นศูนย์กลางแหล่งเรียนรู้ด้านโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ประจำภาคตะวันตกของประเทศ โดยหลังจากนี้ทางกรมศิลปากรจะดำเนินการขอใช้พื้นที่ดังกล่าวจากกรมธนารักษ์และเตรียมแผนเปิด Site museum แห่งนี้ให้ได้เข้าชมในลำดับต่อไป
ดูเนื้อหาต้นฉบับ
ที่มา : https://www.sanook.com/travel/1428169/
ขอขอบคุณ : https://www.sanook.com/travel/1428169/