เที่ยว ป่าหิมพานต์ ส่องสัตว์มหัศจรรย์และถิ่นที่อยู่รอบเกาะรัตนโกสินทร์

แชร์

อยู่กรุงเทพฯ ก็สะพายกล้องออกไปเดินป่าส่องสัตว์ได้ แต่ไม่ใช่ป่าคอนกรีต เป็น ป่าหิมพานต์ กับ 7 พิกัด รอบเกาะรัตนโกสินทร์ที่เราคัดสรรมาแล้วว่าคึกคักด้วยเหล่า สัตว์หิมพานต์ สัตว์มหัศจรรย์ในจินตนาการของอินเดียโบราณที่มีความเกี่ยวเนื่องกับศาสนา รวมทั้งมีอิทธิพลอย่างมากต่อวงการศิลปะ และวรรณกรรมไทย

yjuk

ป่าหิมพานต์ มีอีกชื่อหนึ่งว่า หิมวันต์ ปรากฏอยู่ในวรรณคดีไทย “ไตรภูมิกถา” หรือ “ไตรภูมิพระร่วง” โดยพญาลิไทย กษัตร์ย์นักปราชญ์ผู้ครองเมืองศรีสัชนาลัย พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์จากคติความเชื่อทางพุทธศาสนาโดยให้ ป่าหิมพานต์ เป็นดินแดนที่มีหิมะปกคลุม ถือเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์อยู่บนยอดเขาสูงเสียดฟ้า ที่มียอดเขาสลับซับซ้อนถึง 84,000 ยอด ทั้งยังเป็นที่สถิตของ เหล่าเทพ เทวดา และผู้ทรงคุณวิเศษต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนักบวช ผู้ทรงศีล ฤาษี นักสิทธิ์ วิทยาธร นอกจากนี้ยังมีสิ่งมีชีวิต รวมทั้งสัตว์มหัศจรรย์ เรียกว่าเป็นดินแดนเร้นลับ ยากที่มนุษย์ธรรมดาจะเดินทางไปถึงหรือเข้าถึงได้

himmapan-7

ป่าหิมพานต์ ไม่ต่างจากป่าทั่วไปที่เต็มไปด้วยสัตว์นานาชนิด แต่ล้วนเป็นสัตว์ที่แปลกตา เป็นสัตว์มหัศจรรย์ที่มีอิทธิฤทธิ์วิเศษแตกต่างกันไป แบ่งได้วงศ์ใหญ่ๆ คือ สัตว์ทวิบาท (สองขา) สัตว์จตุบาท (สี่ขา) สัตว์จำพวกปลา และสัตว์ผสม

สำหรับใครที่พร้อมจะหยิบกล้องไปท่องป่า ส่อง สัตว์หิมพานต์ กันแล้ว ตามมาได้กับ 7 พิกัดป่าหิมพานต์บนถิ่นที่อยู่รอบเกาะรัตนโกสินทร์ที่สามารถเดินเชื่อมกันได้แบบ One Day Trip ตั้งแต่เช้าจรดย่ำค่ำ

900x520-main
“นกทัณฑิมา” พระที่นั่งพุทไธสวรรย์

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ไม่ได้มีเพียงห้องจัดแสดงโบราณวัตถุที่สำคัญของชาติเท่านั้น ด้านหน้าของพิพิธภัณฑ์ยังเป็นที่ตั้งของ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ สถานที่ประดิษฐาน พระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปคู่เมืองที่มีเพียง 3 องค์เท่านั้นในประเทศไทย อีกสิ่งที่โดดเด่นในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ คืองานจิตรกรรมเต็มฝาผนังทั้ง 4 ด้าน เขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 เขียนเกี่ยวกับพุทธประวัติ วิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณีของผู้คนในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ รวมทั้งภาพเทพชุมนุม และภาพตอนพระพุทธเจ้าชนะมาร มีพระแม่ธรณีบีบมวยผมมีเหล่าสัตว์ต่างๆ กำลังสู้รบกันอยู่ในภาพ ซึ่งรวมถึงเหล่าสัตว์หิมพานต์ด้วย

เมื่อเดินเข้าไปทางด้านหลังองค์พระประธานจะพบตู้เก็บพระไตรปิฎก เป็นตู้ลายรดน้ำลายทองถมพื้นดำ มีเรื่องราวเกี่ยวกับรามเกียรติ์ ลวดลายที่โดดเด่นคือสัตว์หิมพานต์ที่ใช้เป็นพาหนะ ได้แก่ คชสีห์ ราชสีห์ และกิเลน อีกไฮไลต์ต้องชมคือฉากกั้นลับแล วาดเรื่องรามเกียรติ์ตอนยกรบ ซึ่งในภาพจะพบสัตว์หิมพานต์ที่ใช้เป็นพาหนะหลายตระกูล เช่น ปักษาวายุ สดายุ ลิงนิลพัท และกินนร เป็นต้น

นอกจากจิตรกรรมฝาผนังด้านในแล้ว บริเวณประตูทางเข้ายังมีประติมากรรม นกทัณฑิมา หรือในบางตำราเรียก นกทัณฑิมานวก สัตว์หิมพานต์ครึ่งนกครึ่งคน มีหงอนที่ต่างออกไปจากครุฑมีถิ่นที่อยู่ชอบอาศัยบนใบบัวในสระกลาง ป่าหิมพานต์ จุดเด่นที่จะแยกนกทัณฑิมา ออกจากการเวก หรือวายุภักษ์ก็คือ ไม้เท้า พบนกทัณฑิมาที่ไหน ในมือต้องถือไม้เท้าอยู่ตลอดเวลา หน้าที่ของนกทัณฑิมาคือเฝ้าสถานที่สำคัญ เช่น หน้าพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และวัดพระแก้ว

800x520-main
“นาคฉบับโบราณ” พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน

แฟนๆ ป่าหิมพานต์ที่มองหาสัตว์หิมพานต์ฉบับที่มีรูปลักษณ์แตกต่างไปจากที่ช่างไทยนิยม แนะนำว่าให้แวะมาที่ นิทรรศการ อารยธรรมวิวัฒน์ ลพบุรี-ศรีรามเทพนคร ซึ่งเป็นนิทรรศการพิเศษชั่วคราวจัดแสดงที่ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครที่ห้องนี้มี สัตว์หิมพานต์ รูปร่างหน้าตาแปลกไปจากที่เราเคยได้ชมอยู่เยอะมาก แต่ไฮไลต์ที่ห้ามพลาด และก็มีโอกาสที่จะพลาดชมอย่างมากคือ พญานาคดินเผาตัวน้อย ได้มาจากบริเวณคูเมือง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่ง งู หรือ นาค เป็นสัตว์ที่เกี่ยวพันกับความเชื่อทางศาสนา ทั้งพันรอบพระศอของพระอิศวรตามความเชื่อของฮินดู ทั้งยังเป็นผู้บำรุงพระพุทธศาสนามาแต่ครั้งพุทธกาล ความเชื่อเรื่องงูและนาค ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย สืบมาถึงไทยตั้งแต่สมัยทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรี สุโขทัย อยุธยา ถึงปัจจุบัน

himmapan-3
“หิมพานต์สำนักช่างหลวง” วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

งานจิตรกรรม ประติมากรรม เกี่ยวเนื่องกับสัตว์หิมพานต์นั้นมีหลากหลายเวอร์ชัน ตามแต่ว่าจะเป็นจินตนาการของศิลปินคนใด แต่ถ้าใครสนใจงานศิลปะแบบช่างวังหลวงให้ตรงมาที่ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือ วัดพระแก้ว ที่นี่นอกจากจะโดดเด่นด้วยจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ที่ยาวที่สุดในประเทศไทยแล้ว แผนผังของวัดพระแก้วโดยเฉพาะบริเวณ “ฐานไพที” ถือเป็นไฮไลต์สำคัญของจักรวาลวิทยา ซึ่งโดยรอบประกอบไปด้วยป่าหิมพานต์ สังเกตได้จากไม้ประดับหรือลวดลาย ภูเขา ต้นไม้ ดอกไม้ ตามกำแพงในส่วนนี้ที่เป็นนัยสื่อถึงป่าหิมพานต์

และแน่นอนว่าเมื่อมาถึงป่าหิมพานต์ก็ย่อมต้องมีสัตว์หิมพานต์เป็นผู้ปกปักรักษาฐานไพที เป็นเหล่าสัตว์หิมพานต์สีทองอร่ามสร้างตามตำราช่างวังหลวง เช่น “อัปสรสีห์” ท่อนบนเป็นนางอัปสร ท่อนล่างเป็นราชสีห์ “เทพนรสิงห์” ท่อนบนเป็นเทวดา ท่อนล่างเป็นราชสีห์ “อสุรวายุภักดิ์” ท่อนบนเป็นยักษ์ ท่อนล่างเป็นนกหางมีลักษณะเป็นแผงคล้ายหางนกยูง “อสุรปักษี” ท่อนบนเป็นยักษ์ ท่อนล่างเป็นนก“กินนร กินรี” ท่อนบนเป็นมนุษย์ ท่อนล่างเป็นนก “เทพปักษี” เป็นเทวดา มีปีกและหางเป็นนก และ “สิงหพานร” ท่อนบนเป็นวานร ท่อนล่างเป็นราชสีห์

himmapan-5
“ที่สุดของจิตรกรรมสัตว์หิมพานต์” วัดสุทัศนเทพวราราม

วัดสุทัศน์ นอกจากจะยืนหนึ่งเรื่องขนาดความใหญ่ของพระวิหารหลวงแล้ว จิตรกรรมฝาผนังภายในพระวิหารหลวงยังได้รับการยกย่องให้เป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยประเพณี เพราะทรงคุณค่าด้วยฝีมือบรมครูช่างสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เมื่อเข้าไปภายในพระวิหารหลวง ทุกคนจะทึ่งกับจิตรกรรมฝาผนังที่สร้างสรรค์อย่างวิจิตรจากพื้นจดเพดานว่าด้วยเรื่องประวัติพระพุทธเจ้า 27 พระองค์ รวมไปถึงเสาสี่เหลี่ยมทั้งแปดต้นก็เขียนภาพเรื่องไตรภูมิโลกสัณฐานว่าด้วยภพภูมิ โลก และจักรวาล ตามคติความเชื่อทางพุทธศาสนา ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีเรื่องราวของป่าหิมพานต์และสัตว์วิเศษในจินตนาการอยู่

ภาพสัตว์หิมพานต์ในวัดสุทัศน์นั้นมีสัตว์หิมพานต์ครบทุกวงศ์ แต่ละวงศ์ก็วาดไว้ครบทุกสี ทุกประเภท เรียกได้ว่าหากอยากจะรู้จักสัตว์หิมพานต์และถิ่นที่อยู่ว่าแต่ละตัวมีลักษณะ ท่าทาง ความชอบ นิสัยอย่างไร ให้มาดูได้ที่วัดสุทัศน์ และที่พิเศษคือนอกจากจิตรกรรมฝาผนังแล้ว เหนือกรอบประตูและหน้าต่างวัดสุทัศน์จะมีภาพชุดจิตรกรรมสีฝุ่นบนกระดาษข่อยบรรจุในกรอบไม้แกะสลักลวดลายพรรณพฤกษาอย่างฝรั่งประดับอยู่เหนือช่องประตูหน้าต่างช่องละ 3 ภาพ รวม 48 ภาพ เป็นงานฝีมือชั้นสูงของช่างหลวงในราวสมัยรัชกาลที่ 3 และ 4 และเป็นภาพชุดจิตรกรรมที่เล่าเรื่องสัตว์หิมพานต์ที่สมบูรณ์แบบและมีจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย

400x520-main
“สัตว์หิมพานต์ที่ซ่อนในรอยพระบาท” วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์)

จุดเด่นอย่างหนึ่งของ วัดโพธิ์ คือ พระพุทธไสยาสน์ พระนอนองค์ใหญ่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 มีความสูงนับจากฐานถึงยอดพระเศียรประมาณ 15 เมตร ปลายพระบาทมีงานประดับมุกที่เรียกว่า ลายมงคล 108 ประการ พร้อมคติจักรวาลวิทยา ที่แบ่งโลกนี้ออกเป็นไตรภูมิ โดยมีป่าหิมพานต์อยู่ที่ชั้นใน สังเกตได้จากการประดับมุกเป็นรูปภูเขา ป่าไม้ นั่นแหละเขตของป่าหิมพานต์ ส่วนสัตว์หิมพานต์ไฮไลต์ก็มาครบทั้ง หงส์ ครุฑ กินนร กินรี ราชสีห์ เสือโคร่ง โค มกร (นาคผสมมังกร) จระเข้ พญานาค ซึ่งเมื่อถูกนำมาทำในรูปแบบศิลปะประดับมุกก็ทำให้มีความงามแปลกตาไปอีกแบบ

ที่วัดโพธิ์ยังมีสัตว์หิมพานต์หายากอีกหนึ่งชนิดที่คิดค้นขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 คือ สางแปลง สัตว์ที่นับได้ว่าเป็นแรร์ไอเทม หาชมยากมากระดับสุดในป่าหิมพานต์ สางแปลงมีหน้าตาเหมือนเสือสิงห์ผสมกับมังกร หรือพญานาค เหตุที่ว่าสางแปลงหาชมยากก็เพราะสางแปลงถือเป็นสัตว์หิมพานต์ยุคใหม่ที่เกิดขึ้นจากจินตนาการของช่างในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยคำว่าสาง มักจะใช้เรียกเสือ และคำว่า “เสือสาง” ก็มาจากคำว่าสางแปลงนี่เอง

สางแปลง นอกจากจะมีให้ชมในภาพวาดสัตว์หิมพานต์ในกรอบกระจกโบราณ ประดับไว้ที่ผนังพระวิหารหลวง วัดสุทัศนเทพวรารามแล้ว สางแปลงยังมีให้ชมเป็นรูปปั้นสำริดยืนเฝ้าประตูมงคล กำแพงแก้ว และซุ้มพัทธสีมา อยู่ที่วัดพระเชตุพนฯ หรือ วัดโพธิ์ มีทั้งหมด 16 คู่ เฝ้าอยู่ 8 ซุ้มประตู โดยสางแปลงสำริดนี้สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งทรงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดโพธิ์ครั้งใหญ่

himmapan-2
“พญาคชสีห์” ประจำกระทรวงกลาโหม

นอกจากความคลาสิกของอาคารสถาปัตยกรรมยุโรปโทนเหลืองที่เป็นเอกลักษณ์ของกระทรวงกลาโหมแล้ว ด้านหน้ากระทรวงบริเวณสนามหญ้าทางเข้ายังเป็นส่วนของพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งจัดแสดงปืนใหญ่โบราณ และถ้าสังเกตให้ดีด้านหลังปืนใหญ่มีรูปปั้นพญาคชสีห์ขนาดใหญ่ 2 ตัว นามว่า “พญาคชสีห์สยามปฐพีพิทักษ์” และ “พญาคชสีห์ราชเสนีพิทักษ์” จัดทำขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2549 ตั้งตระหง่านอยู่ขนาบสองข้างบริเวณทางด้านหน้าตัวอาคาร

คชสีห์ถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของกระทรวงกลาโหมมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นใหม่ พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีตำแหน่งสมุหกลาโหมและสมุหนายกขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน คชสีห์ก็เป็นหนึ่งในสัตว์มหัศจรรย์ของป่าหิมพานต์ด้วย

himmapan-4
“ราชสีห์” ประจำกระทรวงมหาดไทย

“ราชสีห์” เป็นตราสัญลักษณ์ของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งถ้าเราผ่านบริเวณหน้ากระทรวงก็จะเห็นตราสัญลักษณ์ราชสีห์ประดับอยู่ที่รั้ว ส่วนอาคารด้านหลังอนุสาวรีย์สมเด็จเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็ประดับตราราชสีห์สีทองอร่ามอยู่เช่นกัน

ในหิมพานต์และตามตำราวรรณคดีไทยนั้นแบ่งราชสีห์ออกเป็น 4 ชนิด คือ ติณสีหะ กาฬสีหะ บัณฑสีหะ และไกรษรสีหะสำหรับราชสีห์ที่ใช้เป็นตราราชสีห์ของกระทรวงนั้นเป็น ไกรษรสีหะ หรือ ไกรษรราชสีห์ ซึ่งในหนังสือหนังสือ “๑๐๐ ปี มหาดไทย” ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ ไกรษรสีหะ ไว้ว่า

“ฤทธิเริงแรง ปลายทาง และเท้าปากเป็นสีแดงดูดุจจะย้อมครั่งพรรณที่อื่นเอี่ยมดังสีสังข์ไสเศวตวิสุทธิ์สดสะอ้าน ประสานลายวิไลผ่านกลางพื้นปฤษฎางค์แดงดั่งชุบชาด อันนายช่างชาญฉลาดลากลวดลงพู่กันเขียนเบื่องอูรุนั้นเป็นรอยเวียนวงทักษิณาวัฏ เกสรสร้อยศอดั่งผ้า รัตตกัมพล”

Fact File

– ตามรูปศัพท์แล้ว หิมพานต์ มาจากคำว่า หิมวนฺต หมายถึง มีหิมะ ปกคลุมด้วยหิมะ หรือก็คือ ภูเขาหิมาลัย ในปัจจุบัน
– หิมพานต์ มักถูกใช้เป็นคำเปรียบเปรยในลักษณะความหมาย ไกลแสนไกล สถานที่ที่ไกลจนไปไม่ถึง เช่นคำว่า “นอกฟ้าป่าหิมพานต์” แปลว่า ไกลเหลือเกิน
= สัตว์หิมพานต์ เป็นสัตว์ในจินตนาการ ดังนั้นรูปร่างตามตำราต่างๆ ที่เราเห็นจึงเป็น รูปร่างตามจินตนาการของช่างในแต่ละยุค แต่ละภูมิภาคที่คาดว่าจะเป็นเช่นนั้น ส่วนในสมัยรัตนโกสินทร์เองก็มีสัตว์หิมพานต์จำนวนมากที่คิดค้นขึ้นใหม่สำหรับใช้ในงานแห่พระบรมศพ ซึ่งตามบันทึกที่ภาพปรากฏก็มีไม่ต่ำกว่า 78 ชนิด

ดูเนื้อหาต้นฉบับ

ที่มา : https://www.sanook.com/travel/1428769/
ขอขอบคุณ : https://www.sanook.com/travel/1428769/

เรื่องที่เกี่ยวข้อง



บัตรกดเงินสด ซิตี้ เรดดี้เครดิต

บัตรเครดิต ซิตี้ ลาซาด้า

บัตรเครดิตซิตี้ แกร็บ

บัตรเครดิต ซิตี้ แคชแบ็ก แพลตตินั่ม

บัตรเครดิต ซิตี้ รีวอร์ด