ที่ แปลงนาใต้อ่างเก็บน้ำห้วยคล้าย โครงการปิดทองหลังพระ บ้านโคกล่าม-แสงอร่าม ต.กุดหมากไฟ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี หลังทราบว่า มีการดำนาเป็นภาพ พระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตรทรงงาน และ สัญลักษณ์เฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 10 โดยใช้ข้าว 2 สายพันธ์ มาดำนาผ่านมา 2 เดือน ข้าวเริ่มเจริญเติบโตเขียวขจีพันธุ์ทับทิมชุมแพ ซึ่งมีใบสีเขียว เป็นสีพื้นในท้องทุ่งนา เมื่อขึ้นไปดูบนหอคอยก็เห็นต้นข้าวเจ้าพันธุ์ที่มีใบสีน้ำ ตาล-ดำ จากสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นไรท์เบอรี่วาดลวดลายจนกลายเป็นรูปพ่อหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงงาน และสัญลักษณ์รัชกาลที่ 10 ทำให้ดูสวยงามโดดเด่นเป็นที่ติดตาตรึงใจ
นายชาลี ศรีสุพล อายุ 59 ปี ครู โรงเรียนบ้านหนองแวงชุมพล ต.กุดหมากไฟ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี เจ้าของที่นาเล่าว่า เดิมที่นาแห่งนี้เป็นของพ่อจำนวน 22 ไร่ พ่อแบ่งเป็นมรดกให้ตน 9 ไร่ มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อก่อนทำตามวิถีชาวบ้านทำนาเลี้ยงชีพพออยู่พอกิน หลังโครงการปิดทองหลังพระเข้ามาในพื้นที่ ได้นำระบบน้ำมาให้ ถ้ามีน้ำเราก็ทำเกษตรอื่นได้ ทั้งปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ คิดพัฒนาพื้นที่เพราะมีความศรัทธา มีความเชื่อมั่นในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มุ่งมั่นให้พสกนิกรอยู่ดีกินดีมีความยั่งยืน ซึ่งตนจะทำตามแนวพระราชดำริของพระองค์ เพื่อสอนลูกหลานให้รู้จักตัวตน มีชีวิตเป็นอยู่ที่ดี มีข้าวมีอาหาร มีที่ปลอดภัย ใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์ และมีคุณค่ามากที่สุด
ส่วนแปลงนาที่มีการดำนาเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์ ในหลวง รัชกาลที่ 9 และสัญลักษณ์เฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 10 ได้ความอนุเคราะห์จากอาจารย์ และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี เห็นพื้นที่บริเวณนี้น่าจะสื่อไปยังชุมชนได้ จึงเข้ามาช่วยเหลือออกแบบปลูกข้าว ซึ่งต่อไปตนจะพัฒนาเป็นแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ให้ใช้ประโยชน์และมีผลผลิตออกทุกฤดูกาล โดยมหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี จะช่วยเหลือส่งเสริม สนับสนุน เพื่อที่ดินแปลงนี้จะเป็นต้นแบบ ขยายสิ่งที่ดีๆ สู่ชุมชน โดยตนไม่ได้คิดกำไรหรือขาดทุน”
ดร.วิบูล เป็นสุข รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี เปิดเผยว่า กิจกรรมที่มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี ทำในพื้นที่โครงการพัฒนาอ่างเก็บน้ำห้วยคล้าย ตามแนวพระราชดำริ หรือ”โครงการปิดทองหลังพระ” บ้านโคกล่าม-แสงอร่าม ต.กุดหมากไฟ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี มีกิจกรรมบริการวิชาการ ตั้งแต่ปี 2557 มีกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ เช่นแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายวิสาหกิจชุมชน หลักสูตรท้องถิ่นเรื่องข้าว การทำบรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ ที่ดีขึ้นตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ในแต่ละปี ซึ่งประชาชนได้นำความรู้ทีมอบให้ นำไปทำการผลิตแปรรูปปุ๋ย แต่มีปัญหาเรื่องการตลาด ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญ เกษตรกรผลิตได้ ทำบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม แต่ไม่รู้จะไปขายให้ใคร
เคยอบรมการขายออนไลน์ให้ แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะไม่ได้ทำต่อเนื่อง ซึ่งจะได้ให้เยาวชนรุ่นใหม่ที่ ถนัดโซเชียลมีเดียมาช่วยอีกแรง
ปีนี้มหาวิทยาลัย จึงคิดค้นโครงการสนับสนุนให้ จำหน่ายผลิตภัณฑ์ โดยมีที่รวมผลิตภัณฑ์ของชุมชน เพราะตอนนี้เกษตรกรนำผลผลิตไปขายตามตลาดชุมชน หรือสถานที่อนุญาตให้ขายเป็นครั้งคราว ซึ่งจะได้ราคาต่ำ เราจึงคิดสร้างแหล่งรวมผลิตภัณฑ์ของชุมชน เพื่อขายให้ประชาชน นักท่องเที่ยวจึงเกิดเป็นกิจกรรมดำนารูปในหลวงขึ้นมา ซึ่งพื้นที่แห่งนี้เป็นทำเลที่เหมาะสม มีภูมิประเทศที่สวยงาม มีนาข้าวที่สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรได้ เราจึงเพิ่มเข้ามาพัฒนาพื้นที่วางแผนปลูกข้าวในรูปแบบที่น่าสนใจ ดึงดูดนักท่องเที่ยว ซึ่งออกแบบเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และรูปสัญลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 เพื่อให้สอดคล้องกับ “โครงการปิดทองหลังพระ” สืบสานแนวพระราชดำริ
ดร.วิบูล เปิดเผยต่อว่า กิจกรรมนี้ ได้รับความร่วมมือจากเจ้าของพื้นที่ ครูชาลี ศรีสุพล ซึ่งมีอาชีพเป็นเกษตรกร และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนด้วย ได้มาร่วมกันพัฒนาพื้นที่ ให้เป็นจุดท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ลำพังจุดนี้จุดเดียว ก็ไม่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ จึงวางแผนไว้ในอนาคตว่า ต้องเชื่อมโยงกับจุดท่องเที่ยวที่มีอยู่ในบริเวณรอบๆ เช่น วัดภูตะเภาทอง วัดภูสังโฆ เราต้องจัดกิจกรรมที่มีความท้าทายดึงดูดนักท่องเที่ยว เข้ามาในพื้นที่ให้มากขึ้น
ซึ่งหลังจากเกี่ยวข้าวไปแล้ว จะเป็นฤดูหนาวก็จะมีกิจกรรมทำกับชุมชน ปลูกไม้ดอกไม้ประดับเหมืองหนาว พืชผักเมืองหนาว สตอเบอรี่ เมล่อน เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวอีกครั้ ง เพื่อให้ชาวบ้านนำผลิตผลทางการเกษตรของตนมาขายในบริเวณนี้ เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของชาวบ้านให้ดีขึ้น ประกอบกับในปีนี้มหาวิทยาลัยมีโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายครัวเรือนแบบบูรณาการ หรือเรียกย่อๆ ว่า โครงการ U2T มหาวิทยาลัยจึงได้ใช้ U2T มาช่วยการขับเคลื่อนกิจกรรมในครั้งนี้ ทั้งมาช่วยดำนาและทำสะพาน เมื่อเสร็จสมบูรณ์แล้ว คิดว่าน่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวมาเที่ยวจุดนี้ได้
ด้านนายศักดิ์สิทธิ์ บัวคำ สาขาวิชาทัศนศิลป์ หลักการออกแบบ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี เปิดเผยว่า ได้นำแลนด์อาร์ตเข้ามาประยุกต์ใช้กับแปลงนา โดยขั้นตอนแรกลงพื้นที่ดูขนาดแปลงนา สภาพอากาศ การไหลของน้ำ มีแผนที่เป็นท๊อปวิว จะวัดขนาดด้วยการตีสเกล ออกแบบในระบบคอมพิวเตอร์ว่า เราจะวางรูปทรงอย่างไร เป็นพระบรมสาทิสลักษณ์ ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสัญลักษณ์เฉลิมพระเกียรติ ในหลวง รัชกาลที่ 10 เสร็จแล้วลงแปลงนา โดยใช้ชาวบ้าน นักศึกษา มาร่วมกิจกรรมนี้ โดยวางสเกลแล้วปักเป็นเส้นเอาร์ทไลน์ ด้วยข้าวสีดำ หรือดำนาด้วยข้าวสีดำ พื้นที่ข้าวสีเขียวเป็นแบ็คกราวด์ ซึ่งชาวบ้านให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เป็นที่สนใจของชาวบ้านเพราะเป็นสิ่งใหม่ ที่มีการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการนำศิลปะเข้ามาช่วย
นายธีระพล จิตมั่น นศ.ปี 4 สาขาทัศนศิลป์ มีการเตรียมพร้อมได้มีการดูแบบที่จะทำแล้วประสานงานรุ่นพี่และรุ่นน้อง เพื่อจะวางแผนว่าจะวางตำแหน่งหรือมุมไหนที่เราต้องการ และรูปของรัชกาลที่ 9และราชการที่ 10 ซึ่งคอนเซ็ปต์ครั้งนี้คือรูปของราชการที่ 9 ขณะหยดพระเสโทอยู่ที่ปลายพระนาสิกไหลลงสู้พื้นเหมือนผลผลิตที่กำลังจะงอกงามในพื้นดิน ซึ่งเป็นภาพแลนอาร์ทที่สะท้อนเกิดมิติและมีคุณค้าในงานศิลปะ
ดูเนื้อหาต้นฉบับ
ที่มา : https://www.sanook.com/travel/1428841/
ขอขอบคุณ : https://www.sanook.com/travel/1428841/