วิกฤตโรคระบาดส่งผลกระทบต่อทุกวงการและอาชีพ ชาวมนุษย์ดอกไม้แห่งปากคลองตลาดก็เช่นกัน เมื่องานอีเวนต์ขนาดใหญ่ที่ต้องใช้ดอกไม้จำนวนมากเกิดขึ้นไม่ได้ โรงแรมที่ตามปกติใช้ดอกไม้ในการตกแต่งต้องลดปริมาณการใช้งานลง รวมทั้งประชาชนส่วนหนึ่งก็ลดการจับจ่าย ทำให้ ดอกไม้ ที่ดูเหมือนเป็นสิ่งนอกเหนือความจำเป็นต่อการใช้ชีวิตกลายเป็นตัวเลือกแรกๆ ที่จะถูกตัดทิ้งไป และนั่นจึงเป็นที่มาของงานศิลปะขนาดย่อมที่หวังชุบชูความครึกครื้นให้กลับมาสู่วงการตลาดดอกไม้อีกครั้งกับ Form of Feeling @ Flower Market นิทรรศการ Flower Installation ออกแบบและออกแรงโดย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, HUI Team Design, Saturate Designs ร่วมพลังและเทใจโดย ตลาดยอดพิมาน และ ชุมชนย่าน ปากคลองตลาด
“ที่ไม่ได้เลือกเรื่องโรคระบาดมาเป็นคีย์หลักของนิทรรศการเพราะทุกคนรู้แล้วว่าต้องอยู่ร่วมกับโควิด-19 ไปให้ได้ ดังนั้นแทนที่จะมาย้อนพูดถึงโควิด เรามาเดินหน้าใช้ชีวิตกันต่อดีกว่า นั่นจึงเป็นเหตุผลถึงการเลือกสถานที่จัดงานเป็นชั้นลอยของตลาดยอดพิมานที่หลายคนอาจจะไม่รู้จัก ไม่เคยรู้ว่ามีที่ตรงนี้อยู่เพื่อที่เราอยากจะเปิดให้เห็นศักยภาพของพื้นที่สำหรับการต่อยอดต่อไป ส่วนดอกไม้เราก็อยากจะโชว์ให้เห็นศักยภาพของดอกไม้ธรรมดาที่ทุกคนเห็นกันอยู่ทุกวัน เป็นดอกไม้ที่อาจจะไม่ต้องแพงมาก เช่น ดาวเรือง หรือกล้วยไม้ที่ใช้ไหว้พระ ดอกไม้เหล่านี้ราคาไม่สูงมาก มีอยู่มากใน ปากคลองตลาด แต่ไม่ค่อยมีใครให้ความสำคัญในแง่ของการนำมาต่อยอดในงานดีไซน์ งานนี้จึงเหมือนเป็นการจุดประกายให้เห็นศักยภาพของดอกไม้เพื่อนำสู่การใช้งานต่อไป”
ผศ. ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้อยู่เบื้องหลังโปรเจกต์ Form of Feeling @ Flower Market บอกเล่าถึงสารตั้งต้นของนิทรรศการซึ่งงานนี้ไม่ได้มีแค่นักศึกษาร่วม 80 ชีวิตจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มาร่วมสร้างสรรค์เท่านั้น แต่งานศิลปะจากดอกไม้ครั้งนี้ยังได้ดึงดีไซน์เนอร์ผู้อยู่เบื้องหลังแสงสีในงานคอนเสิร์ตใหญ่ของไทยอย่าง HUI Team Design มาร่วมออกแบบ ซึ่งนอกจากการลงพื้นที่ชุมชนปากคลองตลาดเพื่อเก็บข้อมูลดอกไม้แล้ว ทาง HUI Team Design ยังได้ดึงอารมณ์ของดอกไม้ที่พบเจอมาออกแบบเป็นการเดินทางของความรู้สึกผ่านความสุข ความสงบ ความกลัว และความเศร้า
“เส้นทางการชมงานนิทรรศการจะเริ่มจาก Happy ความสุข เราใช้สีของดอกดาวเรืองสีเหลือง และฟอร์มของวงกลมมาสื่อสาร จากนั้นเข้าสู่ Calm ความสงบซึ่งใช้สีขาวของดอกกล้วยไม้ ดอกคัตเตอร์เล็กๆ ให้แสงช่วยมาสร้างบรรยากาศเหมือนเดินสู่ใต้น้ำที่สงบ ต่อมาคือ Fear ความกลัว ปกติดอกไม้โดยเฉพาะดอกกุหลาบจะถูกนำมาใช้เป็นตัวแทนของความรักที่ผลิบาน แต่ขณะเดียวกันดอกกุหลาบก็มีหนามแหลมคมให้ต้องนึกกลัวที่จะเข้าไปจับ ซึ่งก็คล้ายกับความรัก สุดท้ายคือ Sadness ฝนแห่งความเศร้า ใช้ดอกกล้วยไม้สีม่วงที่เราใช้ไหว้พระที่เคยเห็นกันทั่วไปในตลาดมาออกแบบโดยดึงเฉดสีม่วงมาใช้ในเรื่องอารมณ์ความเศร้าร่วมกับแสงแบล็คไลท์”
สุธิดา กอสนาน หนึ่งในทีมออกแบบจาก HUI Team Design บอกเล่าอารมณ์ของดอกไม้ที่นำมาสื่อสาร ซึ่งการที่เรียบเรียงจากอารมณ์สุขเดินทางไปหาอารมณ์เศร้าแบบดิ่งเป็นเม็ดฝนก็เพื่อที่จะย้ำว่า ชีวิตมนุษย์ก็ไม่ได้มีความสุขเป็นตอนจบ Happy Ending ที่ปลายทางเสมอไป
และเมื่อถามต่อถึงความท้าทายในการนำแสงสีมาออกแบบร่วมกับดอกไม้ซึ่งถือเป็นงานที่ 3 ของทีม HUI Team Design ว่ามีความแตกต่างจากการออกแบบบนเวทีคอนเสิร์ตอย่างไร ศรัณย์ภัชร์ รัชตะนาวิน จาก HUI Team Design ย้ำว่าดอกไม้คือสิ่งที่คาดเดาอารมณ์ไม่ได้ ไม่เหมือนงานออกแบบเวทีคอนเสิร์ตที่สามารถจบงานได้จากในจอคอมพิวเตอร์
“การออกแบบเวทีเราสามารถมองเห็นทุกอย่างได้ชัดมาก ส่วนดอกไม้แม้เราจะศึกษาฟอร์มหรือสีของเขามาแล้ว แต่ดอกไม้แต่ละดอกแม้จะเป็นกล้วยไม้พันธุ์เดียวกันก็มีฟอร์มและเฉดสีที่ต่างกันออกไป เราต้องคิดก่อนว่าเราจะใช้สีหรือเทกซ์เจอร์ของดอกไม้นั้นๆ และพอมาหน้างานเราก็ต้องมารู้จักฟอร์มของเขา จัดวาง ศึกษากันทีละดอกเลย”
นอกจากอารมณ์ของดอกไม้แล้ว ข้อดีอีกอย่างของสถานที่จัดแสดงงานที่อยู่บนชั้นลอยของตึกยอดพิมาน ทำให้ระหว่างทางผู้ชมสามารถมองเห็นวิถีมนุษย์ดอกไม้แห่งปากคลองตลาดจากมุมสูงในอารมณ์ที่แตกต่างเปลี่ยนไปในแต่ละช่วงของวัน โดยเฉพาะในยามเย็นที่ดูเหมือนความคึกคักของแผงค้าขายจะซาลง แต่กลับมีมนุษย์งานดอกไม้ตำแหน่งอื่นๆ ที่มากกว่าพ่อค้าแม่ขายกำลังเริ่มต้นทำงานของพวกเขา และนั่นก็ทำให้ Form of Feeling @ Flower Market เป็นงานศิลปะจากดอกไม้ที่ใส่วิถีมนุษย์ดอกไม้ไว้อย่างน่าสนใจและอยากจะชวนไปชมก่อนที่ดอกไม้ทั้งหมดจะร่วงโรย
Fact File
- สำหรับ Form of Feeling @ Flower Market ไม่เสียค่าเข้าชมงาน แต่ทางทีมผู้จัดงานเชิญชวนผู้เข้าชมงานอุดหนุนดอกไม้ของชาวชุมชนปากคลองตลาดมาร่วมจัดชิ้นงาน Collective Flower Installation ให้เต็ม หรือใครจะอุดหนุนดอกไม้กลับไปจัดแกลเลอรีที่บ้านก็นำมาโชว์ให้น้องๆ ที่หน้างานได้เลย
- จัดแสดงที่ชั้นลอย ศูนย์อาหารตลาดยอดพิมาน ระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน ถึง 6 ธันวาคม 2564 โดยกำหนดจำนวนผู้เข้าชมไม่เกิน 40 คนต่อรอบ
- นิทรรศการขอสงวนสิทธิ์การเข้าขมงานแก่ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบตามกำหนดแล้วเท่านั้น หรือ มีผล ATK เป็นลบภายใน 7 วัน ทั้งนี้ขอให้ผู้เข้าร่วมงานโชว์หลักฐานการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่หน้างาน สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนไม่ครบทางผู้จัดงานมีบริการ
- ตรวจ ATK ราคาชุดละ 50 บาท (มีจำหน่ายหน้างาน)
- สวมหน้ากากผ้า หรือ หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่ในงาน
ดูเนื้อหาต้นฉบับ
ที่มา : https://www.sanook.com/travel/1430233/
ขอขอบคุณ : https://www.sanook.com/travel/1430233/