หนึ่งปีมีครั้ง เปิด พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ไหว้ 10 พระพุทธรูปโบราณรับปีใหม่

แชร์

ถือได้ว่าเป็นธรรมเนียมปีใหม่ของทุกปีที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จะทำการอัญเชิญพระพุทธรูปโบราณซึ่งจัดแสดงและเก็บรักษาอยู่ในคลังของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติออกมาประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ และเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าไปกราบสักการะ โดยในแต่ละปีก็จะมีการอัญเชิญพระพุทธรูปที่สื่อความหมายถึงความมงคลรับปีใหม่แตกต่างกันออกไป และสำหรับการก้าวข้ามปี 2564 ต้อนรับปี 2565 ทาง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้อัญเชิญพระพุทธรูปโบราณ 9 องค์ ซึ่งถ้านับรวม พระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ซึ่งประดิษฐานเป็นประธานอยู่ในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์มาช้านานก็นับรวมได้เป็น 10 องค์ เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าสักการะตั้งแต่วันนี้ถึง 9 มกราคม 2565 โดยไม่เสียค่าเข้าชมแต่อย่างใด พระพุทธรูปโบราณทั้ง 10 องค์ ซึ่งมีความหมายถึงความเป็นมงคล ประกอบด้วย

auspicious-buddha-images-of-t_5
01 พระพุทธสิหิงค์ : 1 ใน 3 พระพุทธสิหิงค์องค์สำคัญของไทย เป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์กะไหล่ทอง ประทับขัดสมาธิราบ ศิลปะสุโขทัย-ล้านนา คาดว่าสร้างในปลายพุทธศตวรรษที่ 20-21 ตามประวัติ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท วังหน้าพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงอัญเชิญมาจากเมืองเชียงใหม่ เมื่อประมาณ พ.ศ.2338 และประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทธาสวรรย์ ใพระราชวังบวรสถานมงคล หรือ วังหน้า ในขณะนั้น

เมื่อสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทสวรรคต พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปประดิษฐานในพระอุโบสถวัดพระแก้ว และประดิษฐานอยู่จนถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาใน พ.ศ.2394 รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญกลับไปประดิษฐานในพระราชวังบวรสถานมงคล และทรงเปลี่ยนนามพระที่นั่งพุทธาสวรรย์เป็น พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ เช่นปัจจุบัน

auspicious-buddha-images-of-t_1
02 พระพุทธรูปประทานพร : พระพุทธรูปศิลปะอินเดีย สมัยราชวงศ์ปาละ เป็นประติมากรรมศิลานูนสูงสลักบนแผ่นอิง ได้มาจากเมืองพุทธคยา ประเทศอินเดีย สำหรับปางประทานพรนั้นภาษาสันสกฤตเรียกว่า “วรทมุทรา” เป็นท่ามือที่ให้ความหมายถึงการ “ประทานพร” โดยไม่ได้เจาะจงใช้สำหรับพุทธประวัติตอนใดตอนหนึ่ง ต่อมาในศิลปะอินเดียแบบคุปตะและปาละ เริ่มใช้ปางประทานพรนี้เฉพาะกับพุทธประวัติตอนเสด็จลงจากดาวดึงส์ โดยจะต้องสลักรูปพระอินทร์ และพระพรหมประกอบเป็นบริวารทั้ง 2 ข้างพระองค์

03 พระไภษัชยคุรุ : พระพุทธรูปศิลปะลพบุรี ตามประวัติพระพุทธรูปองค์นี้น่าจะสร้างในพุทธศตวรรษที่ 18 กรมศิลปากรซื้อมาจากหม่อมเจ้าปิยะภักดีนาถ สุประดิษฐ์ องค์พระโดดเด่นด้วยลักษณะของกรอบพระพักตร์เหลี่ยม พระหัตถ์แสดงธยานมุทรา (ปางสมาธิ) บนพระหัตถ์ขวามีวัตถุลักษณะคล้ายผอบหรือตลับยา อันเป็นลักษณะทางประติมานวิทยาของ “พระไภษัชยคุรุ” ตามพุทธศาสนามหายาน มีความเชื่อกันว่า ผู้ที่บูชาพระไภษัชยคุรุอาจหายจากโรคภัยไข้เจ็บได้ด้วยการสวดบูชาออกพระนาม หรือเพียงสัมผัสรูปของพระองค์ก็อาจหายจากโรคทางกายและทางใจ

04 พระอมิตายุส : พระพุทธรูปทรงเครื่องปางสมาธิศิลปะล้านนา อายุราวพุทธศตวรรษที่ 21 หรือประมาณ 500 ปีมาแล้ว องค์พระหล่อด้วยสัมฤทธิ์ปิดทอง มีพุทธลักษณะสำคัญคือ พระเศียรทรงกระบังหน้าประดับลายดอกไม้ ส่วนรัดเกล้าทรงกรวยซ้อนลดหลั่นขึ้นไปเป็นชั้น ๆ ยอดสุดมีลักษณะเป็นเปลวเพลิง พระกรรณทรงกุณฑลเป็นแผ่นวงกลมขนาดใหญ่ ตามประวัติกรมพระราชพิธีส่งมาจากพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานในพระบรมมหาราชวังเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2474

auspicious-buddha-images-of-t_6
05 พระพุทธรูปปางฉันสมอ: พระพุทธรูปศิลปะรัตนโกสินทร์ ตามประวัติพบว่าอยู่ในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มาแต่เดิม ลักษณะของพระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับขัดสมาธิเพชรบนฐานบัว พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา พระ หัตถ์ขวาวางคว่ำบนพระชงฆ์ สันนิษฐานว่าเคยมีผลสมอในพระหัตถ์ซ้ายแต่สูญหายไปแล้ว และพระพุทธรูปองค์นี้น่าจะสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นพระพุทธรูปปางฉันสมอตามคติพุทธศาสนาเถรวาท ซึ่งทำตามรูปแบบพระพุทธเจ้าแพทย์ที่ถือมะขามป้อมของฝ่ายมหายานในศิลปะจีน และอีกนัยแห่งพุทธประวัติที่ทรงเสวยโอสถทิพย์สื่อถึงความผาสุกแห่งพระวรกาย พระพุทธรูปปางฉันสมอจึงนิยมบูชาเพื่อให้มีกำลังกายปราศจากโรคภัยเบียดเบียน

auspicious-buddha-images-of-t_3
06 พระหายโศก : พระพุทธรูปล้านนาที่มีคติความเชื่อเชิงขจัดปัดเป่าเคราะห์ภัยอันตรายและความทุกข์โศกต่างๆ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับขัดสมาธิเพชร เห็นฝ่าพระบาททั้งสองข้างอยู่บนฐานบัวคว่ำบัวหงาย มีพระรัศมีรูปดอกบัวตูม พระโอษฐ์แย้มเล็กน้อย พระวรกายอวบอ้วน พระหัตถ์ขวาคว่ำอยู่บนพระชานุ (เข่า) นิ้วพระหัตถ์ชี้ลงด้านล่าง เป็นท่านั่งที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธประวัติตอน “มารผจญ” เป็นกิริยาที่พระพุทธเจ้าทรงเรียกแม่พระธรณีมาเป็นพยานการบำเพ็ญพระบารมี ส่วนฐานพระพุทธรูปมีลักษณะเป็นรูปบัวคว่ำบัวหงาย โดยบัวหงายมีขนาดใหญ่กว่าบัวคว่ำและปลายกลีบดอกบัวมีความอ่อนช้อย กลีบบัวมีการตกแต่งด้วยลายพฤกษา และลายช่อดอกโบตั๋น

จากพุทธลักษณะที่กล่าวมาข้างต้นแสดงให้เห็นถึงพุทธศิลป์ล้านนาแบบสิงห์ 1 กำหนดอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 อันเป็นยุคทองของล้านนาที่นิยมสร้างพระพุทธรูปแบบฐานบัวงอนแบบพระหายโศก ถูกอัญเชิญมาประดิษฐานที่กรุงเทพฯ ในสมัยรัชกาลที่ 4 มีการจารึกชื่อ “พระหายโศก” ปรากฏอยู่ที่ฐานของพระพุทธรูป สะท้อนถึงธรรมเนียมการตั้งชื่อพระพุทธรูปล้านนาที่มักตั้งตามคติความเชื่อด้านพระพุทธคุณในเชิงขจัดปัดเป่า เคราะห์ภัยอันตรายต่าง ๆ ที่อาจนำความทุกข์โศกมาสู่ผู้กราบไหว้บูชา แต่เดิมนั้นพระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปของหลวง และใช้ในการพระราชพิธีเท่านั้น ก่อนที่กรมพระราชพิธีจะส่งมาเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถาน ปัจจุบันนี้ จัดแสดงอยู่ที่ห้องล้านนา อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์

07 พระพุทธรูปปางห้ามญาติ : พระพุทธรูปปางห้ามญาติหรือปางประทานอภัยองค์นี้เป็นศิลปะสุโขทัย สร้างในพุทธศตวรรษที่ 20 โด้วยเหตุที่พระพุทธรูปปางห้ามญาตินั้นมีพุทธลักษณะคล้ายกันกับพระพุทธรูปปางห้ามพยาธิ หมายถึง ปางห้ามพยาธิในครั้งเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ขึ้นในนครเวสาลี แคว้นวัชชี ประชาชนล้มตายเป็น จำนวนมาก พระพุทธเจ้าเสด็จไปพร้อมเหล่าสาวกและมีรับสั่งให้พระอานนท์เจริญรัตนสูตร และประพรมน้ำพระพุทธมนต์รอบพระนคร ทำให้ภัยต่างๆ ทั้งฝนแล้งและโรคภัยหายสิ้นไปจากเมืองเวสาลี ดังนั้นจึงมีความเชื่อว่าการบูชาพระพุทธรูปปางห้ามญาติ จึงเป็นการบูชาเพื่อปัดเป่าภยันตรายและอุปสรรคต่าง ๆ ให้หายสิ้นไปด้วยพระพุทธานุภาพ

auspicious-buddha-images-of-t_4
08 พระพุทธรูปทรงเครื่องน้อย ปางห้ามสมุทร :  พระพุทธรูปทรงเครื่องน้อย ปางห้ามสมุทรองค์นี้ อยู่ในลักษณะอากัปกิริยา “ห้าม” ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับ พุทธประวัติตอนที่พระพุทธเจ้าไปอาศัยอยู่ในโรงบูชาเพลิงของชฎิลอุรุเวลกัสสป ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำเนรัญชรา โดยที่อุรุเวลกัสสปนั้นแกล้งให้พระพุทธเจ้าพักอาศัยและต้องการให้พญานาคที่อาศัยอยู่ในโรงเพลิงแห่งนั้นทำร้ายพระองค์ หรือไม่ก็รอให้ระดับน้ำในแม่น้ำเนรัญชราสูงล้นตลิ่งขึ้นมาท่วมพระองค์ แต่ด้วยพระบารมีกลับทำให้พญานาคหมดพิษร้าย และเมื่อระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นมา พระองค์ก็บันดาลป้องกันไม่ให้น้ำท่วมมาถึงพระองค์ได้

ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีการอัญเชิญพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรมาใช้ในงานพระราชพิธีต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีไล่เรือ หรือพิธีไล่น้ำในเดือนอ้ายเพื่อให้ระดับน้ำลดลง ป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับต้นข้าวในท้องนา รวมถึงการอัญเชิญมาประดิษฐานเพื่อเป็นสิริมงคลในพระราชพิธีที่เกี่ยวข้องกับการขจัดภัยอันตรายต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีอาพาธพินาศในสมัยรัชกาลที่ 2 ตรงกับเหตุการณ์อหิวาตกโรคระบาดครั้งใหญ่ทั่วพระนคร

auspicious-buddha-images-of-t_2
09 พระชัยเมืองนครราชสีมา : พระพุทธรูปศิลปะอยุธยา ตามประวัติพบว่าย้ายมาจากห้องกลาง กระทรวงมหาดไทย จุดเด่นของพระพุทธรูปองค์นี้คือรอบพระวรกายมีจารึกอักษรขอมและภาษาบาลี โดยแต่ละตัวอักษรเป็นการถอดใจความสำคัญในพุทธพจน์ และเมื่อประกอบเข้าด้วยกันจึงกลายเป็นคาถาธาตุกรรมฐาน ซึ่งในสมัยโบราณใช้ในการปลุกเสกครอบจักรวาล และมักปรากฏเป็นอักขระประกอบในรูปยันต์ต่าง ๆ รวมทั้งยังเป็นการซ่อนคำสอนทางพุทธศาสนาเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็น คาถาพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ คาถาหัวใจธาตุ 4 และคาถาธาตุพระกรณีย์ เป็นต้น

นอกจากนี้แล้ว ยังมีจารึกอักขระอีกสามแถวบนพระอุระจากขวาไปซ้าย ซึ่งอักขระที่ปรากฏโดยรอบพระวรกายนี้ยังสามารถถอดออกมาเป็นคาถาต่าง ๆ ได้อีกมาก ขึ้นอยู่กับการวางตำแหน่งที่ต่างกันออกไปในแต่ละบท อย่างไรก็ตามนับได้ว่า พระชัย องค์นี้ได้รับการจารึกคาถาอันศักดิ์สิทธิ์ไว้อย่างครบถ้วนบริบูรณ์ ซึ่ง “พระชัย” หรือ “พระไชย” ถือเป็นพระพุทธรูปสำคัญมาแต่โบราณ ปรากฏในพระราชพงศาวดารตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยนามพระชัยมีความหมายถึง “ชัยชนะ”

10 พระชัย :  พระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะรัตนโกสินทร์ พระหัตถ์ขวาวางคว่ำบนพระชงฆ์ พระหัตถ์ซ้ายอยู่ในท่ากำด้ามพัดที่พระเพลา มีตาลปัตรหรือพัดยศบังพระพักตร์ พระชัยองค์นี้มีลักษณะพิเศษคือ ประทับขัดสมาธิเพชร เป็นการนั่งไขว้พระชงฆ์ หงายฝ่าพระบาททั้งสองข้าง

สันนิษฐานว่าการสร้างพระชัยน่าจะเริ่มตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยตามพระราชประเพณีแต่โบราณ พระเจ้าแผ่นดินจะทรงสร้างพระชัย หรือ พระชัยวัฒน์ เป็นพระประจำรัชกาลสำหรับบูชาในหอพระ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่พระองค์เอง รวมทั้งอัญเชิญไปในการศึกสงคราม การเสด็จประพาส และตั้งในการพระราชพิธีต่าง ๆ เพื่ออำนวยสวัสดิมงคล ขจัดอุปสรรคป้องกันภยันตรายจากสิ่งชั่วร้ายอัปมงคลต่าง ๆ และแม้พระชัยจะมีพุทธลักษณะและขนาดที่ต่างกันตามผู้สร้างในแต่ละยุคสมัย แต่พระชัยทุกองค์ต้องถือตาลปัตร หมายถึง การปกป้องปัดเป่าภยันตราย และส่วนมากพระชัยจะบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เพื่ออาศัยคุณแห่งพระบรมสารีริกธาตุ หรือ พระพุทธคุณ เป็นกำลังแห่งชัยชนะ เพื่อชัยชนะและอำนาจ

Fact File

  • พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าสักการะพระพุทธรูปโบราณด้านในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ตั้งแต่วันนี้ถึง 9 มกราคม 2565 เวลา 9.00 – 16.00 น. โดยไม่ต้องเสียค่าเข้าชมแต่อย่างใด
  • รายละเอียดเพิ่มเติมคลิก facebook.com/nationalmuseumbangkok

ดูเนื้อหาต้นฉบับ

ที่มา : https://www.sanook.com/travel/1430781/
ขอขอบคุณ : https://www.sanook.com/travel/1430781/

เรื่องที่เกี่ยวข้อง



บัตรกดเงินสด ซิตี้ เรดดี้เครดิต

บัตรเครดิต ซิตี้ ลาซาด้า

บัตรเครดิตซิตี้ แกร็บ

บัตรเครดิต ซิตี้ แคชแบ็ก แพลตตินั่ม

บัตรเครดิต ซิตี้ รีวอร์ด