ก่อนจะเป็น กรุงเทพฯ ชื่อ บางกอก เคยปรากฏในแผนที่ฝรั่งตั้งแต่อยุธยา

แชร์

ก่อนที่จะเป็นเมืองหลวงที่มีชื่อยาวที่สุดในโลกอย่าง กรุงเทพฯ ซึ่งเคยถูกเปรียบเทียบว่ามีชื่อยาวประหนึ่งชั้นของขนมเค้กมิลล์เฟยล์ (mellifluous) แผ่นดินบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองเทพสร้างในปัจจุบัน เป็นที่รู้จักกันดีในแผนที่การเดินเรือของชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวดัตช์และฝรั่งเศสที่เข้ามาค้าขายในกรุงศรีอยุธยา แต่ยุคนั้นต่างชาติรู้จักพื้นดินอุดมสมบูรณ์แห่งนี้ในชื่อ บางกอก โดยมีทั้งการใช้คำว่า Bankok, Bangkocq และ Bancock รวมทั้งมีชื่อ ป้อมบางกอก (ป้อมวิชัยประสิทธิ์ในปัจจุบัน) ปรากฎอยู่ในแผนที่ด้วยเช่นกัน

bangkok-name5
ชื่อบางกอกมีมาตั้งแต่ตอนที่แม่น้ำเจ้าพระยายังไม่มีชื่อและถูกเรียกในแผนที่แค่ว่า “แม่น้ำ” ส่วนที่มาของชื่อบางกอกนั้นก็มี 2 ทฤษฎีด้วยกัน การสันนิษฐานแรกเชื่อว่า บางกอก มาจากชื่อพันธุ์ไม้ที่พบมากบริเวณปากแม่น้ำคือ ต้นมะกอกน้ำ ซึ่งขึ้นได้ดีในที่ชุ่มน้ำ และตามหลักการการเรียกชื่อในสมัยก่อนก็มักมีการตั้งชื่อชุมชนตามพันธุ์ไม้ที่พบมากในบริเวณนั้น เช่น บางลำพู ก็เป็นถิ่นที่มีต้นลำพูขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนบริเวณนี้เรียกว่า บางมะกอก และกร่อนเสียงในภายหลังว่า บางกอก แต่ปัจจุบันต้นมะกอกน้ำในไร่สวนฝั่งธนบุรีหรือริมเจ้าพระยาบริเวณปากแม่น้ำก็แทบจะไม่มีให้เห็น หรือที่มีอยู่ก็เป็นต้นปลูกใหม่ ส่วนในบันทึกของชาวต่างชาติที่เคยวาดรูปพันธุ์ไม้บริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างก็จะเป็นพวกผลไม้เป็นส่วนใหญ่ เช่น ทุเรียน ละมุด มะพร้าว เป็นต้น แต่ถ้าใครอยากเห็นต้นมะกอกน้ำของจริงสามารถไปชมได้ที่ศูนย์เรียนรู้ท่องเที่ยวเกษตรแสงตะวัน หนองจอก ซึ่งยังมีต้นมะกอกน้ำต้นใหญ่ให้เห็นอยู่บริเวณทางเข้าศูนย์ฯ

bangkok-name-3

ส่วนอีกทฤษฎีของชื่อบางกอกนั้นมาจากลักษณะภูมิประเทศและการพัฒนาพื้นที่โดยมีการสันนิษฐานว่า บางกอก น่าจะเป็นคำที่เพี้ยนจากคำว่า “บางเกาะ” ที่ใช้เรียกในสมัยกรุงศรีอยุธยามาเป็น บางกอก ในสมัยรัตนโกสินทร์ ประเด็นนี้สืบเนื่องมาจากการมีเกาะที่เกิดขึ้นใหม่จากการขุดคลองลัดแม่น้ำมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระชัยราชาธิราชมาถึงสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ โดยในสมัยนั้นคลองบางกอกน้อย และบางกอกใหญ่ (คลองบางหลวง)  ก็คือ แม่น้ำอ้อมที่เป็นลำน้ำเจ้าพระยา ส่วนพื้นที่ภายในบริเวณเกาะทั้งหมดก็เป็นย่านสวนผลไม้และเป็นย่านที่อยู่ของชาวสวน ซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ใกล้น้ำและอาศัยน้ำทั้งในด้านการอุปโภค บริโภค และการคมนาคม ดังนั้นบริเวณนี้จึงมีการขุดคลองใหญ่น้อยเพื่อส่งน้ำจากแม่น้ำเข้ามาภายในสวน การขุดคลองลัดแม่น้ำอ้อมและคลองเชื่อมแม่น้ำ ทำให้เกิดเกาะและอาจจะเรียกชุมชนบริเวณนี้ว่า “บางเกาะ” แล้วต่อมาเพี้ยนเป็น บางกอก

bangkok-name-4

ในบทความวิชาการทางด้านประวัติศาสตร์ในพื้นที่ฝั่งธนบุรี ระบุว่าช่วงรัชกาลสมเด็จพระชัยราชาธิราช กษัตริย์รัชกาลที่ 13 แห่งกรุงศรีอยุธยา มีการขุดคลองเพื่อเชื่อมการคมนาคมทั้งในเกาะกรุงศรีอยุธยาเองและสถานที่ใกล้เคียง รวมทั้งมีการขุดคลองลัดในลำน้ำเจ้าพระยาหลายแห่ง เพื่อให้เรือเดินทางจากปากน้ำ ไปสู่กรุงศรีอยุธยาได้สะดวก ทั้งนี้ก่อนจะขุดคลองลัด หากมาจากกรุงศรีอยุธยาจะต้องเลี้ยวเข้าคลองน้อย ไปเลี้ยวตรงวัดขี้เหล็ก ตลิ่งชัน กว่าจะมาถึงคลองบางกอกใหญ่ก็ใช้เวลาตั้งแต่เช้าจรดเย็น

คลองสำคัญที่ขุดในครั้งนั้นก็คือ คลองลัดบางกอก โดยโปรดเกล้าฯ ให้มีการขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยาตรงที่ไหลคดโค้งเพื่อย่นระยะทางของแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้กระแสน้ำไหลเข้าคลองลัดกัดเซาะตลิ่งสองข้างจนกว้างออกกลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายใหม่ (ช่วงที่ผ่านหน้าโรงพยาบาลศิริราชกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปัจจุบัน)  โดยบริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาสายใหม่เป็นที่ดอน มีชุมชนตั้งหนาแน่น ส่วนฝั่งตะวันออกเป็นที่ลุ่มต่ำสลับหนองบึง ขณะที่ส่วนของแม่น้ำเจ้าพระยาเดิมก็แคบลงเป็นคลอง (คือคลองบางกอกน้อยและคลองบางกอกใหญ่ในปัจจุบัน) ทำให้คลองลัดแม่น้ำแห่งนี้เก่าแก่กว่าคลองลัดอื่นๆ และเมื่อขุดเสร็จทำให้ “ตำบลบางกอก” กลายเป็น “เกาะบางกอก” ไป และเกิดเมืองบางกอกขึ้นทั้งสองฝั่งของคลองลัด ซึ่งเมื่อมีการขุดคูเมืองขึ้นก็ทำให้กลายเป็นเมืองอกแตกไป

bangkok-name-2

เมืองบางกอกนี้มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “เมืองธนบุรีศรีมหาสมุทร” แต่การตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนของผู้คนส่วนใหญ่จะอยู่ทางด้านฝั่งตะวันตกของคลองลัดบางกอก เพราะมีพื้นที่ดินดอนกว่าทางฝั่งตะวันออก เกิดเป็นชุมชนย่านสวนผลไม้ที่มีการขยายตัวไปจนถึงเขตแม่น้ำอ้อมที่บางกรวย ซึ่งเป็นย่านเมืองตลาดแก้วตลาดขวัญหรือนนทบุรีในปัจจุบัน ทั้งนี้ในหนังสือภูมิศาสตร์ประเทศสยามของกรมตำรา กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2468 ได้เคยกล่าวถึงการขุดคลองที่ทำให้ภูมิศาสตร์ของเมืองเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สมัยรัชกาลสมเด็จพระชัยราชาธิราชไว้เช่นกัน ความว่า

“เมืองธนบุรีดั้งเดิมอยู่ในคลองบางกอกใหญ่ ตรงวัดคูหาสวรรค์หรือที่เรียกวัดศาลาสี่หน้า เมื่อรัชกาลสมเด็จพระชัยราชาธิราช สมัยกรุงศรีอยุธยา โปรดให้ขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ปากคลองบางกอกน้อยเดี๋ยวนี้ มาถึงคลองบางกอกใหญ่ที่ตรงวัดอรุณราชวราราม คลองนั้นนานมากลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา จึงย้ายเมืองธนบุรีมาตั้งป้อมปราการขึ้นที่ตรงวัดอรุณราชวราราม…”

ภาพที่ยืนยันการขุดคลองที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนทางของแม่น้ำได้เป็นอย่างดีคือภาพเก่าแก่รูปเกาะหน้าวัดอรุณฯ ซึ่งเคยเป็นรูปในไปรษณีย์สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งถ้าย้อนไปในสมัยกรุงศรีอยุธยา หน้าวัดอรุณคือผืนแผ่นดิน แม่น้ำตรงหน้าวัดยังไม่มี และเกาะแก่งหน้าวัดก็ไม่มีอย่างแน่นอนเช่นกัน

สำหรับประวัติชื่อ กรุงเทพฯ เริ่มจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก แห่งรัตนโกสินทร์ ทรงสถาปนาราชธานีใหม่ ณ ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมการฉลองพระนครเสร็จแล้วจึงพระราชทานนามพระนครใหม่ว่า “กรุงรัตนโกสินทร์อินท์อโยธยา”

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแก้พระนามพระนครเป็น “กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินท์ มหินทอยุธยา” ครั้นในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปลี่ยนคำว่า “บวร” เป็น “อมร” เปลี่ยนคำว่า “มหินทอยุธยา” เป็น “มหินทรายุธยา” โดยใช้วิธีสนธิศัพท์ เปลี่ยนการสะกดคำว่า “สินท์” เป็น “สินทร์” พร้อมเติมสร้อยนามต่อ ทำให้ กรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงที่มีชื่อยาวที่สุดในโลก คือ 

“กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตน์ราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศมหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์”

Fact File

  • คลองลัดบางกอก ขุดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2085 ในรัชกาลสมเด็จพระชัยราชาธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยา ส่วนปัจจุบันคลองลัดบางกอกได้กลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงที่ไหลผ่านมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ท่าราชวรดิฐ วัดอรุณราชวราราม และท่าเตียน ส่วนแม่น้ำเดิมนั้นแคบลงกลายเป็นคลองที่เรียกชื่อว่า คลองบางกอกน้อย คลองบางขุนศรี และคลองบางกอกใหญ่ เชื่อมต่อกัน
  • บริเวณ บางกอก มีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เพราะเป็นจุดพักเรือสินค้าของต่างประเทศ ทำให้มีผู้คนมาตั้งหลักแหล่งแลกเปลี่ยนซื้อขาย จนเติบโตเป็นชุมชนเมือง เรียกกันทั่วไปตั้งแต่ครั้งอดีตสืบมาว่า เมืองบางกอก

ดูเนื้อหาต้นฉบับ

ที่มา : https://www.sanook.com/travel/1431401/
ขอขอบคุณ : https://www.sanook.com/travel/1431401/

เรื่องที่เกี่ยวข้อง



บัตรกดเงินสด ซิตี้ เรดดี้เครดิต

บัตรเครดิต ซิตี้ ลาซาด้า

บัตรเครดิตซิตี้ แกร็บ

บัตรเครดิต ซิตี้ แคชแบ็ก แพลตตินั่ม

บัตรเครดิต ซิตี้ รีวอร์ด