“The Australian Comics” ความหลากหลายผ่านลายเส้นการ์ตูน

แชร์

Highlight

  • นิทรรศการ “The Australian Comics – Promoting Culture through Visual Story Telling” จัดขึ้นโดยสตูดิโอ IllustrateYourLife และสถานทูตออสเตรเลีย นำเสนอเรื่องราวความหลากหลายของประเทศออสเตรเลีย ผ่านผลงานการ์ตูนจากศิลปินออสเตรเลียน 33 คน
  • นิทรรศการเน้นความหลากหลายของเรื่องราว ลายเส้น และตัวตนของศิลปิน ที่แตกต่างกันทั้งในเรื่องเพศ เชื้อชาติ และชุมชนที่อยู่
  • ผู้จัดงานเชื่อว่า นิทรรศการครั้งนี้จะช่วยให้ผู้ชมเข้าใจวัฒนธรรมของออสเตรเลียและจุดประกายความสัมพันธ์เชิงสร้างสรรค์ระหว่างศิลปินออสเตรเลียนและไทย

 

โดยทั่วไป “การ์ตูน” มักจะทำหน้าที่หลักคือเป็นสื่อเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลินอย่างที่หลายๆ คนคุ้นเคย แต่ในหลายประเทศ การ์ตูนไม่ได้สร้างความบันเทิงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังสามารถเป็นจดหมายเหตุที่บันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ชีวิตประจำวันของคนในสังคม และเป็นสื่อที่ใช้เผยแพร่วัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี หนึ่งในนั้นคือประเทศออสเตรเลีย ที่ขึ้นชื่อเรื่องความหลากหลายของประชากรและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ และได้นำเสนอจุดเด่นนี้ในผลงานหนังสือการ์ตูนจำนวนมาก

ปีนี้ ประเทศไทยได้เปิดพื้นที่สำหรับจัดแสดงภาพจากหนังสือการ์ตูนหลายสิบเรื่องของออสเตรเลีย ภายใต้ชื่อนิทรรศการ “The Australian Comics – Promoting Culture through Visual Story Telling” ซึ่งจัดขึ้นโดยสตูดิโอ IllustrateYourLife และสถานทูตออสเตรเลีย โดยมุ่งนำเสนอผลงานการ์ตูนที่ดีที่สุด และเป็นฉบับดั้งเดิมโดยศิลปินของออสเตรเลีย ก่อนหน้านี้ นิทรรศการดังกล่าวได้จัดขึ้นที่ประเทศโปแลนด์ ในฐานะส่วนหนึ่งของเทศกาลการ์ตูนและเกมส์นานาชาติโปแลนด์ เมื่อปี 2018 และครั้งที่สอง จัดขึ้นที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เมื่อต้นปี 2020

เจคอบ มาซารานท์ ภัณฑารักษ์ของนิทรรศการและผู้ก่อตั้ง IllustrateYourLifeเจคอบ มาซารานท์ ภัณฑารักษ์ของนิทรรศการและผู้ก่อตั้ง IllustrateYourLife

เสียงที่แตกต่าง

เจคอบ มาซารานท์ ภัณฑารักษ์ของนิทรรศการและผู้ก่อตั้ง IllustrateYourLife กล่าวถึงเหตุผลที่เขาเลือกจัดนิทรรศการในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นประเทศแรกในเอเชียว่า ที่ผ่านมา พวกเขาได้จัดนิทรรศการในยุโรป ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พวกเขามีความเข้าใจในวัฒนธรรมอย่างมาก ทว่าในครั้งนี้ พวกเขาต้องการ “ฟังเสียงที่แตกต่าง” จากสิ่งที่คุ้นเคย

ผมเชื่อว่าประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่วิเศษมากสำหรับชุมชนการ์ตูน และยังมีความแตกต่างจากประเทศอื่นๆ ที่เราเคยจัดนิทรรศการมา เนื่องจากผมเป็นชาวยุโรป ผมก็จะเข้าใจและมีความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมยุโรป ขณะที่เบนเป็นชาวออสเตรเลียน เพราะฉะนั้น เราได้ฟังเสียงของชาวยุโรป ฟังเสียงของชาวออสเตรเลียน งั้นเราก็ลองไปเยือนถิ่นที่มีวัฒนธรรมที่แตกต่างดูบ้าง ซึ่งผมคิดว่าประเทศไทยก็มีความแตกต่างมากๆ”

นิทรรศการแห่งความหลากหลาย

เมื่อถามถึงคำจำกัดความของ “การ์ตูนออสเตรเลีย” เจคอบกล่าวว่า มันคือความหลากหลายและความสนุก ซึ่งเบน มิตเชล ตัวแทนศิลปินนักเขียนการ์ตูนของนิทรรศการนี้ ได้ขยายความว่า การ์ตูนของออสเตรเลียจะมีกลิ่นอายของความหลากหลาย ทั้งในเรื่องเพศ เชื้อชาติ และชุมชนต่างๆ ซึ่งคำจำกัดความนี้ก็นำไปสู่การออกแบบนิทรรศการ โดยเป็นการรวมผลงานการ์ตูนฝีมือศิลปินจากออสเตรเลียถึง 33 คนด้วยกัน ทั้งศิลปินชาย ศิลปินหญิง LGBTQ+ ศิลปินที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ รวมถึงผลงานหลากหลายสไตล์

“ถือว่าเป็นนิทรรศการที่รวมเอาความหลากหลายของชาวออสเตรเลียไว้มากที่สุด” เจคอบกล่าว

นอกจากนี้ เจคอบยังเล่าถึงกระบวนการวางแผนนิทรรศการว่า

“ผมพยายามที่จะไม่โฟกัสที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งมากจนเกินไป แต่พยายามใส่ทุกอย่างลงในตะกร้า เพื่อให้ทุกคนที่มาเยี่ยมชมงานสามารถมองเห็นบางสิ่งบางอย่างได้ด้วยตัวเอง ซึ่งเราก็มีทั้งการ์ตูนสำหรับเด็ก การ์ตูนสำหรับผู้ใหญ่ เพราะว่าเราต้องการให้มันเป็นสากล และเปิดกว้างให้ทุกคนได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้มากที่สุด และเรียนรู้ว่าออสเตรเลียเป็นประเทศแบบไหน เพียงแค่เดินเข้ามาที่ห้องนี้ ดูผลงานศิลปะ แล้วก็เรียนรู้ว่าประเทศออสเตรเลียมีสไตล์ที่แตกต่างหลากหลายมาก แต่สามารถพูดคุยกันได้ด้วยภาษาเดียว”

บรรยากาศการเสวนาในพิธีเปิดนิทรรศการ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565Australian Embassy Thailandบรรยากาศการเสวนาในพิธีเปิดนิทรรศการ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565

“การ์ตูน” บันทึกเรื่องราวของมนุษย์

นอกจากการ์ตูนจะสร้างความสนุกสนานบันเทิงในยามว่างแล้ว ยังสามารถเป็นบันทึกเหตุการณ์ที่สำคัญ และใช้แสดงตัวตนของผู้สร้างสรรค์ผลงานด้วย เบนยืนยันคุณสมบัติข้อนี้ โดยเล่าถึงบรรยากาศการทำงานร่วมกับศิลปินคนอื่นๆ ในโปรเจ็กต์นี้ว่า

“พวกเขาเล่าเรื่องที่จริงจังอย่างสถานการณ์โควิด-19 มีคนเล่าให้ฟังเรื่องร้านอาหารในเมืองของผมเอง ที่เปลี่ยนเป็นร้านขายของชำในช่วงล็อกดาวน์ ซึ่งมันก็เป็นเรื่องที่ทั้งเป็นข้อมูลและมีความสนุกนะ หรือศิลปินหญิงอีกคนที่อยู่อีกเมืองหนึ่ง ก็เขียนการ์ตูนเกี่ยวกับประสบการณ์ของตัวเองในช่วงที่มีกระแส Black Lives Matter ในออสเตรเลีย เธอเป็นผู้ระดมทุนช่วยเหลือการเคลื่อนไหวครั้งนี้ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ข้อมูลแน่น แล้วก็เป็นเรื่องของการเคลื่อนไหวที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ เรื่องเล่านี้ก็เป็นทั้งข้อมูลและเป็นสื่ออย่างหนึ่ง และผมก็ยินดีมากที่ผลงานเหล่านี้ได้ทำหน้าที่นี้”

ด้านเจคอบก็เสริมว่า ผลงานอย่างหนังสือรวมการ์ตูนสั้น ชื่อ “Australia Burns” ก็ทำหน้าที่เป็นบันทึกเหตุการณ์สำคัญของออสเตรเลียไว้

“Australia Burns เล่าถึงสถานการณ์ที่พวกเราเผชิญในปี 2020 นั่นคือไฟป่า ซึ่งมีการเผยแพร่ภาพในทุกสื่อทั่วโลก เล่มนี้เป็นหนังสือรวมเรื่องราวต่างๆ ที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก ศิลปินของเราต้องเจอกับอะไรบ้าง และรับมือกับปัญหาเล่านั้นอย่างไร พวกเขาแสดงตัวตนผ่านหนังสือการ์ตูน เพราะฉะนั้นก็กลับไปที่สิ่งที่ผมบอกก่อนหน้านี้ คือผมพยายามทำให้นิทรรศการครั้งนี้มีความหลากหลายมากที่สุด” เจคอบกล่าว

สำหรับเป้าหมายของนิทรรศการครั้งนี้ ทางสถานทูตออสเตรเลียมองว่า นิทรรศการนี้จะช่วยส่งเสริมความเข้าใจในศิลปวัฒนธรรมของออสเตรเลียในประเทศไทยให้มากขึ้น โดยเฉพาะการเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยจะแนะนำรูปแบบและวิธีการดั้งเดิมของศิลปิน พร้อมเน้นถึงความหลากหลายและความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมของออสเตรเลีย ขณะที่เจคอบเชื่อว่า นิทรรศการครั้งนี้จะจุดประกายความสัมพันธ์เชิงสร้างสรรค์ใหม่ๆ และโอกาสการทำงานร่วมกันในอนาคตระหว่างศิลปินชาวออสเตรเลียนและไทย

กลุ่มคนเล็กๆ ที่ทำเรื่องใหญ่

เจคอบกล่าวว่า การทำงานร่วมกับศิลปินนักเขียนการ์ตูนถึง 33 คน ถือว่าเป็นจำนวนที่เยอะมาก แต่ก็สนุกมาก และเรื่องราวของศิลปินที่ถ่ายทอดผ่านผลงาน ก็ทำให้เขาเติบโตขึ้น ขณะที่เบนรู้สึกว่า การร่วมงานกับเพื่อนศิลปินเหล่านี้ ทำให้เขามองประเทศบ้านเกิดของตัวเองเปลี่ยนไป

“ถ้าดูจากแผนที่จะพบว่าออสเตรเลียเป็นประเทศที่ใหญ่มากในเชิงภูมิศาสตร์ แต่เมื่อได้รู้เรื่องราวของทุกคนในนิทรรศการนี้ ผมพบว่าประเทศเราเล็กมาก ผมมาจากซิดนีย์ บางคนมาจากเมลเบิร์น บางคนมาจากแอดิเลดและเรามาทำงานร่วมกัน สำรวจเมืองด้วยกันในช่วงวันหยุด ใช้เวลาร่วมกันในฐานะชาวออสเตรเลียน ซึ่งทำให้นิทรรศการนี้มีความเป็นตัวบุคคล สิ่งที่เราทำแม้ว่ามันจะดูเล็ก แต่ที่จริงแล้วมันใหญ่มากและน่าตื่นเต้น” เบนกล่าวทิ้งท้าย

นิทรรศการ “The Australian Comics – Promoting Culture through Visual Story Telling” เปิดให้เข้าชมฟรี ที่ห้องนิทรรศการชั้น 3 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 15 – 27 มีนาคม 2565 เวลา 10.00 – 19.00 น.

ดูเนื้อหาต้นฉบับ

ที่มา : https://www.sanook.com/travel/1431801/
ขอขอบคุณ : https://www.sanook.com/travel/1431801/

เรื่องที่เกี่ยวข้อง



บัตรกดเงินสด ซิตี้ เรดดี้เครดิต

บัตรเครดิต ซิตี้ ลาซาด้า

บัตรเครดิตซิตี้ แกร็บ

บัตรเครดิต ซิตี้ แคชแบ็ก แพลตตินั่ม

บัตรเครดิต ซิตี้ รีวอร์ด