เรื่องลับฉบับพระนคร : เดินตามตรอก ออกไปพบความลับกรุงเทพฯ ในรอบ 240 ปี

แชร์

กรุงเทพมหานคร แม้จะมีรากฐานยาวนานมาร่วม 240 ปี แต่ก็ยังมีเรื่องราวลับๆ สนุกๆ ที่แม้แต่คนกรุงเทพฯ เองก็อาจจะยังไม่เคยรู้มาก่อนหรือไม่ก็หลงลืมมันไปแล้วและในวาระครบรอบ 240 ปีแห่งการก่อตั้ง กรุงเทพฯ เมืองใหม่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา Sarakadee Lite จึงอยากชวนทุกคนออกจากบ้านไปทำความรู้จัก กรุงเทพฯ กันอีกสักครั้ง กับเรื่องราว สถานที่ที่อาจจะถูกลืมไปแล้วว่าเคยมีความสำคัญหรือเคยอยู่ในไฮไลต์ประวัติศาสตร์ของ กรุงเทพฯ แต่ก่อนจะออกเดินทางขอแนะนำให้ผูกเชือกรองเท้าให้แน่น เพราะทริปนี้เราจะเดินกับเดินแบบ One Day Trip เรื่องลับฉบับพระนคร เริ่มจากริมแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านตรอก ออกตามซอกซอยเล็กๆ ที่อัดแน่นไปด้วยเรื่องลับๆ ฉบับเมืองหลวง กรุงเทพฯ แห่งนี้ ส่วนจะมีที่ไหนบ้างนั้นไปปักหมุดกันเลย

yt
“สะพานเจริญรัช31” สะพานแรกในสะพานชุด “เจริญ…”

หลายคนที่ใช้บริการ MRT มายังย่านปากคลองตลาดอาจจะเคยผ่านตากับสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กรูปโค้งครึ่งวงกลมสีขาวข้ามคลองคูเมืองเดิม สะพานแห่งนี้มีรูปร่างแปลกตาและโดดเด่นกว่าสะพานอื่น ๆ ด้วยงานปูนปั้นรูป “เสือป่า” ยืนเรียงกันเป็นแถวออกแบบให้เป็นราวสะพานประดับลวดลายใบไม้แบบยุโรป และถ้าสังเกตอีกนิดจะพบว่าเสือเหล่านี้กำลังยืนหันข้างประคองพระขรรค์ด้วยเท้าคู่หน้าและหันหน้าเข้าหากึ่งกลางสะพานซึ่งมีอักษรพระปรมาภิไธยย่อ ว.ป.ร. ประดิษฐานอยู่ตรงกลางรัศมี ส่วนที่ปลายราวสะพานมีแป้นกลมประจุตัวเลข 31 อันเป็นจำนวนปีพระชนมายุของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ตรงกับปีที่พระองค์โปรดให้สร้างสะพานคือ พ.ศ. 2453 ครั้งนั้นพระองค์พระราชทานทรัพย์สร้างสาธารณประโยชน์ในวันเฉลิมพระชนพรรษาและยังตรงกับปีแรกที่พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ โดยหนึ่งในสาธารณประโยชน์ที่พระองค์ทรงสร้างก็คือสะพานเจริญรัช 31 แห่งนี้

secret-bkk21
กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนสะพานเจริญรัช 31 เป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ โดยสะพานแห่งนี้คือสะพานแรกในบรรดา 5 สะพานที่รัชกาลที่ 6 โปรดให้สร้างและใช้ชื่อว่า “เจริญ…” ได้แก่ สะพานเจริญราษฎร์ 32 ข้ามคลองมหานาค สะพานเจริญพาศน์ 33 ข้ามคลองบางกอกใหญ่ สะพานเจริญศรี 34 ข้ามคลองคูเมืองเดิมบริเวณวัดบุรณศิริมาตยารามและสะพานเจริญสวัสดิ์ 35 ข้ามคลองผดุงกรุงเกษมบริเวณหัวลำโพง รวมแล้วใน กรุงเทพฯ มีสะพานชุดที่ขึ้นต้นด้วยคำวา “เจริญ…” ทั้งหมด 5 สะพาน

secret-bkk16
“ศาลสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า”ศาลเก่าแก่คู่ชาวปากคลองตลาด

เดินข้ามสะพานจริญรัช 31สู่ตลาดดอกไม้ คนส่วนใหญ่จะพุ่งตัวไปยังแผงและร้านดอกไม้ที่ละลานตาตั้งแต่เช้าจดค่ำ แต่ทราบหรือไม่ว่าใจกลางตลาดดอกไม้แห่งนี้มีศาลเจ้าลูกผสมระหว่างสถาปัตยกรรมจีนกับศิลปะไทยซ่อนอยู่หลังตลาด นั่นก็คือ ศาลสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ศาลลับๆ ที่ชาวพ่อค้าแม่ค้าชาวปากคลองตลาดต่างนับถือกันมาอย่างยาวนาน

ศาลแห่งนี้แปลกตาด้วยอาคารทรงไทยแทนที่จะเป็นเก๋งจีนอย่างศาลเจ้าจีนทั่วไป ทั้งยังประดับตัวอักษรจีน ป้ายจีนอย่างที่ศาลเจ้าจีนนิยม ที่นี่คือศาลที่ชาวปากคลองฯ ต่างนับถือ และสร้างขึ้นประมาณปีพ.ศ. 2504 พร้อมๆ การสร้างตลาด ด้านในประดิษฐานรูปปั้นพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ซึ่งสันนิษฐานว่าเดิมทีพื้นที่บริเวณนี้คือพื้นที่ส่วนพระองค์ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นตลาด เดิมทีศาลแห่งนี้เป็นศาลไม้ แต่ได้รับการบูรณะครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2527 จึงทำให้มีการผสมผสานศิลปะสถาปัตยกรรมระหว่างจีนกับไทยเช่นที่เห็น

secret-bkk17
อีกสิ่งที่น่าสนใจของศาลแห่งนี้คือ มีปืนใหญ่โบราณที่ถูกพบในบริเวณนี้วางอยู่ด้านหน้า ซึ่งหากย้อนประวัติศาสตร์จะเห็นได้ว่าย่านนี้เคยเป็นแนวกำแพงพระนครในยุคแรกสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ จึงมีการสร้างป้อมปราการทำให้มีการพบปืนใหญ่โบราณเป็นปืนใหญ่แบบยิงระยะใกล้ กระบอกไม่ใหญ่นักและมักใช้ตามแนวป้อมปราการพระนคร พ่อค้าแม่ขายชาวปากคลองฯ มักมาขอพรที่ศาลเรื่องการค้าขาย ขอให้กิจการรุ่งเรือง

secret-bkk18
“ไปรสนียาคาร” ไปรษณีย์แห่งแรกของพระนคร

ที่ทำการไปรษณีย์แห่งแรกของไทยไม่ได้อยู่ที่บางรัก แต่ตั้งอยู่ที่ปากคลองโอ่งอ่างเชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยา หรือก็คือบริเวณที่ตั้งของอาคารจำลองไปรษณียาคารเชิงสะพานพระปกเกล้าในปัจจุบัน ที่ทำการไปรษณีย์แห่งแรกของไทยมีจุดเริ่มต้นจาก เจ้าหมื่นเสมอใจราช (หม่อมราชวงศ์เทวะหนึ่ง ศิริวงศ์) กราบบังคมทูลรัชกาลที่ 5 ถึงความจำเป็นที่ไทยต้องมีที่ทำการไปรษณีย์ขึ้น เหตุเพราะการติดต่อค้าขายเริ่มมากขึ้น การสื่อสารมีความจำเป็นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในที่สุดจึงได้เลือกตึกใหญ่ทรงยุโรปริมแม่น้ำเจ้าพระยาเหนือปากคลองโอ่งอ่าง ซึ่งเดิมทีเป็นของพระปรีชากลการ (สำอาง อมาตยกุล) อดีตเจ้าเมืองปราจีนบุรี (ภายหลังอาคารตกเป็นของหลวง) เป็นที่ทำการไปรษณีย์แห่งแรกของไทยและใช้ชื่อ ไปรสนียาคาร ประกาศเปิดทำการเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2426 เป็นที่ทำการของทั้งกรมไปรษณีย์และกรมโทรเลข

กระทั่งเมื่อทางการมีแผนสร้างสะพานพระปกเกล้าและจำต้องใช้พื้นที่บริเวณอาคารไปรสนียาคาร จึงต้องมีการรื้อถอนเปิดทางให้การสร้างสะพาน ส่วนไปรสนียาคารหลังปัจจุบันที่เห็นอยู่คืออาคารสร้างใหม่ตามแบบเดิม ซึ่งในยามปกติอาคารแห่งนี้ไม่ได้เปิดพื้นที่ให้เข้าชม แต่สามารถมองผ่านรั้วจากด้านนอกได้ ซึ่งตัวอาคารยังใช้คำว่า ไปรสนียาคาร ซึ่งเป็นการสะกดคำแบบโบราณ

secret-bkk
“วัดราชบุรณราชวรวิหาร” สุสานญี่ปุ่นกลางมหานคร

บริเวณสะพานพุทธฝั่งพระนครเป็นที่ตั้งของ วัดราชบุรณราชวรวิหาร หรือที่ผู้คนรู้จักกันในชื่อ วัดเลียบ วัดเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย วัดนี้อาจจะไม่ได้เป็นไอโคนิกของ กรุงเทพฯ เหมือนวัดอรุณฯ วัดพระแก้ว วัดโพธิ์ แต่ทราบหรือไม่ว่าวัดนี้มีความสำคัญต่อการตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นอย่างมาก เพราะตามธรรมเนียมโบราณยึดว่าการจะก่อตั้งราชธานีจะต้องมีวัดสำคัญประจำเมือง 3 วัด ได้แก่ วัดมหาธาตุ วัดราชประดิษฐาน และวัดราชบุรณะ ดังนั้นวัดเลียบจึงได้ยกฐานะและได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ในรัชกาลที่ 1 พร้อมพระราชทานนามใหม่ว่า วัดราชบุรณะ

secret-bkk3
แม้วัดเลียบจะมีความสำคัญเป็น 1 ใน 3 วัดประจำเมือง แต่ครั้งหนึ่งกลับเคยถูกทางการสั่งให้ยุบวัดไปรวมกับวัดสุทัศน์ฯ เนื่องจากวัดเลียบได้รับความเสียหายอย่างหนักในคราวสงครามมหาเอเชียบูรพาเพราะอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญทั้งโรงไฟฟ้าวัดเลียบ และสะพานพระพุทธยอดฟ้าแต่ก็มีการทักท้วงจากพระในวัดด้วยเห็นว่าวัดเลียบเคยเป็นวัดคู่กรุงรัตนโกสินทร์มาแต่เดิมจนทำให้ได้สถานะวัดกลับคืนมา

secret-bkk2
อีกเรื่องลับ ๆ ของวัดเลียบคือวัดนี้มี หอเก็บกระดูก หรือที่หลายคนเรียกว่า สุสานญี่ปุ่น ซ่อนอยู่ในอาคารเล็กๆ สร้างขึ้นเป็นอาคารหลังคางอนแบบญี่ปุ่นเห็นแล้วให้นึกถึง วัดคินคะคุจิ แบบย่อส่วนอย่างไรอย่างนั้น ด้านในประดิษฐานพระพุทธรูปศิลปะญี่ปุ่น โดยรอบผนังและชั้นใต้ดินเป็นสถานที่สำหรับเก็บอัฐิชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาค้าขายในไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และเมื่อเสียชีวิตก็ได้มีการนำกระดูกมาเก็บรวมไว้ที่วัดราชบุรณะแห่งนี้ โดยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หอเก็บกระดูกแห่งนี้รอดพ้นจากการทิ้งระเบิดมาได้อย่างหวุดหวิดพร้อมพระปรางค์องค์สีเขียวของวัดส่วนปัจจุบันหอเก็บกระดูกมีพระสงฆ์ชาวญี่ปุ่นจำพรรษาและคอยดูแลอยู่

secret-bkk19
“ศาลเจ้าแม่ทับทิม” ศาลแม่ซื้อพิทักษ์เด็กฉบับจีน

ศาลเจ้าแม่ทับทิมแห่งย่านพาหุรัดถูกสร้างขึ้นกลางย่านชุมชนค้าขายของชาวอินเดียเดิมทีตัวศาลอยู่บริเวณสะพานหัน แต่เนื่องจากความทรุดโทรมและแรงระเบิดจากสงคราม จึงทำให้มีการตั้งศาลใหม่บริเวณย่านพาหุรัดแถวถนนจักรเพชรราว  ตัวอาคารเป็นรูปแบบใหม่ที่ผสมผสานกันในรูปแบบของแต้จิ๋วเป็นหลัก ไม่ได้เป็นในรูปแบบของฮกเกี้ยนตามเดิม

สำหรับเจ้าแม่ทับทิมที่ประดิษฐานเป็นองค์ประธานของที่นี่ค่อนข้างแตกต่างด้วยการแกะสลักไม้ให้มีรอยหยักตรงบริเวณโหนกแก้ม ดูแล้วคล้ายกับสตรีที่ค่อนข้างสูงอายุต่างไปจากเจ้าแม่ทับทิมองค์อื่นที่มักถูกสร้างให้ใบหน้ากลมอวบอิ่ม แต่นั่นกลับให้ความหมายถึงผู้ใหญ่ที่คอยปกป้องดูแลคุ้มครองลูกหลานและอีกความลับของศาลเจ้าจีนแห่งนี้คือรูปปั้น แม่ซื้อ ซึ่งไม่ค่อยพบเห็นในศาลเจ้าจีนและแตกต่างจากแม่ซื้อฉบับไทยตรงที่มีทั้งหญิงและชายอยู่ในท่าอุ้มเด็กเล็กๆ ให้ความหมายถึงเทพผู้คอยดูแลคุ้มครองเด็ก ๆ ซึ่งในสมัยก่อนจะเจ็บป่วยได้ง่าย

secret-bkk6
“คุรุดวาราศรีคุรุสิงห์สภา” วัดซิกข์แห่งแรกของกรุงเทพฯ

หลังคาโดมสีทองอร่ามดูคล้ายสถาปัตยกรรมอินเดียที่ตั้งอยู่ใจกลางความคึกคักของพาหุรัดแห่งนี้คือ คุรุดวาราศรีคุรุสิงห์สภา หรือที่หลายคนเรียก วัดซิกข์ ศาสนสถานของชาวซิกข์แห่งแรกในกรุงเทพฯ ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 พร้อมกับการกำเนิดชุมชนชาวซิกข์ในแผ่นดินสยามซึ่งด้านล่างของอาคารเปิดเป็นโถงโล่งต้อนรับคนทุกศาสนา ทุกเชื้อชาติให้มาเรียนรู้และเข้าใจวิถีแห่งซิกข์ สอดคล้องกับความหมายคำว่า คุรุดวารา แปลว่า ประตูหรือทางที่ทอดไปสู่ศาสดา

secret-bkk4
ถัดขึ้นไปชั้น 2 คือ โรงอาหาร ซึ่งในยามปกติก่อนวิกฤตโควิด-19 ที่นี่มีอาหารมังสวิรัติให้ทุกคนสามารถเข้ามารับประทานได้ฟรี ​โดยไม่มีข้อจำกัดใด​ๆ​แม้ว่าจะต่างเชื้อชาติ ศาสนา และสิ่งที่เป็นเรื่องลับๆ ของวิถีซิกข์อยู่บริเวณชั้น 6 ซึ่งเป็นที่ตั้งของ พระมหาคัมภีร์คุรุครันถ์ซาฮิบ ที่ถูกเขียนด้วย ภาษาปัญจาบซึ่งคัมภีร์เล่มนี้เป็นหัวใจและศูนย์กลางความศรัทธาของศาสนาซิกข์

secret-bkk5
บริเวณแท่นวางพระมหาคัมภีร์มีแส้ทำจากขนจามรีในอดีตผู้อ่านคัมภีร์จะทำการโบกแส้เพื่อเป็นการโบกไล่แมลง แต่ในปัจจุบันการโบกแส้ได้กลายเป็นเชิงสัญลักษณ์ที่แสดงถึงการถวายความเคารพต่อพระมหาคัมภีร์ นอกจากห้องอ่านพระคัมภีร์ใหญ่แล้ว ที่นี่ยังมีห้องอ่านพระคัมภีร์เล็กๆ แยกย่อยออกไป โดยทางคุรุดวาราศรีคุรุสิงห์สภาจะมีรอบอ่านพระคัมภีร์ตอนเช้าตั้งแต่05.00-11.00 น. และรอบเย็นตั้งแต่16.00-19.00 น. ของทุกวันสามารถติดต่อเข้าไปร่วมศึกษาวิถีแห่งศาสนาซิกข์ได้

อีกความลับของพระนครที่เราได้รับรู้ระหว่างพูดคุยกับ มานิต สัจจะมิตร นายกสมาคมศรีคุรุสิงห์สภา คือการได้รับรู้ถึงเรื่องเล่าขานของเมืองพระนครที่สมัยก่อนมักมีคำขู่เด็กๆ ว่า “ถ้าดื้อแขกจะจับตัว” ซึ่งคำว่าแขกนี้ไม่ใช่แขกขายผ้า หรือลักษณะหน้าตาของแขกชาวอินเดียที่ตัวใหญ่ดูดุดัน แต่หมายถึงอาชีพแรกๆ ของชาวซิกข์กลุ่มแรกที่เข้ามาในสยามซึ่งไม่ใช่แต่เพียงแค่ขายผ้าเท่านั้น ด้วยรูปร่างที่สูงใหญ่ทำให้ชาวซิกข์ทำงานรับราชการเป็นพลตระเวนคอยควบคุมการทะเลาะวิวาทคล้ายตำรวจในพระนครนั่นเอง

secret-bkk8
“วัดบพิตรพิมุขวรวิหาร” พิพิธภัณฑ์ลับที่ซ่อนอยู่กลางวัด

เดินข้ามเลาะเลียบคลองโอ่งอ่างมาเรื่อยๆ จะเจอวัดบพิตรพิมุขวรวิหาร หรืออีกชื่อคือ “วัดเชิงเลน” หรือ “วัดตีนเลน” วัดโบราณที่มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาประมาณพ.ศ.2328 ได้ยกสถานะเป็นพระอารามหลวงในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและพระราชทานนามว่า วัดบพิตรพิมุข ซึ่งเป็นอีกวัดที่มีไฮไลต์ลับๆ น่าชม น่าศึกษาเยอะมาก

secret-bkk7

เริ่มจากพระอุโบสถที่ดูเรียบง่ายแต่สวยงามด้วยจิตรกรรมฝาผนังดอกไม้ร่วงสีทองเต็มผนัง เป็นลวดลายดอกไม้ร่วงผสมกับกรอบสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดที่วาดเชื่อมต่อกันทั้งผนัง นับเป็นการใช้รูปทรงเรขาคณิตมาผสมผสานกับลวดลายดอกไม้ของจีนแสดงให้เห็นถึงการผสมผสานระหว่างศิลปะจีนกับตะวันตกที่เริ่มเข้ามาในประเทศไทยช่วงการบูรณะวัดแห่งนี้ครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 3 และอีกไฮไลต์ประจำพระอุโบสถคือ ภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นภาพเขียนสีบนกระจกวงรีติดไว้อย่างเรียบง่าย เป็นจิตรกรรมที่น้อยแต่มากด้วยความหมายของปริศนาธรรมเรื่องการเกิด แก่ เจ็บตาย แต่ละภาพเป็นรูปภิกษุกำลังปลงอสุภะเพื่อให้เห็นว่าความตายเป็นสิ่งธรรมดาของมนุษย์ ซึ่งก็จะมีภาพความตายของมนุษย์แตกต่างกันออกไปในแต่ละกรอบ

secret-bkk9

secret-bkk10
นอกจากระอุโบสถแล้วในพระวิหารวัดเชิงเลนยังมีกิมมิกเป็นภาพฤๅษีดัดตนบนบานประตูด้านใน นอกจากนี้หากเดินอ้อมไปยังด้านหลังพระประธานซึ่งเป็นทางเดินแคบๆ จะพบทางลอดขนาด 1 ช่วงคนผ่านอยู่ใต้องค์พระประธาน บริเวณทางลอดประดิษฐานพระพุทธรูปในลักษณะที่หลังพระพุทธรูปฝังติดกับผนัง สำหรับคนที่นิยมลอดพระเพิ่มสิริมงคลชีวิตสามารถแวะมาได้

แหล่งเรียนรู้ในวัดบพิตรพิมุขยังไม่หมดเท่านี้ที่ตื่นตาที่สุดยกให้ พลับพลารับเสด็จรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นศาลาที่ประทับสำหรับเปลื้องเครื่องทรงยามเมื่อพระองค์เสด็จมาที่คลองโอ่งอ่างเป็นพลับพลาไม้ 2 ชั้น ปัจจุบันด้านบนจัดเก็บ ตู้พระธรรม ที่มีลวดลายพิเศษไม่แพ้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ตู้พระธรรมที่นี่มีทั้งที่เป็นตู้ขาสิงห์ ตู้เขียนลายสัตว์หิมพานต์ลายผู้คนนานาชาติ ลายรามสูรกับนางมณีเมขลา ลายพระมหาชนก หรือลายฝูงลิงกำลังนั่งกินอาหารใช้ตะเกียบแบบโต๊ะจีนเป็นต้น คาดว่าน่าจะเป็นผลงานของกลุ่มช่างหลวง และนอกจากตู้พระธรรมแล้ว ตาลปัตรเก่าที่ประดับอยู่ตลอดผนังด้านบนเป็นอีกสิ่งที่ควรค่าแก่การมาศึกษาอย่างมาก เพราะมีทั้งงานปัก งานเขียน งานสลักไม้ และตาลปัตรที่สลักพระปรมาภิไธย ภปร.

secret-bkk13
“วัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร” ย้อนอดีตหอพระบางแห่งล้านช้าง

รู้หรือไม่ว่าพระบางแห่งล้านช้างเคยประดิษฐานอยู่ที่กรุงเทพฯ และวัดที่เคยมีการสร้างหอพระบางก็คือ วัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร (วัดสามปลื้ม หรือ วัดนางปลื้ม) ตั้งอยู่ริมถนนจักรวรรดิและซอยวานิช (สำเพ็ง) เป็นวัดโบราณที่มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

secret-bkk11
secret-bkk15

จุดเด่นแรกของที่นี่คือพระอุโบสถที่มีจิตรกรรมฝาผนังรูปเทพชุมนุมวาดแปลกกว่าเทพชุมนุมวัดอื่นตรงที่ ตามปกติเทพชุมนุมจะนั่งเป็นระเบียบเรียงชั้นพรหม ยักษ์แต่ที่นี่วาดเป็นเทวดานางสวรรค์เหาะเหินเดินอากาศในท่าทาง เครื่องแต่งกาย และเครื่องประดับที่แตกต่างกันออกไปบ้างถือพัด บ้างถือกระถางดอกไม้มงคล บ้างถือธง บ้างก็คือแค่ดอกไม้ซึ่งก็มีทั้งดอกบัวไทย ดอกโบตั๋นของจีนปะปนกันไป และที่โดดเด่นสะดุดตา คือ มีการใส่ชื่อผู้ที่อุปถัมภ์วัดลงไปในริ้วผ้าสีขาวที่ติดอยู่กับเทวดาแต่ละองค์ ซึ่งโดยปกติแล้วชื่อโยมอุปัฏฐากวัดจะนิยมเขียนตามแนวฝาผนัง หรือกำแพงวัดมากกว่า

secret-bkk14
ถัดมาจากตัวโบสถ์จะเจอกับ วิหารพระนาก โดดเด่นด้วยผนังด้านนอกสีดำตัดกับลายพฤกษาสีทองทั้งหลังโดยวิหารพระนากหลังนี้คาดว่าสร้างขึ้นเมื่อราวพ.ศ.2370ในสมัยรัชกาลที่3 จุดปรสงค์เพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐาน พระบาง แห่งล้านช้างซึ่งเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์สิงหเสนี) อัญเชิญมาจากนครหลวงเวียงจันทร์ต่อมาในปีพ.ศ. 2408 รัชกาลที่4พระราชทานพระบางกลับไปประดิษฐานที่นครหลวงพระบาง กรุงเวียงจันทร์และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้อัญเชิญพระนากจากหอพระในพระบรมมหาราชวังซึ่งมีพุทธลักษณะคล้ายคลึงกันมาประดิษฐานไว้ในวิหารแทนจึงเรียกวิหารหลังนี้ว่าวิหารพระนากแทนวิหารพระบางมานับแต่นั้น

secret-bkk22
“ตึกแขกบริษัทมัสกาตี” ห้างเก่าแก่ของอินเดียในสยาม

เมื่อพูดถึงถนนทรงวาด ภาพแรกที่หลายคนนึกถึงเห็นจะเป็นความคลาสสิกของอาคารห้องแถวเก่าแก่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และตึกที่เป็นโอโคนิกสำหรับถ่ายรูปในย่านนี้คือ ตึกแขกบริษัทมัสกาตี ตั้งโดดเด่นอยู่หัวถนนทรงวาด โดยเหตุที่เรียกขานกันว่า “ตึกแขก” เพราะเดิมเป็นที่ตั้งของห้างเอ. ที. อี. มัสกาตี (A.T.E.Maskati) บริษัทนำเข้าสินค้าของพ่อค้าผ้ารายใหญ่ชาวอินเดียชื่อว่า อับดุลตาเยบ มัสกาตี ซึ่งได้ประกอบกิจการนำเข้าผ้าจากโรงงานของบริษัทมัสกาตีที่เมืองอาห์มาดาบัดประเทศอินเดียแล้วนำมาขายในเมืองไทยรวมทั้งส่งขายแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งยังมีการขายผ้าพิมพ์สำหรับโจงกระเบนที่ใช้ในราชสำนักรัชกาลที่ 4

ตึกนี้คาดว่าสร้างเมื่อ พ.ศ. 2399 มีอายุร่วม 166 ปีความพิเศษของตึกแขกนี้คือมีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบเดียวกับที่พบในอินเดียตะวันตก เมืองสุรัต และในเมืองมุมไบซุ้มหน้าต่างทรงโค้งแหลมแบบศิลปะโกธิกประดับลายฉลุลูกไม้แบบที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 5 นับเป็นตึกเก่าที่ยังคงความสวยงามและมีคุณค่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

Fact File

อัพเดทข้อมูลเกี่ยวกับการท่องเที่ยวประเทศไทยและ กรุงเทพฯ ได้ที่ ข่าวสารท่องเที่ยว ททท.

ดูเนื้อหาต้นฉบับ

ที่มา : https://www.sanook.com/travel/1432293/
ขอขอบคุณ : https://www.sanook.com/travel/1432293/

เรื่องที่เกี่ยวข้อง



บัตรกดเงินสด ซิตี้ เรดดี้เครดิต

บัตรเครดิต ซิตี้ ลาซาด้า

บัตรเครดิตซิตี้ แกร็บ

บัตรเครดิต ซิตี้ แคชแบ็ก แพลตตินั่ม

บัตรเครดิต ซิตี้ รีวอร์ด