ด้านเทา ๆ ของอีกมุมนึงในย่านเก่าแก่ของรัตนโกสินทร์ กับความจริงที่ไม่เคยเลือนหาย กับตำนาน “แม่เล้าสร้างวัด” และ “เทพแห่งการเสี่ยงโชค” สองเรื่องราวสีเทาที่บอกเล่าผ่านผู้คน สถานที่ การเดินทางเข้าไปเรียนรู้ถึงความเป็นมาของประวัติศาสตร์ที่น่าค้นหา แม้กาลเวลาจะหมุนผ่านไปตามสมัย
วัดบำเพ็ญจีนพรต (วัดย่งฮกยี่) วัดยานจีนนิกาย แห่งแรกของไทย ที่ตั้งอยู่บนตรอกเต๊า (เยาวราชซอย 8 ) แหล่งค้เาประเวณีชื่อดังของย่านเยาวราช เมื่อต้นรัตนโกสินทร์
วัดเป็นตึกเก่าแบบตะวันตก (ตามสมัยนิยมในช่วงปลายรัตนโกสินทร์) สร้างล้อมวิหารจีนแบบศิลปะจีนภาคใต้ตามสกุลช่างจีนแต้จิ๋ว ท่ามกลางความเงียบสงบภายในวัดแห่งนี้ นวลเองก็แทบจะไม่เชื่อตัวเองเหมือนกันว่า วัดนี้เคยอยู่ท่ามกลางแหล่งค้าประเวณีที่ใหญ่ที่สุดในยุคต้รนรัตนโกสินทร์
วิหารพระรัตนตรัย (วิหารหลักของวัด ในภาษาจีนเรียกว่า ต้าสยงเป่าเตี้ยน ตามปกติแล้ววัดจีนไม่ได้มีอุโบสถทุกแห่ง แต่จะต้องมีวิหารพระรัตนตรัยทุกแห่งเป็นอาคารหลัก) พระประธานทั้ง 3 คือ พระศากยมุนีพุทธเจ้าตรงกลาง ทางขวาของพระศากยมุนีคือพระอมิตาภะพุทธเจ้า และทางซ้ายของพระศากยมุนีคือ พระไภษัชยะคุรุพุทธเจ้า เป็นพุทธเจ้าทั้ง 3 ตามคติมหายาน แต่ละองค์ทำจากผ้าป่านอาบน้ำยาลงรัก ปิดทอง หรือที่เรียกว่าศิลปะ “ท๊กทอ ท๊กซา”
ด้านข้างล้อมด้วยพระอรหันต์ 18 องค์ตามแบบวัดจีนที่สร้างตามศิลปะสกุลช่างแต๊จิ๋ว
ออกจากวัดย่งฮกยี่มาประมาณร้อยเมตร เราจะพบกับ วัดกันมาตุยาราม ที่สร้างโดยคุณแม่กลีบ มารดาพระดรุณรักษา (กัน สาครวาสี) ซึ่งหมายว่า วัดของมารดานายกัน โดยสร้างขึ้นในที่ซึ่งเป็นสวนดอกไม้ของคุณแม่แฟง ปลายตรอกเต๊า
วัดกันมาตุยาราม เป็นชื่อวัดไทยที่มีอยู่เพียงแห่งเดียวที่ถนนมังกร ป็นวัดในสายธรรมยุติกนิกาย นอกจากจะเป็นวัดเก่าแก่ที่มีตัวอุโบสถที่มีอายุกว่าหนึ่งร้อยปีแล้ว ในวัดก็ยังมีเจดีย์ทรงระฆังคว่ำ แบบลังกา ที่สร้างเลียนแบบธัมเมกสถูปในอินเดียด้วย เจดีย์แบบนี้มีเพียง 2 แห่งในประเทศไทยคือที่ วัด โสมนัสวิหาร และวัด กันมาตุยารามนี้ด้วยนะครับ
ภาพเขียนที่นี่ไม่มีระบุปีที่เขียนไว้ แต่น่าจะเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่5 เพราะนับจากปีที่สร้างวัด2407ค่อนมาปลายรัชกาลที่4แล้ว อีกทั้งลักษณะภาพเขียนก็เป็นภาพในลักษณะที่เป็นที่นิยมเขียนในสมัยร.5แล้วเปรียบเทียบจากวัดที่มีประวัดชัดเจนเช่นวัดโสมนัสวรวิหาร วัดปรมัยยิกาวาส
พระอริยกันต์มหามุนี พระประธานอุโบสถ วัดกันมาตุยาราม
สำหรับทริปนี้ นวลได้ อาจารย์ นัท-ธานัท ภุมรัช มาเป็นวิทยากรด้วยนะครับ ได้เจอตัวเป็นของอาจารย์แล้ว กรี๊ดสลบ
อาคารทรงโดมสีขาว ประตูไม้ มีป้ายติดไว้เหนือประตูข้อความว่า “อนุสาวรีย์คุณแม่กลีบ มารดาพระดรุณรักษา (กัน สาครวาสี) ผู้สร้างวัดกันมาตุยาราม เมื่อ พ.ศ.๒๔๐๗” ซึ่งภายในมีรูปปั้นครึ่งตัวของคุณแม่กลีบอยู่ในตู้กระจก
ย่าแฟงเป็นแม่เล้าชื่อดังในสมัยรัชกาลที่ 3 สำนักของแกอยู่ที่ตรอกเต๊า ซึ่งเดี๋ยวนี้มีชื่อว่าซอยเจริญกรุง 14 ซึ่งย่านนั้นมีซ่องโสเภณีมากมายทั้งชั้นสูงและไม่สูง เรื่อยมาจนถึงสำเพ็ง ซ่องของคุณย่าแฟงจัดอยู่ในขั้นชั้นนำ มีลูกค้ามาอุดหนุนกันคึกคัก คุณแม่แฟงจึงร่ำรวยจากกิจการนี้
ย่าแฟงได้ร่วมกับหญิงงามเมืองในสำนักสร้างวัดขึ้นที่ตรอกวัดโคกใน ชื่อว่า “วัดใหม่ยายแฟง” ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ลูกหลานของยายแฟงได้บูรณะวัดขึ้นใหม่ แล้วทูลขอพระราชทานนาม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานนามว่า “วัดคณิกาผล”
หลวงพ่อทองคำ พระพุทธรูปประธานวัดคณิกาผล พระพุทธรูปประธานศิลปะสุโขทัย
ภายในวัดคณิกาผล มีสิ่งสำคัญที่น่าสนใจ เช่น พระอุโบสถ ประดิษฐานหลวงพ่อทองคำ พระพุทธรูปประธานศิลปะสุโขทัย พระวิหารหลวงพ่อองค์ดำ พระพุทธรูปสร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ ซึ่งวันนี้เป็นพระพุทธรูปสีทองอร่ามแต่สันนิษฐานว่าในอดีตเคยเป็นองค์สีดำมาก่อน โดยมีพระพุทธรูปองค์จำลองสีดำประดิษฐานอยู่ด้านหน้า พระพุทธรูปปางบำเพ็ญทุกรกิริยา หอระฆังก่ออิฐถือปูนแบบเก่า หลังคาประดับลายปูนปั้นเขียนสี เป็นต้น
ด้านหลังพระอุโบสถเป็นที่ตั้งของ “อาคารย่าแฟง” ซึ่งเป็นอาคารที่สร้างใหม่ในปี พ.ศ. 2523 ด้านในมีรูปปั้นยายแฟงครึ่งตัวภายในตู้กระจก มีข้อความจารึกใต้ฐานว่า “วัดคณิกาผลนี้ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๖ โดยคุณแม่แฟง บรรพบุรุษของตระกูลเปาโรหิตย์” ซึ่งมีคนนำของไหว้สักการะมาบูชา ด้วยความเชื่อว่าขอพรจากย่าแฟงหรือยายแฟง จะสมหวังในเรื่องความรัก โชคลาภ และการงาน
ปิดท้ายทริปด้วยการมากราบขอพร”เจ้าพ่อยี่กอฮง เทพแห่งการเสี่ยงโชค” บนชั้น 5 ของสน.พลับพลาไชย2
สถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ ตั้งอยู่บนดาดฟ้าของสถานีตำรวจพลับพลาไชย ศาลเจ้าพ่อยี่กอฮงผู้ยิ่งใหญ่ เจ้าพ่อยี่กองฮงมีนามเดิมว่า นายเตี่ยง แซ่แต้่ (แซ่แต้เป็นต้นตระกูลเตชะวณิชย์) หลายคนที่ชื่นชอบในการเสี่ยงโชคเสี่ยงดวงคงจะได้ยินชื่อของ เจ้าพ่อยี่กอฮง กันมาบ้างแล้ว ซึ่งหลายคนยกให้ท่านเป็น เทพแห่งการเสี่ยงโชคเสี่ยงดวงทุกประเภทเลยก็ว่าได้ทั้งยังขนานนามว่า “เทพเจ้าหวยองค์แรกแห่งสยามประเทศ” ปัจจุบันยังมีผู้คนนิยมกราบไหว้บูชาเจ้าพ่อยี่กอฮงเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก
ไม่ว่าจะเป็นชาวไทย หรือแม้กระทั่งชาวต่างประเทศ เพราะต่างมีความเชื่อที่ว่า ถ้าอยากมีความโชคดีจากการเสี่ยงโชคเสี่ยงดวง ซื้อหวยหรือกระทั่งเล่นการพนัน หรือใครมีเรื่องทุกข์ร้อนใดๆ ก็ขอให้ท่านช่วยเหลือได้ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินกฎแห่งกรรม “ฮง” เป็นชื่อเดิมของเจ้าพ่อยี่กอฮง ท่านเป็นลูกจีนที่เกิดในเมืองไทยเมื่อปี 239 ได้ประกอบกิจการค้าหลายอย่าง แต่ที่ได้สร้างฐานะให้ท่านจนรุ่งเรืองก็คือ การเป็นเจ้าภาษี โรงต้มกลั่นสุรา โรงบ่อนเบี้ย โรงหวย กอขอ รัชกาลที่ 6 จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็น “รองหัวหมื่น พระอนุวัฒน์ราชนิยม” และพระราชทานนามสกุลให้ว่า “เตชะวนิช”
เมื่อมีการออกพระราชบัญญัติเลิกอากรบ่อนเบี้ย และหวย กอขอ ท่านจึงได้หันไปประกอบกิจการค้าอื่นๆ อาทิ เรือเดินทะเลไปเมืองจีน ทำโรงสีข้าวและอื่นๆ แต่ปรากฏว่ากิจการเหล่านั้นกลับสร้างหนี้สินให้ท่านเป็นจำนวนมาก ซึ่งในที่สุดท่านก็ถูกฟ้องเป็นคนล้มละลาย และถูกยึดทรัพย์เป็นของหลวง แต่เนื่องจากท่านเป็นผู้ที่เสียสละเพื่อส่วนรวมมาโดยตลอด ทั้งการตั้งมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง และมูลนิธิอื่นๆ ตั้งโรงเรียน สร้างสะพาน สร้างถนน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้ยี่กอฮงอาศัยอยู่ในบ้านนี้ต่อไปจนตลอดชีวิต
และสาเหตุที่ทำให้บรรดาคอหวยทั้งหลายนิยมมาขอหวยที่นี่ ส่วนหนึ่งเพราะในสมัยที่ท่านมีชีวิตอยู่ท่านเป็นเจ้าของโรงหวย และมีส่วนสำคัญในการริเริ่มให้เล่นหวยขึ้นในประเทศ ที่สำคัญท่านยังชื่นชอบการเล่นหวยมากนั่นเอง มีความเชื่อว่า เจ้าพ่อยี่กอฮง อากงของนักเสี่ยงโชค เป็นผู้มีโชคดีมีโชคทางการเสี่ยงโชค การพนัน ทุกชนิด จึงทำให้ผู้ที่ได้ยินชื่อเสียงของท่านต่างพากันหารูปเคารพมาบูชาไว้ ผู้ที่บูชาเจ้าพ่อยี่กอฮง จะไม่ผิดหวังเลย ดูของที่แก้บนต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะที่มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง หรือที่สถานีตำรวจพลับพลาไชยก่อนหวยออก 1 วันจะมีผู้มาขอหวยกันเยอะที่สุด
ท่านผู้ต้องการขอหวยหรือเลขเด็ดจากเจ้าพ่อยี่กอฮง ขอจงประนมมือทำใจให้เป็นสมาธิ หลับตา บริกรรมภาวนาด้วยใจอันสงบนิ่ง 3 จบว่า “อิจฉิตัง ปัตถิตัง ตุมหัง ขิปปะเมว สะมิชฉะตุ สัพพะลาโภ ชะโย นิจจัง สัพพะลาโภ ภะวะตุ เม”
ถ้าบนบานศาลกล่าวและถูกหวย นิยมแก้บนด้วยการนำ ข้าวขาหมู โอยั้ว น้ำชาดอกดาวเรือง หมากพลูบุหรี่ และซิการ์มาถวาย โดยทั้งนี้การกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นที่พึ่งทางใจ เพื่อยึดเหนี่ยวจิตใจเท่านั้น (โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน)
ดูเนื้อหาต้นฉบับ
ที่มา : https://www.sanook.com/travel/1433393/
ขอขอบคุณ : https://www.sanook.com/travel/1433393/