แม้ไม่ใช่ช่วง 15 ค่ำ เดือน 11 หนองคายก็ยังคงทรงเสน่ห์ไปด้วยความเรียบง่ายของวิถีชีวิตที่ทอดยาวเคียงคู่ลำน้ำโขง เมืองริมชายแดนไทย-ลาวแห่งนี้อุดมไปด้วยแหล่งท่องเที่ยว วัดวาอาราม ธรรมชาติที่ยังคงบริสุทธิ์ รวมไปถึงวัฒนธรรมต่างๆ ที่เดินทางข้ามแม่น้ำไปมาจนผสมผสานกันอย่างกลมกลืน
ล้อเครื่องบินเหยียบรันเวย์ของท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานีอย่างสวัสดิภาพ ที่นี่ถือเป็นสนามบินที่ใกล้กับหนองคายมากที่สุด และเส้นทางจากอุดรธานีมุ่งตรงไปยังจุดหมายปลายทางของเราในครั้งนี้ก็ใช้เวลาเดินทางสั้นๆ ไม่เกินหนึ่งชั่วโมงโดยรถยนต์ เท้าของเราก็ไปเหยียบผืนดินของหนองคายเป็นที่เรียบร้อย
ในภาพความทรงจำ หนองคายเป็นเหมือนประตูที่เปิดไปสู่เมืองหลวงของประเทศเพื่อนบ้าน จากมุมหนึ่งของเมืองเราสามารถเห็นอาคารบ้านเรือนของเวียงจันทน์ได้อย่างชัดเจน และก่อนที่จะมีการระบาดของโควิด-19 เข้ามาปั่นป่วนชีวิตการเดินทางของเรา เวียงจันทน์นั้นก็เป็นบ้านใกล้เรือนเคียงที่ไปมาหาสู่ได้ง่ายเสียยิ่งกว่าเดินทางจากห้าแยกลาดพร้าวไปแยกอโศกมนตรีเสียอีก แต่กลับมาหนองคายอีกครั้งในคราวนี้ การไปเยือนเวียงจันทน์นั้นกลับไม่ง่ายอย่างที่เคย แต่ก็ใช่ว่าเมืองอันแสนเงียบสงบริมแม่น้ำโขงนี้จะไม่มีอะไรให้เราดูแล้วเสียเมื่อไร
หนองคายมีพื้นที่ทอดยาวไปตามแม่น้ำโขง หนึ่งในมรดกที่สายธารอันยิ่งใหญ่นี้มอบให้คือสายพันธุ์สัตว์น้ำนับร้อยนับพันชนิด หนึ่งในพื้นที่การเรียนรู้ที่บอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้ได้ดีที่สุดนั้นอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำจังหวัดหนองคาย แห่งมหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย ที่เนรมิตพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ รวบรวมพันธุ์สัตว์น้ำที่พบในบริเวณแม่น้ำโขงมาจัดแสดง รวมถึงพันธุ์ปลาหายาก และปลาใกล้สูญพันธุ์หลากหลายชนิด เช่น ปลาเทพา ปลาเทโพ ปลาแรดเขี้ยว ปลาเค้าดำ
ภายใต้ความมืดมิดและความเงียบสงบในช่วงวันธรรมดาของพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำจังหวัดหนองคาย นอกจากปลาที่แหวกว่ายไปมาในตู้ปลาและแสงสีฟ้าที่เรียงรายอยู่รอบตัวเรา เดินมาเรื่อยๆ ตามทางก็จะบรรจบกับจุดไฮไลต์ของที่นี่คือ อุโมงค์และตู้ปลาขนาดยักษ์ที่เนรมิตภายในเป็นเมืองบาดาล ตำนานพญานาค สัตว์มหัศจรรย์ตามความศรัทธาของพุทธศาสนิกชน และเป็นหนึ่งในความเชื่อที่ฝังแน่นอยู่ในเมืองริมฝั่งโขงแห่งนี้มารุ่นต่อรุ่น
เมื่อว่าด้วยเรื่องความเชื่อแล้ว หนองคายยังมีอีกหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังที่พันผูกไปด้วยความเชื่อทางศาสนา ภายในพื้นที่กว้างใหญ่กว่า 42 ไร่ของศาลาแก้วกู่ หรืออุทยานเทวาลัย ณ ชุมชนบ้านสามัคคี อำเภอเมืองนั้นก็ควรค่าแก่การมาเยี่ยมชม
บนกำแพงหน้าอุทยานไม่มีที่ว่างเพราะเต็มไปด้วยข้อความเตือนใจขนาดใหญ่ เหมือนมีใครเอาดินสอยักษ์มาเขียนสลักไว้ด้วยลายมือเป็นระเบียบ รูปปั้นปูนขนาดใหญ่กว่า 200 องค์รอบอุทยานแห่งนี้ถือเป็นแหล่งรวมหลากหลายความเชื่อเข้าไว้ด้วยกัน ทั้งพระพุทธรูป พระโพธิสัตว์ เทพเจ้าฮินดู รวมถึงบุคคลสำคัญจากศาสนาคริสต์ แต่ด้วยทุกสิ่งทุกอย่างในสถานที่แห่งนี้ดูใหญ่โตไปเสียหมด รวมถึงศิลปะของงานปั้นที่เปี่ยมด้วยรายละเอียดดูแปลกตา ที่มีทั้งความอ่อนช้อยและแข็งกร้าวในคราวเดียวกัน พื้นผิวนั้นก็เปรอะเปื้อนไปด้วยคราบและริ้วรอยผ่านกาลเวลา ทำให้บรรยากาศดูลึกลับเปี่ยมมนต์ขลังและน่าประหวั่นไม่น้อย
ศาลาแก้วกู่สร้างขึ้นโดยปู่บุญเหลือ สุรีรัตน์ หรือปู่เหลือ ในปี พ.ศ. 2521 ว่ากันว่าเป็นสวนแบบฉบับเดียวกับสวนพระ หรือวัดเชียงควนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ประเทศลาว แต่ยิ่งใหญ่กว่าและวิจิตรกว่า ปัจจุบันนี้เป็นทั้งสถานที่ท่องเที่ยวและแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของคนในพื้นที่
หนองคายนั้นขึ้นชื่อในเรื่องอาหารเวียดนาม ก่อนที่จะเดินทางออกจากอำเภอเมือง เรามุ่งหน้าไปยังร้านแม่อู๊ดอาหารเวียดนาม เพื่อลิ้มลองตำรับอาหารชื่อดังที่อยู่คู่เมืองหนองคายมาเนิ่นนานไม่ต่ำกว่า 50 ปี ภายใต้อาคารตึกแถวเก่าแก่บนซอยมีชัย ไม่ไกลจากริมแม่น้ำโขง
หม้อขนาดใหญ่ที่หน้าร้านขึงด้วยผ้าขาวบางตึงเปรี๊ยะ เมนูปากหม้อกำลังบรรเลงอยู่บนผืนผ้านั้นก่อนจะนำไปใส่ไส้ที่ผัดจนกลมกล่อมพร้อมเสิร์ฟ ข้าวเกรียบอ่อนถือเป็นเมนูดังของร้าน เสิร์ฟมาพร้อมหมูยอหั่นชิ้นพอดีคำ และน้ำจิ้มสูตรพิเศษ โรยหอมเจียวเพิ่มกลิ่นชวนน้ำลายสอ นอกจากนี้ยังมีเมนูบั๋นแบ่วที่ใช้แผ่นแป้งเช่นเดียวกับปากหม้อ ตัดมาในขนาดกำลังดี โรยหน้าด้วยหมูฝอยและหอมเจียว กินคู่กับน้ำจิ้มรสชาติเปรี้ยวอมหวาน และอีกเมนูคือพิซซาเวียดนาม แป้งกรอบใส่ไข่และโปะเครื่องแน่นๆ นับเป็นมื้อแรกในหนองคายที่เต็มไปด้วยความประทับใจ
ออกจากอำเภอเมืองเพื่อมุ่งหน้าไปยังอำเภอสังคม ซึ่งจะบอกว่าเป็นแหล่งรวมสถานที่ท่องเที่ยวหลักของหนองคายไว้เลยก็ว่าได้
เราใช้เส้นทางเลียบริมแม่น้ำโขง ผ่านความคดเคี้ยวและแหล่งชุมชนเพื่อซึบซับกับมนต์เสน่ห์ของหนองคายอย่างเต็มที่ตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ชั่วโมงเต็ม ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่ตั้งซึ่งทอดยาวเป็นแนวนอนขนานไปกับแม่น้ำ การเดินทางจากตัวเมืองหนองคายไปยังอีกอำเภอหนึ่งนั้นกลับใช้เวลายาวนานกว่าเดินทางจากตัวเมืองอุดรธานีมายังหนองคายเสียอีก และสถานที่ท่องเที่ยวแรกในอำเภอสังคมที่เราไปเยือนนั้นก็คือจุดชมวิวที่ฮอตฮิตที่สุดในจังหวัด ณ วัดผาตากเสื้อ ซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาไม่ไกลจากริมแม่น้ำโขง จากด้านบนนี้เป็นที่ตั้งของสกายวอล์กพื้นกระจกมองเห็นทะลุถึงด้านล่างชวนให้หวาดเสียว แต่ทัศนียภาพที่อยู่ตรงหน้าก็คุ้มค่าแก่การขับรถขึ้นมาเยี่ยมชม ด้วยความยิ่งใหญ่ของสายธารที่แตกแขนงสาขาหล่อเลี้ยงธรรมชาติเขียวชอุ่ม และความเป็นอยู่ของ 2 แผ่นดินไทย-ลาว แต่งแต้มไปด้วยเนินทรายสีขาวกลางแม่น้ำ ซึ่งกลายเป็นแหล่งทำกิจกรรมกระโดดร่มสุดท้าทายจากหน้าผา ร่อนไปยังเนินทรายกลางแม่น้ำ นับเป็นการชมวิวในอีกมุมที่น่าตื่นเต้นไม่น้อยเลยทีเดียว
หลังจากอิ่มเอมกับวิวบนยอดเขาแห่งวัดผาตากเสื้อ จุดหมายปลายทางสุดท้ายของวันแรกในหนองคายคือจันทร์ผา โฮมสเตย์ ที่พักสไตล์แคมปิงริมแม่น้ำโขงที่เราจะฝากมื้อเย็นและเอนกายนอนกันในยามค่ำคืน
ในช่วงที่ไม่ตรงกับฤดูท่องเที่ยว ที่พักแห่งนี้ค่อนข้างเงียบสงบ เหมาะสำหรับผู้ที่มองหาการปลีกวิเวกแต่ในขณะเดียวกันก็ยังต้องการความสะดวกสบาย ด้วยที่พักหลากหลายสไตล์ที่ค่อนข้างถูกใจคนรุ่นใหม่ เพราะมีทั้งห้องพักที่เนรมิตรถตู้วินเทจเป็นห้องนอน เต็นท์กระโจมที่ให้บรรยากาศเหมือนออกแคมป์ หรือจะเป็นบ้านหลังเล็กๆ สีขาวล้อมรอบลานก่อกองไฟ เมื่อประกอบเข้ากับโค้งแม่น้ำตรงหน้า และประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้เพียงแม่น้ำโขงกั้นกลาง ได้สูดอากาศแบบเต็มปอด เรารู้สึกเหมือนได้โลกของการเดินทางไร้ขอบเขตกลับมาอีกครั้งจนแทบลืมไปเสียสนิทเลยว่าสถานการณ์โควิด-19 ยังวนเวียนอยู่รอบตัวเรา
จวบจนฟ้ามืดเราเอนจอยกับหมูกระทะในมื้อเย็นที่จันทร์ผา โฮมสเตย์มีบริการให้กับผู้เข้าพักที่ต้องการรับลมเย็นๆ และอิ่มท้องก่อนเข้านอน
อย่างที่เราเกริ่นไปข้างต้นว่าอำเภอสังคมนั้นเต็มไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย ไม่ว่าจะเป็นภูห้วยอีสัน ผาชมหมอก ภูผาดัก และอีกหลากหลายภูที่เหมาะกับการดื่มด่ำวิวยามเช้า แต่ในบางครั้งการเดินทางอาจหมายถึงการออกไปทำกิจกรรมอย่างเต็มที่ หรืออาจจะเป็นเพียงการเปลี่ยนบรรยากาศจากสถานที่ที่คุ้นเคยในชีวิตประจำวันไปยังอีกสถานที่หนึ่ง เพื่อผ่อนคลายและลบล้างภาพความจำเจ และการเดินทางมาเยือนหนองคายในครั้งนี้ก็ค่อนข้างจะเอนเอียงไปทางเหตุผลที่สอง ดังนั้นในเช้าของวันใหม่เราจึงไม่ได้รีบร้อนตื่นตั้งแต่เช้ามืดเพื่อออกไปสัมผัสกับทะเลหมอกท่ามกลางแสงสีทองของพระอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้า
หลังจากละเลียดกินไข่กระทะที่โฮมสเตย์ในช่วงเช้าค่อนไปทางสาย เราเดินทางออกไปยังไร่ฉัตรดนัย สถานที่สุดท้ายของการเดินทางมาเยือนหนองคายในครั้งนี้
ไม่ว่าใครก็ตามที่ร่างกายกำลังต้องการความเขียวชอุ่ม ร่มเงาใต้ต้นไม่ใหญ่แสนเย็นสบายแบบไม่ต้องพึ่งพาเครื่องปรับอากาศ เคล้าคลอไปด้วยบทเพลงธรรมชาติจากลำธารสายเล็ก ที่นี่คือสวรรค์ที่กำลังมองหาอย่างแน่นอน ยังไม่นับรวมตั้งแต่ถนนที่พาไปสู่พื้นที่ของไร่ ผ่านหมู่บ้านขนาดเล็กและทุ่งนาที่เรียงรายไปด้วยต้นข้าวยอดอ่อนตัดกับทิวเขาเป็นฉากหลัง
ไร่ฉัตรดนัยนั้นตั้งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติอย่างแท้จริง พื้นที่ส่วนหนึ่งที่แบ่งเป็นคาเฟ่นั้นเปิดให้บริการเครื่องดื่มประเภทชา กาแฟ และน้ำหวานต่างๆ ตามพื้นฐานของคาเฟ่ หลังจากได้เครื่องดื่มแล้วก็สามารถเดินเล่มชมวิวได้ทุกๆ ที่ในไร่ได้ตามใจเราเท่าที่ทางเดินจะพาไปถึง และตลอดทางก็มีจุดถ่ายรูปให้แวะเก็บภาพกันเป็นระยะ ทั้งกระท่อมไม้ยกพื้นสูงอยู่ริมหน้าผาเตี้ยๆ มองลงไปข้างล่างจะเห็นลำธารเย็นๆ ประดับด้วยโขดหินน้อยใหญ่ที่สามารถเดินลงไปสัมผัสได้อย่างใกล้ชิด ใกล้เคียงกันนั้นก็มีชิงช้าให้นั่งแกว่งไกวถ่ายรูปอย่างสนุกสนาน
ธรรมชาติและวัฒนธรรมของหนองคายนั้นเติมเต็มหัวใจของนักเดินทางอย่างเราจนอิ่มฟู และเราก็มั่นใจว่าความเรียบง่ายนี้ก็จะเติมเต็มช่วงเวลาแห่งการพักผ่อนให้แก่ทุกคนที่มาเยือน ไม่ว่าจะหิวโหยมากน้อยแค่ไหนก็ตาม
ดูเนื้อหาต้นฉบับ
ที่มา : https://www.sanook.com/travel/1433405/
ขอขอบคุณ : https://www.sanook.com/travel/1433405/