Highlight
- นิทรรศการ “แผลเก่า / Old Wound” เป็นผลงานของประทีป สุธาทองไทย ซึ่งจัดแสดงผลงานจิตรกรรม ที่มาจากการหยิบยืมภาพจากหน้าปกสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทต่าง ๆ ของไทยกว่า 20 เล่ม
- หน้าปกหนังสือที่ถูกนำมาเป็นต้นแบบ “ยิ่งเก่ามากยิ่งน่าสนใจมาก” เนื่องจากวิธีการสื่อสารด้วยภาพของแต่ละยุคสมัย ซึ่งเอื้อให้ประทีปสามารถหยิบภาพเหล่านั้นมาทำงาน และทำให้เกิดความหมายใหม่ได้
- หน้าปกหนังสือมีอิทธิพลในการสร้างภาพจำให้กับคนในสังคม เช่นเดียวกับทำหน้าที่ “บันทึกประวัติศาสตร์” ของยุคสมัยนั้น ๆ
- ความสามารถในการสื่อสารที่ไม่ต้องแสดงสารที่ต้องการจะสื่ออย่างตรงไปตรงมาของงานจิตรกรรม ทำให้นิทรรศการแผลเก่าในครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ให้คนดูแต่ละช่วงวัย ได้มีโอกาส “ตีความ” ภาพที่ถูกนำมาจัดแสดง
- นิทรรศการแผลเก่า / Old Wound จัดแสดงระหว่างวันที่ 8 ตุลาคม 2565 – 21 มกราคม 2566 ณ บริเวณหอศิลป์ ชั้น 1 เอส เอ ซี แกลเลอรี (SAC Gallery)
เรื่องบางเรื่องก็เป็น “บาดแผล” ที่ฝังรากลึกอยู่ในใจของตัวมาเสมอ มันคือบาดแผลที่ไม่เคยตกสะเก็ดแล้วหายดี หรือทิ้งไว้เป็น “แผลเป็น” ให้เราคอยนึกถึง แต่เป็นบาดแผลเปิดที่เราพยายามลืมว่ามันอยู่ตรงนั้น แต่เมื่อไรก็ตามที่แผลถูกสะกิด เลือดจำนวนมากก็พร้อมจะไหลรินออกมาอีกครั้ง เช่นเดียวกับสังคมไทยที่มีบาดแผลลักษณะนี้มากมาย และคนในสังคมก็พยายามจะมองข้ามหรือลืมมันไป
“ประทีป สุธาทองไทย” กลับมาอีกครั้งกับนิทรรศการ “แผลเก่า / Old Wound” นิทรรศการที่ให้ “สายตา” ของผู้ชมเป็นตัวแปรสำคัญที่จะขยายแผลเก่าของสังคมที่ไม่เคยเลือนหายไป
แผลเก่าที่ถูกถ่ายทอดผ่านภาพปกหนังสือ
“ผลงานชุดนี้เกิดจากการที่เราสนใจหนังสือเก่า สนใจประวัติศาสตร์ เพราะประวัติศาสตร์มันคือเรื่องเก่า ก็เลยทำให้เราไปค้น แล้วการอยู่กับการค้นหนังสือในห้องสมุด หรือการค้นจากแพลตฟอร์มขายหนังสือออนไลน์ มันเลยมีความสนุกที่ได้ไปเจอสิ่งพิมพ์แปลก ๆ พอมันแปลก เราก็เลยสะสม แล้วบางสิ่งพิมพ์ มันเป็นสิ่งพิมพ์หมดอายุ เช่นหนังสือพิมพ์ ซึ่งมีข่าวที่เราไม่รู้ว่ามันคืออะไร แต่มันมีความน่าสนใจ ก็เลยซื้อมาดู แล้วก็พบว่าหลายเล่ม มันเป็นเรื่องที่ถูกลืม แล้วบางเล่มก็เป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับบางเหตุการณ์” ประทีปเริ่มต้นเล่าถึงที่มาที่ไปของนิทรรศการ
หลังจากนิทรรศการ “บ้านเล็กที่สมบูรณ์” ในปี 2018 และ “ดุสิตธานี – บ้านน้อมเกล้า” ในปี 2020 ประทีปก็กลับมาอีกครั้งกับนิทรรศการ “แผลเก่า / Old Wound” ซึ่งจัดแสดงผลงานจิตรกรรม ที่มาจากการหยิบยืมภาพสิ่งพิมพ์จากสื่อประเภทต่าง ๆ ของไทยกว่า 20 เล่มมาเป็นต้นแบบ โดยมีทั้งหนังสือพิมพ์ หนังสือ นิตยสาร และนวนิยาย ซึ่งสะท้อนภาพจำบางอย่างที่มีอิทธิพลต่อความเชื่อและความคิดของคนในสังคม บางเรื่องราวอาจก็คล้ายกับ “แผลเก่า” ที่อยู่กับบ้านเมืองนี้มาอย่างยาวนาน
“เราพบว่าหนังสือเก่าหลายเล่มที่ซื้อมา มันเป็นเรื่องที่ถูกลืม แล้วบางเล่มก็เป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับบางเหตุการณ์ เลยคิดว่าชื่อแผลเก่าคือการกลับไปสืบค้นและทบทวนหลาย ๆ เร่ือง แล้วจะมีเรื่องที่คุยกันได้กับเรื่องที่ต้องคุยกันเบา ๆ ฉะนั้น เรื่องที่คุยเบา ๆ แปลว่าอะไร ทำไมคุยดัง ๆ ไม่ได้ เพราะมันเป็นแผลหรือเปล่า หรือเพราะว่าคุยดังแล้วมันจะปวด ก็เลยเป็นที่มาของการหยิบชื่อชิ้นงานชิ้นหนึ่งในนิทรรศการมา แล้วชื่อนั้นมันมีความสามารถครอบคลุมประเด็นทั้งหมด” ประทีปอธิบาย
หนังสือเก่ากับเรื่องเล่าสังคมไทย
ประทีปเล่าว่า หน้าปกหนังสือที่ถูกนำมาเป็นต้นแบบนั้น “ยิ่งเก่ามากยิ่งน่าสนใจมาก” เนื่องจากวิธีการสื่อสารด้วยภาพของแต่ละยุคสมัย ซึ่งเอื้อให้ประทีปสามารถหยิบภาพเหล่านั้นมาทำงาน และทำให้เกิดความหมายใหม่ได้
“มันได้เห็นว่าคนทำงานภาพในยุคนั้น เขาก็มีวิธีมอง วิธีสร้างภาพ ซึ่งมันเป็นการเรียนรู้สายตาของคนในแต่ละยุคได้เหมือนกัน อย่างเช่น ทำไมพจมานหน้าตาฝรั่งมากเลย เพราะยุคนั้นสไตล์การเขียนภาพประกอบ เขานิยมเขียนแบบสาวอเมริกันเก๋ ๆ” ประทีปยกตัวอย่าง
“ยิ่งยุคเก่า ปกยิ่งมีผลต่อการสร้างภาพจำ เพราะสมัยก่อน ระบบการพิมพ์ภาพไม่ง่าน แล้วการพิมพ์สียิ่งไม่ง่าย ดังนั้น เราจะเห็นภาพสีเฉพาะบางปกเท่านั้น หนังสือที่เชื่อว่าจะขายได้เท่านั้นจึงจะถูกพิมพ์สี เพราะต้นทุกสูงมาก เราจึงจะเห็นนิยายหรือพวกแมกกาซีนเป็นสีแค่หน้าปกกับหน้ากลางเท่านั้น เพราะฉะนั้น ยิ่งปกสวย คนก็จะยิ่งจำได้ ซึ่งหมายความว่าปกหรือภาพในหนังสือ สร้างภาพจำให้คนมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว ภาพจำที่เรารู้จักว่าอะไรเป็นอะไร เราอยากไปเที่ยวเมืองนอก แต่ไม่เคยไป เราก็เห็นจากในหนังสือ อะไรแบบนั้น มันทำงานง่าย ๆ แบบนั้นแหละ” ประทีปตอบคำถามเรื่องบทบาทของหน้าปกหนังสือต่อคนในสังคม
ความเป็นไปของสังคมที่ถูกบันทึกผ่านสื่อ
นอกจากอิทธิพลในสร้างภาพจำแล้ว ประทีปชี้ว่า หน้าปกหนังสือยังทำหน้าที่ “บันทึกประวัติศาสตร์” ของยุคสมัยนั้น ๆ อย่างไรก็ตาม สื่อสิ่งพิมพ์เหล่านั้นจะกลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้ ก็ขึ้นอยู่กับว่ามันได้บันทึกเรื่องราวที่มีผลต่อคนในยุคต่อมาหรือไม่ หรือเป็นหลักฐานที่คนรุ่นต่อมาถูกบอกให้กลับไปศึกษาเรียนรู้หรือเปล่า
งานชิ้นหนึ่งที่ถูกนำมาจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ คือหน้าปกหนังสือ “คู่สร้างคู่สม” ที่ถูกขยายใหญ่ และเป็นหน้าปกหนึ่งที่เชื่อมโยงกับคนดูได้จำนวนมาก ประทีปสะท้อนว่า คู่สร้างคู่สมคือหนังสือสำคัญที่มีผลต่อคนทั่วไปในสังคม ไม่ใช่เรื่องวิชาการแต่เป็นสิ่งที่สังคมให้ความสนใจอย่างจริงจัง
“เพราะมันเป็นเรื่องผัว ๆ เมีย ๆ ผัวมีเมียน้อย ผัวมีชู้ มันเป็นเรื่องมหากาพย์ของคนไทย จะดราม่ากันมาก แต่ต้องเป็นเรื่องของคนอื่นนะ เราเสียเวลากับเรื่องคนอื่นมากแค่ไหนลองคิดดูสิ เราใช้เวลากับการติดตามเรื่องแบบนี้เยอะมาก จนบางครั้งเราลืมนึกไปว่าต้องไปทำอย่างอื่นไหม คือคนไทยใช้เวลากับเรื่องนี้มากเกินไป แล้วมันทำให้การคิดถึงอนาคต คิดถึงการทำอะไรให้ดีขึ้น กลายเป็นไม่มีเวลาแล้ว แต่เขาก็ไม่ผิดนะ เพราะเขาดูแล้วผ่อนคลาย ทำงานมาเหนื่อยทั้งวัน ก่อนนอนขอตามเรื่องดราม่าให้ขยี้หัวใจหน่อยไม่ได้เหรอ” ประทีปกล่าว
นิทรรศการที่เปิดพื้นที่ให้ทุกคนตีความ
“ศิลปะกับสื่อเหมือนกันยังไง มันทำหน้าที่ส่งสาร แล้วสารที่ส่งก็ขึ้นอยู่กับเป้าหมายที่ศิลปินวางไว้ ว่าอยากให้คนตระหนัก ให้คนคิด แต่ศิลปะมันอาจจะพิเศษกว่าสื่อ ตรงที่ตัวสารที่ส่งออกมา ไม่ได้เป็นสารที่ส่งหรือสื่อความหมายตรง แต่มันเล่นกับการรับรู้และตีความของคนดู ซึ่งปกติสื่อทำแบบนี้ไม่ได้ สื่อจะพูดไม่รู้เรื่องไม่ได้ แต่ศิลปะทำได้ คือพูดนะ ใส่รหัสนะ ไปแปลเอาเอง ดังนั้น ศิลปะเป็นศาสตร์ที่มีการใส่รหัส ในเชิงความหมาย และก็ในเชิงรูปแบบหรือสไตล์” ประทีปอธิบาย
ความสามารถในการสื่อสารที่ไม่ต้องแสดงสารที่ต้องการจะสื่ออย่างตรงไปตรงมาของงานจิตรกรรม ทำให้นิทรรศการแผลเก่าในครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ให้คนดูแต่ละช่วงวัย ได้มีโอกาส “ตีความ” ภาพที่ถูกนำมาจัดแสดง โดยใช้ความรู้ ความเชื่อ และประสบการณ์ส่วนตัวของตัวเองมาสร้างอรรถรสในการรับชมนิทรรศการในครั้งนี้
“ความสวยงามก็เป็นส่วนหนึ่งที่คนมาสัมผัสได้ แล้วก็ความหมายที่แฝงอยู่ ที่ขึ้นอยู่กับสายตาคนดูว่ารู้จักอะไรมาก่อน ถ้าไม่รู้จักก็อาจจะเห็นมันอีกแบบหนึ่ง แต่ถ้ารู้จักก็อาจจะเห็นมันเป็นอีกแบบหนึ่ง ก็อยากให้งานไม่จำเป็นต้องสื่อสารกับคนรุ่นที่ทันหนังสือ แต่รุ่นหลัง ๆ ก็สามารถมาดูได้” ประทีปกล่าวทิ้งท้าย
นิทรรศการแผลเก่า / Old Wound จัดแสดงระหว่างวันที่ 8 ตุลาคม 2565 – 21 มกราคม 2566 ณ บริเวณหอศิลป์ ชั้น 1 เอส เอ ซี แกลเลอรี (SAC Gallery)
ดูเนื้อหาต้นฉบับ
ที่มา : https://www.sanook.com/travel/1434893/
ขอขอบคุณ : https://www.sanook.com/travel/1434893/