นับตั้งแต่ประชากรทั่วทั้งโลกได้รู้จักกับ COVID-19 วิถีชีวิตเราก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป จุดหนึ่งที่แตกต่างไปโดยสิ้นเชิง คือกระแสการรักสุขภาพที่กลายเป็นเทรนด์ของคนทั่วโลก แต่ละคนล้วนสรรหาวิธีการต่าง ๆ ในการต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บ พยายามที่จะเป็นคนที่มีสุขภาพดีร่างกายแข็งแรงมีภูมิต้านทานโรค ในขณะเดียวกัน ชาวโลกต่างก็รู้สึกอัดอั้นจากการถูกกักบริเวณมาเป็นเวลานานเกินกว่าไป นานชนิดที่ว่าฝืนธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์ ดังนั้น หากมีโอกาสที่จะได้ปลดเปลื้องตนเองออกจากสถานที่ที่น่าเบื่อหน่ายมาตลอดระยะเวลาเกือบ 3 ปีด้วยการออกเดินทางท่องเที่ยว มนุษย์เราไม่ได้ไร้แผนการขนาดนั้น หลายคนมองว่ามันคงจะดีกว่าถ้าได้เที่ยวและดูแลสุขภาพไปพร้อมกัน
จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้เทรนด์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือการท่องเที่ยวแบบ Health Tourism กำลังมา อันที่จริงนักวิชาการที่เกี่ยวข้องมองเห็นแนวโน้มการท่องเที่ยวลักษณะนี้มาตั้งแต่สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ค่อย ๆ ซาลงจนเริ่มเปิดแหล่งท่องเที่ยวในประเทศได้แล้ว
โดยข้อมูลของ Traveloka เว็บไซต์เพื่อการท่องเที่ยวชื่อดัง ก็เคยกล่าวถึงแนวโน้มการท่องเที่ยวหลังยุค COVID-19 มีการระบุว่าตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจะเติบโตขึ้น เนื่องจากผู้คนตื่นตัวในการดูแลสุขภาพ บวกกับสุขภาพจิตที่ย่ำแย่ด้วย คนจึงแสวงหาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพกันมากขึ้นนั่นเอง
แล้วการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเป็นแบบไหน
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เคยได้ให้นิยามของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพว่า “เป็นการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามในแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรม ตลอดจนการเรียนรู้วิถีชีวิต และพักผ่อนหย่อนใจ โดยแบ่งเวลาส่วนหนึ่งจากการเดินทางท่องเที่ยวมาทํากิจกรรมส่งเสริมสุขภาพและกิจกรรมรักษาฟื้นฟูสุขภาพ ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ” พูดง่าย ๆ ก็คือ ไม่ใช่เที่ยวแค่ให้รู้สึกว่าได้เที่ยว แต่เที่ยวโดยเล็งเห็นผลว่าจะได้อะไรที่เป็นผลดีต่อสุขภาพกลับมาบ้าง
นั่นหมายความว่ามันเป็นการเที่ยวที่เราตั้งใจจะทำกิจกรรมบางอย่างเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ต่อสุขภาพ เป็นกิจกรรมที่เน้นด้านส่งเสริม บำบัด รักษา และฟื้นฟูสุขภาพ เช่น การไปเที่ยวที่แวะเข้าร้านนวดไทย การเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปต่างจังหวัดเพื่อใช้บริการแพทย์แผนไทยเจ้าดัง การเข้าคลาสเรียนโยคะ ซึ่งเป็นบริการเสริมของทางที่พัก ทัวร์กินอาหารสมุนไพร การไปวัดดังเพื่อเข้าร่วมกินกรรมฝึกสมาธิ หรือแม้แต่การไปแช่น้ำพุร้อนและอาบน้ำแร่เพื่อความผ่อนคลายสบายตัว จากนั้นก็เข้าทำสปาต่อ เป็นต้น
ประเทศไทยโดดเด่นมากในด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
ข้อมูลจากวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เคยรายงานผลการวิจัย (มกราคม-มีนาคม 2562) ระบุว่ารายได้หลักของประเทศไทยนั้นมาจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยหนึ่งในรูปแบบการท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ ก็คือการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Health Tourism) จากข้อมูลของ Global Wellness Institute (GWI) ระบุว่าตลาดท่องเที่ยวโลก การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมีมูลค่าอยู่ประมาณ 1,604 พันล้านบาท ซึ่งประเทศไทยมีส่วนแบ่งทางการตลาดมากถึง 285 พันล้านบาท สูงเป็นอันดับที่ 13 ของโลกเลยทีเดียว
นอกจากนี้ เรายังมักจะได้ยินข่าวที่ว่าประเทศไทยได้รับการโหวตจากองค์กรต่างชาติหรือองค์กรนานาชาติเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเป็นประจำ และติดอันดับต้น ๆ ของโลกด้วย ตัวอย่างเช่น ประเทศไทยเป็น Medical Hub ในการให้บริการทางการแพทย์ระดับโลก โดยมีโรงพยาบาลที่ได้รับการรับรอง JCI สูงติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก การจัดอันดับชิ้นนี้แสดงให้เห็นจุดเด่นของประเทศไทย ว่าไม่ว่าคุณจะเป็นนักท่องเที่ยวจากชาติไหน หากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นมา คุณภาพของโรงพยาบาลไทยจะช่วยดูแลรักษาคุณได้ มั่นใจได้เลย
หรือจะเป็นงานวิจัยชิ้นหนึ่งจากมหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮอปกินส์ ที่จัดอันดับให้ประเทศไทยอยู่ลำดับที่ 6 ของโลก หรือที่ 1 ของเอเชีย จาก 195 ประเทศทั่วโลก ในเรื่องดัชนีความมั่นคงทางด้านสุขภาพ ได้รับการโหวตให้เป็นอันดับที่ 2 ของโลก จากการจัดอันดับของ Wellness Tourism Initiative 2020 ประเทศเป้าหมายที่อยากคนอยากมาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือกรุงเทพฯ ติดอันดับ 1 ของโลก สำหรับสถานที่เหมาะสำหรับทำงานไปด้วยท่องเที่ยวไปด้วย หรือที่ Money UK จัดอันดับให้ประเทศไทยอยู่อันดับ 5 ของโลก สถานที่ที่คนเกษียณอายุอยากไปอยู่ที่สุด
ยัง ยังไม่หมดเท่านี้ ในปี 2022 ก็มีการจัดอันดับในหัวข้อเหล่านี้อีกเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่กรุงเทพฯ ได้รับอันดับ 1 ของ Best Cities จากการสำรวจ Readers’ Choice Awards 2022 นิตยสาร DestinAsian และล่าสุดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา นิตยสารธุรกิจและท่องเที่ยว Business traveller ได้จัดอันดับให้ กรุงเทพฯ เป็นอันดับ 1 ในประเภทเมืองที่น่าพักผ่อนหย่อนใจมากที่สุดในเอเชียแปซิฟิก จากการสำรวจของ Business Traveller Asia-Pacific Awards 2022 ต่อเนื่องกันเป็นปีที่ 6 แล้ว
ใครคือคนที่มาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
หลัก ๆ แล้ว คนที่ใช้บริการการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพนั้นไม่ใช่คนป่วย แต่เป็นนักท่องเที่ยวที่ดูแลสุขภาพไปด้วย ทว่านักท่องเที่ยวบางกลุ่มอาจมีการตรวจสุขภาพและพบแพทย์ เพื่อดูความเสี่ยงของโรคต่าง ๆ ในอนาคต โดยก่อนกลับประเทศก็มาฟังผลตรวจสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการดูแลสุขภาพด้วย และนักท่องเที่ยวออีกกลุ่มต้องการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ อาหารเกษตรอินทรีย์ อาหารที่ไม่ได้ปรุงรสจัด และอาหารที่ดีต่อสุขภาพ หรือมาเที่ยวเพื่อผ่อนคลายสุขภาพจิต ลดความเครียด โดยประเทศไทยมีทางเลือกเพื่อสุขภาพมากมายให้นักท่องเที่ยวได้เลือกสรรเพื่อดูแลสุขภาพจิตและสุขภาพกายของตนเอง
โดยอาจแบ่งได้ตามจุดมุ่งหมายและวัตถุประสงค์ของโปรแกรมกิจกรรมการท่องเที่ยว และความต้องการของนักท่องเที่ยวเป็น 2 ประเภท คือ การท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ (Health Promotion Tourism) คือเที่ยวเพื่อส่งเสริมบํารุงรักษาสุขภาพกายและสุขภาพจิต การบําบัดรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสุขภาพ ตลอดจนการได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสังสรรค์ทางสังคมเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพที่ดีกับผู้อื่นในระหว่างการท่องเที่ยว และการท่องเที่ยวเชิงบำบัดรักษาสุขภาพ (Heath Healing Tourism) เป็นการเที่ยวแบบที่แบ่งเวลาจากการท่องเที่ยวเพื่อทํากิจกรรมบําบัดรักษาโรคหรือฟื้นฟูสุขภาพต่าง ๆ ที่หลากหลายตามหลักวิชาการและมีคุณภาพมาตรฐาอย่างแท้จริง
ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การบรรลุเป้าหมายที่แท้จริงคืออะไร
แน่นอนว่าเป้าหมายการเที่ยวส่วนใหญ่ของคนเรา คือการผ่อนคลายจากวิถีชีวิตเดิม ๆ ซึ่งการผ่อนคลายที่ว่านี้จะนับเป็นด้านหนึ่งของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพก็ได้ เพราะการผ่อนคลายมีประโยชน์ต่อสุขภาพจริง ๆ อีกทั้งการเลือกสถานที่ท่องเที่ยวที่จะไปก็ทำให้เรารู้สึกมีความสุขเล็ก ๆ ได้ง่าย ๆ แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ และอากาศของธรรมชาติที่บริสุทธิ์ สามารถบำบัดและเยียวยาจิตใจเราจากความเครียดและปัญหาต่าง ๆ ที่รุมเร้า เติมเต็มพลังชีวิตให้กลับมาสดชื่นสมบูรณ์อีกครั้ง
ในขณะที่การท่องเที่ยวแบบที่มุ่งเน้นหาการบริการที่ตอบสนองด้านสุขภาพ โดยมีแนวทางเพื่อการดูแลบํารุงรักษาสุขภาพที่เน้นการป้องกันความเจ็บป่วย เพื่อไม่ให้เจ็บป่วยและทําให้ชีวิตยืนยาว ส่งเสริม บำบัด รักษา และฟื้นฟูสุขภาพ เป็นการท่องเที่ยวเพื่อมุ่งหวังให้มีสุขภาพที่ดี ตอบสนองไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่หันมาให้ความสนใจกับการดูแลสุขภาพร่างกายมากขึ้น จึงสรรหาที่จะทำกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อให้ตนเองมีสุขภาพร่างกายที่ดี โดยอาจจะเป็นการเข้ารับคำปรึกษาทางการแพทย์ ทำสปา นวดแผนไทย พักผ่อนในที่พักแนวอนุรักษ์ธรรมชาติ กินอาหารปลอดสารพิษและเน้นสมุนไพร หรือเข้าร่วมโปรแกรมท่องเที่ยวแบบที่ได้ดีท็อกซ์ทั้งร่างกายและจิตใจ เป็นต้น
ดูเนื้อหาต้นฉบับ
ที่มา : https://www.sanook.com/travel/1435161/
ขอขอบคุณ : https://www.sanook.com/travel/1435161/