ปัจจุบันโลกของเราประสบกับปัญหา “โลกร้อน” ค่อนข้างรุนแรง โลกร้อนที่ไม่ใช่แค่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น แต่ยังตามมาด้วยผลกระทบด้านอื่น ๆ อีกเป็นกระบุง หลัก ๆ ก็คือ “ภัยธรรมชาติ” ที่ยากที่จะหลีกเลี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้ฤดูกาลแปรปรวน หน้าร้อนแล้งจัด ฝนตกหนักมาก ฝนตกหนักนอกฤดู น้ำแข็งขั้วโลกละลาย น้ำทะเลหนุนสูงขึ้นทุกปี อีกทั้งยังส่งผลกระทบไปยังสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่บนโลกใบนี้ร่วมกับมนุษย์อย่างเรา ๆ ด้วย
มนุษย์ภาคภูมิใจกับการเป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถพยายามสรรหาวิธีให้ตนเองได้ใช้ชีวิตอยู่อย่างสุขสบายได้ ต่อต้านและหยุดยั้งปรากฏการณ์ธรรมชาติได้ในหลาย ๆ เรื่อง รวมถึงนวัตกรรมต่าง ๆ เทคโนโลยีใหม่ ๆ ล้วนเป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่าไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้หากมนุษย์จะลงมือทำ แต่กว่าที่มนุษย์จะได้สิ่งเหล่านี้มาครอบครอง มนุษย์เบียดเบียนธรรมชาติตั้งไม่รู้เท่าไร ยิ่งก่อนหน้านี้ที่มนุษย์ยังไม่ตระหนักถึงปัญหาโลกร้อน มนุษย์ก็ใช้ทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ อย่างไร้การควบคุม จนในเวลานี้แทบจะไม่เหลือทรัพยากรดี ๆ ให้มนุษย์ใช้อีกต่อไปแล้ว หลายชาติหลายประเทศพยายามรณรงค์กันอย่างจริงจังเพื่อที่จะแก้ปัญหา แต่ประชากรโลกอีกหลายคนก็หาได้สำเหนียกไม่
หากต้นตอหลักที่ทำให้ปัญหาโลกร้อนลุกลามรุนแรงมากถึงเพียงนี้มาจากฝีมือมนุษย์ มนุษย์ก็ควรเป็นผู้รับผิดชอบที่จะรับมือกับปัญหาและร่วมด้วยช่วยกันนำโลกที่สมบูรณ์กลับมา อย่างไรก็ตาม กิจกรรมแทบทุกอย่างของมนุษย์ล้วนมีผลทำให้เกิดภาวะโลกร้อนไม่มากก็น้อยอยู่แล้ว ในขณะที่เราเองก็ต้องใช้ชีวิตกันต่อไป ดังนั้น หนทางของการแก้ปัญหาจึงควรมุ่งเน้นไปที่วิธีการใช้ชีวิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลด ละ เลิก กิจกรรมที่เรารู้ว่ามันทำลายโลก ซึ่งจริง ๆ แล้วสิ่งเหล่านี้ล้วนเริ่มต้นง่าย ๆ ที่ตัวของเราเอง หากเราตระหนักถึงปัญหาและคิดที่จะทำกันจริงจัง
ทุกคนเป็นนักท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้
การเดินทางท่องเที่ยว ถือเป็นกิจกรรมหนึ่งที่มนุษย์ทำเพื่อการสันทนาการ หากทุกกิจกรรมที่มนุษย์ทำล้วนส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนได้ การเดินทางของมนุษย์ก็ไม่รอดเช่นกัน ภาพที่เห็นได้ง่ายที่สุด แค่ใช้รถยนต์ส่วนตัวกันคนละคันในการเดินทางท่องเที่ยว ก็ใช้พลังงานเชื้อเพลิงไปไม่รู้เท่าไร ที่สำคัญกว่านั้น คือการปลดปล่อยของเสียสู่บรรยากาศ ก๊าซพิษต่าง ๆ จากการเผาไหม้กลายเป็นมลภาวะทางอากาศ และหลาย ๆ ก๊าซที่เป็นของเสียจากการเดินทางก็เป็นก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้โลกร้อนด้วย ยิ่งใช้ยานพาหนะมากคันเท่าไรก็ยิ่งปลดปล่อยก๊าซพิษมากขึ้นเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่สามารถปรับเปลี่ยนให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ เทรนด์การท่องเที่ยวในช่วงที่ผ่านมา ผู้คนสนใจการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์มากขึ้น หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ การท่องเที่ยวในรูปแบบที่ไม่ทำตัวเป็นภาระให้ธรรมชาติ ลดการทำลายและสร้างผลกระทบให้กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เน้น “รักษ์โลก” ให้มากขึ้น แต่ยังคงไว้ซึ่งความจรรโลงใจจากการเดินทางท่องเที่ยว
หนึ่งในเทรนด์ที่เป็นที่นิยมสำหรับการเที่ยวแบบรักษ์โลก คือ การท่องเที่ยวแบบ “คาร์บอนต่ำ” หรือ Low carbon เป็นการเที่ยวแบบที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ จุดมุ่งหมายก็เพื่อช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อนนั่นเอง เพราะปกติแล้วกิจกรรมต่าง ๆ ที่เราทำกันในชีวิตประจำวันล้วนก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งนั้น และยากมากที่จะไม่ปลดปล่อยก๊าซนี้ออกมา แต่เราสามารถช่วยกันลดการปลดปล่อยก๊าซนี้ลงได้บ้าง หากทุกคนปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์เล็ก ๆ น้อย ๆ ของตนเอง
ตรงจุดนี้ทำให้แวดวงการท่องเที่ยวเกิดแนวคิด Low carbon tourism ขึ้นมา หรือก็คือการเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำ พยายามลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และท่องเที่ยวแบบที่รบกวนสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด โดยเราสามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่การวางแผนการเดินทาง เดินทางด้วยพาหนะที่ใช้พลังงานทางเลือกหรือใช้พลังงานเชื้อเพลิงให้น้อยที่สุด ไปกับเพื่อนฝูงแทนที่จะขับรถกันไปคนละคัน ก็เปลี่ยนเป็นใช้รถคันเดียวแต่เปลี่ยนกันขับ การเลือกที่พักสีเขียวที่ให้ความสำคัญต่อการใส่ใจสิ่งแวดล้อม การเลือกรับประทานอาหารพื้นเมืองที่ปรุงจากวัตถุดิบในท้องถิ่น ซึ่งช่วยลดกิจกรรมการขนส่ง รวมถึงกิจกรรมที่ทำระหว่างเที่ยวที่ช่วยส่งเสริมสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นของ Zero waste หรือก็คือการลดการสร้างขยะให้ขยะเหลือเป็นศูนย์ เนื่องจากทุกวันนี้ เกิดปัญหาขยะล้นเมือง เพราะการใช้ชีวิตประจำวันของเราที่บริโภคสินค้าแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ขยะเหล่านั้นส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะขยะอาหารและขยะพลาสติก โดยเราสามารถนำแนวทางของ zero waste มาปรับใช้ในการเดินทางเที่ยวได้ เช่น Reduce คือลดการใช้สินค้าแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง Reuse คือการนำกลับมาใช้ซ้ำ และ Recycle เป็นการเลือกใช้สินค้าที่สามารถนำกลับไปแปรรูปมาใช้ใหม่ได้ ยังไม่ทิ้งให้สูญเปล่า
ซึ่งเทรนด์การเที่ยวอย่างรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมนี้ ก็สอดคล้องกับเทรนด์การท่องเที่ยวหลังโควิด-19 ด้วย เพราะหลายคนตระหนักดีว่าโลกของเรามีปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่การมาของโควิด-19 ทำให้การรณรงค์เรื่องขยะที่ทำมาก่อนหน้านี้พังหมด ร้านค้าต่าง ๆ งดรับแก้วที่ลูกค้านำมาเอง ขยะจากอาหารเดลิเวอรี่ และอื่น ๆ ดังนั้น อะไรที่เราพอจะช่วยได้ในช่วงที่ออกเที่ยว ก็มีแนวโน้มว่าคนจะพยายามทำ อีกทั้งข้อมูลจาก Expedia บริษัทท่องเที่ยวของอเมริกา ได้ทำการวิจัยพบว่านักท่องจำนวนไม่น้อยที่ยินดีเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเพื่อให้การเดินทางของตนเองเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการหันมาลองท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนกันเพิ่มขึ้นด้วย
ทำอย่างไรได้บ้างกับการท่องเที่ยวอย่างใส่ใจสิ่งแวดล้อม
เริ่มต้นได้ง่ายที่สุด คือ การท่องเที่ยวที่อยู่บนเงื่อนไขที่ว่า “จะเที่ยวอย่างไรจึงจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้น้อยที่สุดและสร้างขยะน้อยที่สุด”
จริง ๆ แล้ว การท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำ ถือเป็นหนึ่งรูปแบบการท่องเที่ยวที่ผสมผสานแนวคิดของการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ และการท่องเที่ยวแบบมีความรับผิดชอบเข้าไว้ด้วยกัน มีการวางแผนเที่ยวที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ทำลายธรรมชาติให้น้อยลง และเอาใจใส่ธรรมชาติให้มากขึ้น ควบคู่ไปกับการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ส่งเสริมสิ่งแวดล้อม ชดเชยสิ่งต่าง ๆ ที่เคยทำลายธรรมชาติ เช่น กิจกรรมปลูกป่า ปลูกปะการัง เก็บขยะ ฯลฯ
แค่มีจิตสำนึกที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงแล้ววิธีต่าง ๆ จะตามมา เช่น จัดกระเป๋าเดินทางให้มีน้ำหนักเบา พกขวดน้ำดื่มส่วนตัว ช้อนส้อม หลอด เพื่อหลีกเสี่ยงการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง การเลือกยานพาหนะเดินทาง จากรถส่วนตัวไปใช้บริการขนส่งสาธารณะ อาจจะมีการเดินเล่น ขี่จักรยาน หรือพายเรือสัมผัสธรรมชาติ เลือกที่พักที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการประหยัดพลังงาน ลดปัญหาขยะ มีระบบการจัดการเอื้อต่อธรรมชาติ เช่น ผลิตภัณฑ์อาบน้ำแบบขวดเติม เพื่อที่จะลดขยะบรรจุภัณฑ์ ปิดแอร์ ปิดไฟเมื่อไม่อยู่ในห้องพัก ไม่เปลี่ยนผ้าขนหนูบ่อยโดยไม่จำเป็น มีเมนูอาหารพื้นเมืองที่ใช้วัตถุดิบท้องถิ่น เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังเป็นการเที่ยวที่เน้นทำกิจกรรมท่องเที่ยวที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตระหนักรู้ถึงความเป็นอยู่ของธรรมชาติอยู่เสมอ ปฏิบัติตามคำแนะนำของสถานที่นั้น ๆ ในการทิ้งขยะ กฎสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติที่มักจะมีข้อห้ามมากมายเพื่อไม่ให้เราไปรบกวนระบบนิเวศทางอ้อม การช่วยกันรักษาความสะอาด ซึ่งหากทุกคนสามารถลดความเห็นแก่ตัวลง เสียสละความสะดวกสบายเล็กน้อย ยอมทำอะไรที่มันมีผลลัพธ์ต่อส่วนรวมมากขึ้นและทำลายธรรมชาติได้น้อยที่สุด เพียงเท่านี้ ก็ช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมดี ๆ ได้แล้ว
ดูเนื้อหาต้นฉบับ
ที่มา : https://www.sanook.com/travel/1435581/
ขอขอบคุณ : https://www.sanook.com/travel/1435581/