แม้ว่า “อุตสาหกรรมดนตรีและศิลปะการแสดง” จะหนึ่งใน 15 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ได้ให้คำนิยามไว้ แต่บุคลากรและผลงานสร้างสรรค์ประเภทนี้ก็ยังขาดการสนับสนุนอย่างจริงจัง และประสบปัญหาในการสร้างงานให้เป็นอาชีพ โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ที่นับว่าเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายสำหรับศิลปินในวงการดนตรีและการแสดงเป็นอย่างมาก
กรุงเทพมหานครได้เล็งเห็นความสำคัญของงานสร้างสรรค์รูปแบบนี้ จึงได้จัดพื้นที่สำหรับดนตรีและศิลปะการแสดงให้กับประชาชนทั่วไปได้เข้าร่วม โดยจัดงานแถลงข่าวนโยบายด้านการสนับสนุนพื้นที่สำหรับดนตรีและการแสดงในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา ณ สวนสันติชัยปราการ พร้อมกับวงเสวนาเรื่อง “ความท้าทายและนโยบายการขับเคลื่อนเมืองด้วยงานสร้างสรรค์ด้านดนตรีและศิลปะการแสดง” และการแสดงของศิลปินมากความสามารถ
ขับเคลื่อนเมืองด้วยงานสร้างสรรค์
“พื้นที่สาธารณะเป็นเหมือน “ปากของเมือง” เมืองที่ไม่มีพื้นที่สาธารณะเปิดให้คนในเมืองมาลองแสดงไอเดีย ก็เหมือนเมืองที่ถูกปิดปาก แต่ถ้าเราเปิดสวน เปิดพื้นที่สาธารณะ ก็เหมือนเป็นการเปิดปากให้กับเมือง และเมื่อเมืองเปิดพื้นที่สาธารณะให้เมืองได้แสดงแล้ว เราจะเห็นจริง ๆ ว่าเอกลักษณ์ของเมืองนี้คืออะไร แล้วความน่ารักของเมืองที่ซ่อนอยู่มันคืออะไร” พงศ์สิริ เหตระกูล หนึ่งในผู้แทนคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์กรุงเทพฯ กล่าว
ตุล ไวฑูรเกียรติ นักดนตรีชื่อดัง และผู้แทนคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์กรุงเทพฯ สะท้อนว่าดนตรีและศิลปะการแสดงคือทุกแง่มุมของชีวิต มันคือภาษา วัฒนธรรม และสามารถทำหน้าที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เช่นกัน
ด้านกฤษณ์ สงวนปิยะพันธ์ นักแสดงสตรีทโชว์ อีกหนึ่งผู้แทนคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์กรุงเทพฯ ก็ชี้ว่า ความท้าทายของการทำงานขับเคลื่อนเรื่องศิลปะในเมือง คือการเปลี่ยนวิธีคิดของคนในสังคม จากแนวคิดที่ว่าศิลปะจะเกิดขึ้นได้ เมื่อบ้านเมืองไม่มีปัญหาเรื่องปากท้อง ต้องเปลี่ยนให้ศิลปะและงานสร้างสรรค์กลายเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา ทำให้ศิลปะเข้าถึงประชาชนทุกคน
“มันไม่ใช่แค่เรื่องของรายได้และเศรษฐกิจ แต่เป็นเรื่องของสภาพจิตใจคือสิ่งสำคัญ ถ้าจะพูดถึงนโยบายสร้างสรรค์ มันต้องพูดกับเมืองในทุกยุคทุกสมัย ไม่ใช่รอให้พื้นฐานดี แล้วศิลปะจะเกิด ถ้าแบบนั้นศิลปินก็จะไม่มีวันได้ลิมตาอ้าปาก ดังนั้น ทำยังไงเราถึงจะส่งเสริมศิลปะ โดยที่ไม่ต้องรอให้ทุกอย่างมันดี แต่ให้ศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของเมืองสร้างสรรค์และช่วยแก้ปัญหาของเมืองดีกว่า” กฤษณ์ระบุ
“สิ่งที่กรุงเทพฯ สนับสนุนได้ คือเรื่องการกระตุ้นให้เกิด Soft Power ซึ่งคำนี้พูดกันเยอะ แต่รูปธรรมคืออะไร สิ่งหนึ่งที่กรุงเทพฯ สามารถปลดล็อกและทำให้เปิดกว้างให้กับประชาชนได้จริง ๆ ก็คือพื้นที่สาธารณะ หรือบางโซนที่เราคิดว่าสามารถเปิดให้นักดนตรีที่ยังไม่ใช่มืออาชีพมาแสดงศักยภาพได้ ซึ่งกรุงเทพฯ ควรทำให้มีพื้นที่แบบนี้มากขึ้น แล้วเศรษฐกิจสร้างสรรค์ถึงจะเกิดขึ้นได้จริง เราถึงจะมีพื้นที่ มีบุคลากรเก่ง ๆ ด้านนี้ได้” ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ชี้
กรุงเทพฯ นำร่องพื้นที่ “โซนใช้เสียง”
เพราะตั้งใจที่จะเปิดพื้นที่สาธารณะให้เป็นพื้นที่เอนกประสงค์รองรับกิจกรรมที่หลากหลาย กรุงเทพฯ จึงทดลองนำร่อง “โซนใช้เสียง” ในพื้นที่ 12 สวนสาธารณะ ครอบคลุม 6 โซนทั่วกรุงเทพฯ และเปิดให้ผู้จะนำเครื่องดนตรีมาเล่น หรือฝึกซ้อมการแสดงในโซนนี้ แต่ต้องปฏิบัติตามกฎที่ระบุไว้อย่างเคร่งครัด
บริเวณที่จัดให้เป็นโซนใช้เสียง มีดังต่อไปนี้
- สวนลุมพินี เขตปทุมวัน: ศาลาภิรมย์ภักดี และเวทีบันเทิง (2 จุด)
- สวนเบญจกิติ เขตคลองเตย: ลานแสดงกลางแจ้ง, ลานใกล้ทางขึ้นสกายวอล์ค (2 จุด)
- อุทยานเบญจสิริ เขตคลองเตย: ลานนก
- สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) เขตจตุจักร: ลานหญ้า บริเวณประตูจอดรถ
- สวนสันติชัยปราการ เขตพระนคร: ขั้นบันไดริมกำแพงป้อมพระสุเมรุ
- สวนรมณีนาถ เขตพระนคร: ลานหน้าประตูคุกเก่า
- สวน 60 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ (เคหะร่มเกล้า) เขตลาดกระบัง: ลานแอโรบิก
- สวนเสรีไทย เขตบึงกุ่ม: ลานเอนกประสงค์
- สวนเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบฯ (สะพานพระราม 9): ศาลาดนตรีไทย
- สวนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (สวนบางขุนนนท์) เขตบางกอกน้อย: ลานกิจกรรมริมบึง
- สวนหลวงพระราม 8 เขตบางพลัด: ศาลาแปดเหลี่ยมริมน้ำ
- สวนธนบุรีรมย์เขตทุ่งครุ: ลานนั่งเล่นแปลง 1, ลานแปลงปาล์ม, ลานกิจกรรมแอโรบิก (3 จุด)
กิจกรรมดนตรีในสวน
เทศกาล Colorful Bangkok 2022 คือเทศกาลที่จัดขึ้นระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2565 – มกราคม 2566 ซึ่งประกอบด้วยเทศกาลศิลปะสร้างสรรค์ เทศกาลแสงสี และเทศกาลดนตรี โดยเดือนมกราคม ถือเป็นเดือนของเทศกาลดนตรี ที่กรุงเทพฯจะจัดกิจกรรม “ดนตรีในสวน” 28 ครั้ง ใน 10 พื้นที่ ทั้งในสวนสาธารณะ ศูนย์เยาวชน และมิวเซียมสยาม โดยมีทั้งงานที่จัดโดยกรุงเทพฯ และองค์กรภาคี มีเป้าหมายหลักเพื่อสร้างพื้นที่แสดงฝีมือให้กับศิลปิน เยาวชน บุคคลทั่วไป และศิลปินหน้าใหม่
ศิลปินชื่อดังจากค่ายเพลงต่าง ๆ ได้เดินทางมาร่วมงานแถลงข่าว เช่นเดียวกับจะเข้าร่วมสร้างสีสันให้กับเทศกาลดนตรีในสวนที่จะจัดขึ้นตลอดทั้งเดือนมกราคม เช่น SpicyDisc, Muzik Move, Idol Exchange, Space bar Music Hub, Papa Dude และยังมีอีกหลายค่ายที่แสดงความสนใจส่งศิลปินเข้าร่วมกิจกรรม
นอกจากนี้ ทรงกรุงเทพฯ ยังร่วมมือกับบริษัท ลิขสิทธิ์ดนตรี (ประเทศไทย) จำกัด (MCT) เพื่อให้ทุกเพลงที่นำมาใช้แสดงในกิจกรรม เป็นเพลงที่ถูกต้องตามลิขสิทธิ์ รวมถึงนักแต่งเพลงและศิลปินจะมีรายได้จากผลงานเพลงที่แต่งไว้อีกด้วย
โครงการ Bangkok Street Performer ศิลปินเปิดหมวกกรุงเทพฯ
อีกหนึ่งนโยบายส่งเสริมให้พื้นที่สาธารณะของกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่แห่งดนตรีและศิลปะการแสดง (สตรีทโชว์) ทางกรุงเทพฯ จึงเปิดรับสมัครศิลปินและนักแสดง (ทั้งศิลปินเดี่ยวและกลุ่ม) ประเภทพเยาวชน และบุคคลทั่วไป เพื่อเล่นดนตรี และแสดงสตรีทโชว์แบบเปิดหมวกได้ในพื้นที่สาธารณะ
กรุงเทพฯ เปิดรับสมัครแล้วตั้งแต่วันนี้ – 17 มกราคม 2566 (เวลา 23.59 น.) และจะมีการพิจารณาผล โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในวงการดนตรีและการแสดง ประกาศผลศิลปินที่ผ่านการคัดเลือกในวันที่ 20 มกราคม 2566 ผ่านทางเฟสบุ๊กแฟนเพจ: กรุงเทพมหานคร และทางอีเมล (สำหรับผู้ได้รับการคัดเลือกเท่านั้น)
ศิลปินที่ผ่านการคัดเลือกให้เป็น Bangkok Street Performer
- จะได้รับ BKK Street Performer ID ซึ่งถือเป็นการรับรองคุณภาพศิลปิน โดย ID จะมีอายุ 1 ปี (สามารถต่ออายุได้เมื่อครบกำหนด)
- ศิลปินสามารถนำ ID ดังกล่าวมาจองพื้นที่เพื่อทำการแสดงได้ผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์ และสามารถเลือกวัน เวลา และสถานที่ที่ต้องการได้ โดยทางกรุงเทพมหานครเป็นผู้กำหนดบริเวณทำการแสดงในพื้นที่สาธารณะต่างๆ พร้อม slot เวลาที่อนุญาตให้จองพื้นที่ได้ (ทดลองการจองพื้นที่ และทำการแสดงในเดือนมกราคม 2566 และจะพิจารณาดำเนินการต่อเนื่องหากไม่มีข้อติดขัด)
- ศิลปินสามารถทำการแสดงแบบเปิดหมวก เพื่อหารายได้จากความพึงพอใจของผู้ชมได้ โดยผู้ชมไม่รู้สึกว่าถูกบังคับให้จ่าย และห้ามมีการค้าขายสินค้าอื่นๆ
- ศิลปินอาจได้รับเชิญให้ไปทำการแสดงในกิจกรรมดนตรีในสวน และกิจกรรมอื่นๆ ที่จัดโดยกรุงเทพมหานคร หรือที่กรุงเทพมหานครร่วมเป็นเจ้าภาพ
- ศิลปิน Bangkok Street Performer ต้องยอมรับและปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อกำหนดของโครงการอย่างเคร่งครัด
พื้นที่ที่เปิดให้ศิลปิน Bangkok Street Performer ในโครงการทำการแสดง (ช่วงทดลอง 23 มกราคม – 28 กุมภาพันธ์)
- พื้นที่ใน MRT สถานีกำแพงเพชร
- พื้นที่ใน MRT สถานีจตุจักร
- พื้นที่ใน MRT สถานีพระราม 9
- พื้นที่ใน MRT สถานีสุขุมวิท
- บริเวณทางเชื่อมยกระดับแยกปทุมวัน
- บริเวณทางเชื่อมยกระดับ แยกสาทร-นราธิวาส
- บริเวณทางเชื่อมยกระดับห้างไอคอนสยาม
ดูเนื้อหาต้นฉบับ
ที่มา : https://www.sanook.com/travel/1435921/
ขอขอบคุณ : https://www.sanook.com/travel/1435921/