จากนโยบายของกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยเรื่องเมืองแห่งการสร้างสรรค์และวัฒนธรรมเพื่อสร้างความสุขให้กับคนกรุงเทพฯ จึงเกิดโครงการที่สนับสนุนการออกมาใช้ชีวิตบนพื้นที่สาธารณะ เพื่อสร้างการเคลื่อนไหวทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ในทุกมุมเมือง ผ่านการจัด “เทศกาลดนตรีในสวน” ตลอดเดือนมกราคม 2566 ถือเป็น 1 ในนโยบาย 216 ข้อ ด้านสร้างสรรค์ดี คือ กรุงเทพฯ พื้นที่แห่งดนตรีและศิลปะการแสดง และเป็น 1 ใน “12 เทศกาล 12 เดือน”
ตลอดเดือนพฤศจิกายน 2565 ต่อเนื่องมาจนถึงเดือนมกราคม 2566 กรุงเทพฯ ได้จัดเทศกาลภายใต้แคมเปญ Colorful Bangkok โดนมุ่งผลักดันนโยบายหลายข้อ เพื่อสร้างศิลปะ แสงสี และเสียงดนตรีให้เกิดขึ้นทั่วทุกมุมเมือง อันจะนำมาซึ่งการสร้างเมืองที่มีชีวิต และเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เกิดขึ้นรอบตัวกิจกรรม โดยตลอดทั้งเดือนมกราคม 2566 จะเป็นช่วงเวลาแห่งดนตรี ภายใต้เทศกาล “ดนตรีในสวน” ที่จะจัดใน 10 สถานที่ ทั้งหมด 28 ครั้ง และมีศิลปินมากมายมาร่วมสร้างสีสันให้กับเมืองในครั้งนี้
ทั้งนี้ กรุงเทพฯ ยังได้เปิดตัวโครงการ Bangkok Street Performer เปิดรับ “ศิลปินเปิดหมวก” เข้าออดิชั่น เพื่อแสดงในพื้นที่สาธารณะของกรุงเทพฯ ตามจุดที่กำหนด เพื่อส่งเสริมให้พื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่แห่งดนตรีและศิลปะการแสดง (สตรีทโชว์) โดยศิลปะการแสดงเปิดหมวก (Busking) เป็นศิลปะรูปแบบหนึ่งที่ถูกแสดงโดนศิลปินมืออาชีพหรือสมัครเล่น ศิลปินจะใช้ความคิดและความพยายามในการสร้างสรรค์งานแสดงของตัวเอง เพื่อแสดงให้ผู้ชม ให้ความบันเทิงในที่สาธารณะ และหากผู้ชมพึงพอใจ ก็มีโอกาสได้รับเงินบริจาคเป็นการตอบแทน ศิลปะการแสดงเปิดหมวก เป็นไปได้ตั้งแต่การเล่นดนตรี การแสดงละคร การแสดงโชว์ การเต้น มายากล juggling ฯลฯ
กรุงเทพฯ ขยายเวลาเปิดรับสมัครศิลปินและนักแสดง (ทั้งศิลปินเดี่ยวและกลุ่ม) ประเภทเยาวชน และบุคคลทั่วไป เพื่อเล่นดนตรีและแสดงสตรีทโชว์แบบเปิดหมวกในพื้นที่สาธารณะของกรุงเทพฯ โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ – 17 มกราคม 2566 (23.59 น.) โดยศิลปินที่สมัครเข้ามา จะได้รับการพิจารณาผลโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในวงการดนตรีและการแสดงซึ่ง ซึ่งจะประกาศผลศิลปินที่ผ่านคัดเลือกในวันที่ 20 มกราคม 2565 ผ่านทางเฟสบุ๊กแฟนเพจ: กรุงเทพมหานคร และทางอีเมล (เฉพาะผู้ได้รับการคัดเลือกเท่านั้น)
สำหรับศิลปินที่ผ่านการคัดเลือกให้เป็น Bangkok Street Performer จะต้องปฏิบัติตามกติการการเข้าไปใช้งานในพื้นที่ที่ทางกทม. จัดให้ ดังนี้
- ศิลปินผู้ผ่านการคัดเลือก จะได้รับ BKK Street Performer ID ซึ่งถือเป็นการรับรองคุณภาพศิลปิน โดย ID จะมีอายุ 1 ปี (สามารถต่ออายุได้เมื่อครบกำหนด)
- ศิลปินสามารถนำ ID ดังกล่าวมาจองพื้นที่เพื่อทำการแสดงได้ผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์ และสามารถเลือกวัน เวลา และสถานที่ที่ต้องการได้ โดยทางกรุงเทพมหานครเป็นผู้กำหนดบริเวณทำการแสดงในพื้นที่สาธารณะต่างๆ พร้อม slot เวลาที่อนุญาตให้จองพื้นที่ได้ (ทดลองการจองพื้นที่ และทำการแสดงในเดือนมกราคม 2566 และจะพิจารณาดำเนินการต่อเนื่องหากไม่มีข้อติดขัด)
- ศิลปินสามารถทำการแสดงแบบเปิดหมวก เพื่อหารายได้จากความพึงพอใจของผู้ชมได้ โดยผู้ชมไม่รู้สึกว่าถูกบังคับให้จ่าย และห้ามมีการค้าขายสินค้าอื่นๆ
- ศิลปินอาจได้รับเชิญให้ไปทำการแสดงในกิจกรรมดนตรีในสวน และกิจกรรมอื่นๆ ที่จัดโดยกรุงเทพมหานคร หรือที่กรุงเทพมหานครร่วมเป็นเจ้าภาพ
- ศิลปิน Bangkok Street Performer ต้องยอมรับและปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อกำหนดของโครงการอย่างเคร่งครัด
พื้นที่สาธารณะนำร่องสำหรับแสดงเปิดหมวก Bangkok Street Performer ได้แก่
- MRT สถานีกำแพงเพชร ทางออก 2 (Event Area 3)
- MRT สถานีจตุจักร บริเวรณ Event In Mall 2
- MRT สถานีพระราม 9 บริเวณ NE in Metro Mall
- MRT สถานีสุขุมวิท ทางออกสยามสมาคม
- BTS สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ บริเวณทางเชื่อมยกระดับ แยกปทุมวัน
- BTS สถานทีช่องนนทรี บริเวณทางเชื่อมยกระดับ แยกสาทร – นราธิวาส
- BTS สถานีเจริญนคร บริเวณทางเชื่อมยกระดับ ห้างไอคอนสยาม
สำหรับกฎระเบียบในการแสดงเปิดหมวกในพื้นที่สาธารณะของกรุงเทพฯ มีดังต่อไป
- กฎระเบียบด้านสถานที่
ศิลปะการแสดงเปิดหมวก เป็นสิ่งที่ถูกกฏหมาย ‘ภายในพื้นที่ที่กำหนด’ โดยไม่เกินระดับเสียงที่กำหนด การแสดงต้องไม่กีดขวางการจราจรในพื้นที่นั้นๆ โดยสมบูรณ์ นักแสดงต้องเปิดพื้นที่ให้ผู้สัญจรสามารถเดินทางได้สะดวกในช่วงเวลาเร่งด่วน และนักแสดงควรใช้ระดับเสียงที่ไม่รบกวนกิจกรรมโดยรอบ
- กฎระเบียบด้านการแสดง
การแสดงควรปรับตัวได้ในกรณีที่สภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย นักแสดงควรเตรียมตัวเพื่อปรับการแสดงที่หน้าสถานที่ การแสดงเปิดหมวก ต้องไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดี เสียดสีสังคม การเมือง ศาสนา ลามก อนาจาร และต้องไม่ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือทำให้ผู้อื่นได้รับความอับอาย
- กฎระเบียบด้านการใช้เสียง
การแสดงเปิดหมวก ต้องอยู่ในระดับเสียงที่เคารพสิทธิของผู้อื่นในละแวกเดียวกัน โดยเฉพาะผู้อยู่อาศัยถาวรในพื้นที่ (โดยทั่วไป เสียงควรจะอยู่ในระดับที่ดังกว่าเสียงรบกวนรอบข้างเพียงเล็กน้อย) สำหรับการแสดงดนตรี ขอแนะนำให้ทำการแสดงที่มีความหลากหลาย การเล่นเพลงเดิมซ้ำ ๆ ในสถานที่เดียวกันจะได้รับความนิยมน้อยกว่าการแสดงที่มีความหลากหลาย
- กฎระเบียบด้านอุปกรณ์
อุปกรณ์ที่ใช้ในการแสดงต้องไม่กีดขวางการสัญจร หรือทำให้เกิดการสะดุด อุปกรณ์ที่จะใช้ในการแสดงต้องไม่ทำให้พื้นที่เสียหาย จุดการแสดงในทุกพื้นที่ไม่ได้มีจุดเชื่อมต่อไฟฟ้า หากศิลปินต้องการใช้อุปกรณ์ที่ใช้กำลังไฟฟ้า ควรเตรียมอุปกรณ์ชนิดที่ต่อแหล่งกำเนิดไฟฟ้าในตัวได้ เช่น ใส่ถ่าน ทั้งนี้ ต้องไม่วางอุปกรณ์ทิ้งไว้โดยไม่มีผู้ดูแล อุปกรณ์ที่ใช้ในการแสดงต้องเป็นอุปกรณ์ที่ปลอดภัย ห้ามมิให้มีการใช้เปลวไฟ มีด สายไฟฟ้า หรือวัตถุอื่นใดที่สามารถเป็นอันตรายแก่นักแสดงและผู้ชมได้ หากการแสดงมีการใช้ฉาก (เช่นเก้าอี้สนาม, โคมไฟ ฯลฯ) ผู้แสดงต้องทำการขออนุญาตก่อนทำการแสดง ผู้แสดงต้องเก็บกวาดพื้นที่ให้สะอาดเรียบร้อยหลังทำการแสดงทุกครั้ง
- กฎระเบียบการรับบริจาค
ผู้แสดงสามารถรับเงินบริจาคในพื้นที่ที่จัดเตรียมไว้ให้ได้ แต่ผู้ชมต้องไม่รู้สึกถูกบังคับให้จ่าย และไม่สามารถขายสินค้าในพื้นที่ได้ ทั้งนี้ การรับเงินบริจาค ต้องรับเงินผ่านการแสกน QR CODE โอนเงินเท่านั้น
- การเพิกถอนการแสดง
หากการแสดง หรือผู้แสดงกระทำการรบกวน ดูหมิ่น หรือทำให้วิถีชีวิตของผู้คนรอบข้างพื้นที่แสดงเกิดปัญหา จะถูกตักเตือนครั้งที่ 1 หรือหากเกิดการตักเตือนแล้วยังมีพฤติกรรมเดิมจะถูกตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมใบสั่ง และหากฝ่าฝืนอีกครั้ง จะถูกปรับ พร้อมกับยกเลิกใบอนุญาตศิลปินการแสดงเปิดหมวก
ดูเนื้อหาต้นฉบับ
ที่มา : https://www.sanook.com/travel/1435949/
ขอขอบคุณ : https://www.sanook.com/travel/1435949/