เที่ยวอย่างไรให้ใช้สิทธิ “ชอปดีมีคืน 2566” ลดหย่อนภาษีได้

แชร์

ช่วงเวลาของการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบบนี้จะวนลูปกลับมาหาคนวัยทำงานเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว บางคนพยายามวางแผนด้านภาษีของตนเองล่วงหน้าในปีถัดไป หาว่ามีรายการลดหย่อนอะไรบ้างที่จะสามารถลดหย่อนภาษีของตนเองได้ เพื่อที่ว่าจะได้รีบใช้สิทธินั้น แล้วเก็บหลักฐานไว้ทำเรื่องยื่นขอลดหย่อนในปีถัดไป

ในปีนี้ รัฐบาลยังคงใช้มาตรการ “ชอปดีมีคืน 2566” เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของคนมีรายได้ เนื่องจากการจับจ่ายใช้สอยตามมาตรการดังกล่าวเป็นรายการที่สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้นั่นเอง สำหรับชอปดีมีคืน 2566 ก็จะนำไปใช้สิทธิลดหย่อนในการยื่นภาษีในต้นปี 2567 ใครหลายคนที่หวังจะได้สิทธิการลดหย่อนภาษีจากชอปดีมีคืน จึงต้องรีบใช้จ่ายก่อนที่จะหมดเวลา โดยวันสุดท้ายของการใช้จ่ายที่จะใช้สิทธิได้ก็คือ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566

อย่างไรก็ดี คนทำงานสายเที่ยวน่าจะได้ประโยชน์จากมาตรการนี้มากพอสมควร เพราะรายการใช้จ่ายช่วงระหว่างเที่ยวหลายรายการเข้าเงื่อนไขตามมาตรการ ดังนั้น ก่อนที่จะออกเที่ยว อาจจะต้องวางแผนกันสักหน่อยว่าจะเที่ยวอย่างไรให้สามารถใช้สิทธิตามมาตรการชอปดีมีคืน 2566 ได้ โดยต้องการนำค่าใช้จ่ายจากมาตรการนี้ไปใช้ลดหย่อนภาษี 2566 ที่จะยื่นแบบในต้นปีหน้า (ปี 2567) ซึ่งสามารถนำไปใช้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 40,000 บาท

ถึงอย่างนั้น สิ่งที่ควรรู้ก็คือ คนที่ไม่มีรายได้ หรือคนที่มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี หรือคนที่มีรายได้ถึงเกณฑ์เสียภาษี แต่มีค่าลดหย่อนอื่น ๆ ที่ทำให้ไม่ต้องเสียภาษี จะไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการชอปดีมีคืน 2566 นี้ เนื่องจากคุณไม่เข้าข่ายต้องจ่ายภาษีอยู่แล้ว จึงไม่สามารถนำค่าใช้จ่ายจากชอปดีมีคืนไปหักลดหย่อนภาษีได้อีก นอกจากนี้ สำหรับคนที่มีฐานภาษีไม่สูง เช่น เสียภาษีในอัตรา 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น คุณอาจต้องพิจารณาก่อนใช้จ่ายตามมาตรการนี้ว่าคุ้มค่าหรือไม่ที่จะเสียเงิน 40,000 บาท เพื่อแลกกับการได้คืนภาษีเพียง 2,000 บาทเท่านั้น แต่ถ้าคุณตั้งใจที่จะไปเที่ยวในช่วงนี้อยู่แล้ว จะใช้สิทธิของตนเองก็ไม่เสียหายอะไร

อย่าลืมขอใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปและใบเสร็จรับเงิน

สำหรับผู้ที่ประสงค์จะใช้สิทธิตามมาตรการ “ชอปดีมีคืน” ซึ่งเป็นมาตรการลดหย่อนภาษีที่รัฐบาลนำมาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจเกือบทุกปี คุณไม่ต้องลงทะเบียนใด ๆ ทั้งสิ้น เพียงแค่ซื้อสินค้าหรือบริการตามเงื่อนไขที่กำหนดเท่านั้น และที่สำคัญที่สุดก็คือ อย่าลืมขอใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปจากร้านค้า ซึ่งจะนำไปใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 40,000 บาท แบ่งเป็น ลดหย่อนได้ 30,000 บาทแรก ต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปในรูปแบบกระดาษหรือ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากร ส่วนจำนวนอีก 10,000 บาท จะต้องมีใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ที่ออกผ่านระบบของกรมสรรพากร

จากนั้นก็แค่นำหลักฐานที่มีไปใช้ประกอบการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2566 เพื่อหักลดหย่อนภาษีได้เหมือนกับค่าลดหย่อนอื่น ๆ ทั่วไป

อย่างไรก็ดี มาตรการชอปดีมีคืน 2566 ที่เป็นการใช้จ่ายในช่วงวันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2566 นี้ จะนำไปใช้ได้กับการลดหย่อนภาษีปี 2566 หรือก็คือการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในช่วงต้นปี 2567 เท่านั้น ไม่ใช่การใช้สำหรับยื่นภาษีในช่วงต้นปี 2566 (ที่กำลังเปิดให้ยื่นอยู่ในเวลานี้) นี่เป็นเรื่องที่ใครหลายคนเข้าใจผิด สำหรับการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในช่วงต้นปี 2566 ให้ใช้มาตรการชอปดีมีคืน 2565 ที่เป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการในช่วงวันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2565 (ปีที่แล้ว) มาประกอบการยื่น ฉะนั้น ใบกำกับภาษีที่ใช้ซื้อสินค้าและบริการในช่วงต้นปี 2565 สามารถนำมาประกอบการยื่นภาษี 2565 ในช่วงต้นปี 2566 เพื่อหักลดหย่อนภาษีได้เลย

ซื้อสินค้า OTOP

สำหรับคนที่ชื่นชอบการซื้อสินค้า OTOP หรือสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์มาเป็นของฝาก เวลาที่ไปเที่ยวต่างจังหวัดหรือแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน ในท้องถิ่น คุณสามารถใช้สิทธิตามมาตรการชอปดีมีคืน 2566 ได้ อย่างไรก็ตาม สินค้าที่ซื้อมาจะต้องเป็นเป็นสินค้า OTOP ที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนเรียบร้อยแล้ว และมีหลักฐานการซื้อสินค้าเป็นใบเสร็จรับเงิน หรือใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ที่มีการระบุว่าเป็นรายการสินค้าที่ซื้อเป็นสินค้า OTOP โดยคุณสามารถตรวจสอบร้านค้าได้ที่ otoptoday.com

ซื้อสินค้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

เงื่อนไขของมาตรการชอปดีมีคืน 2566 กำหนดว่าคุณต้องซื้อสินค้าหรือใช้บริการจากห้าง/ร้านที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และสามารถออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปให้คุณได้เท่านั้น ยกเว้นการซื้อสินค้า OTOP และสินค้าประเภทหนังสือหรือ E-book เท่านั้นที่จะใช้ใบเสร็จรับเงินได้ โดยต้องระบุชื่อ-นามสกุลให้ชัดเจน โดยสินค้าและบริการที่จะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ ต้องเป็นสินค้าและบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น หากเป็นสินค้าและบริการที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่แล้ว จะไม่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ ดังนั้น การซื้อหนังสือพิมพ์ นิตยสาร และตำราเรียน จะนำมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีไม่ได้ เนื่องจากสินค้าเหล่านี้เป็นสินค้าที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม

นอกจากนี้ ยังมีสินค้าและบริการบางอย่างที่ไม่สามารถใช้สิทธิชอปดีมีคืน 2566 ได้ คือ

  1. สุรา เบียร์ และไวน์
  2. บุหรี่ ยาสูบ
  3. รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
  4. หนังสือพิมพ์และนิตยสาร และค่าบริการหนังสือพิมพ์และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
  5. บริการจัดนำเที่ยวที่จ่ายให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์
  6. ค่าที่พักในโรงแรม
  7. ค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ต
  8. ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย เช่น ประกันรถยนต์ ประกันอัคคีภัย
  9. ค่าเบี้ยประกันชีวิต ประกันสุขภาพ เพราะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีในหมวดประกันได้
  10. ค่าบริการระยะยาวที่เริ่มต้นก่อนวันที่ 1 มกราคม 2566 หรือสิ้นสุดหลังวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566
  11. สินค้าหรือบริการที่ไม่ได้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 7 เปอร์เซ็นต์ อยู่แล้ว เช่น ผัก-ผลไม้สดที่ยังไม่ได้แปรรูป เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อปลา นมจืด ทองคำแท่ง ค่ารักษาพยาบาล ค่าทำศัลยกรรม

กินดื่ม นวดหน้า นวดตัว ทำสปาระหว่างท่องเที่ยว

แม้ว่ามาตรการชอปดีมีคืน 2566 จะไม่สามารถใช้ลดหย่อนภาษีในส่วนของค่าที่พักในโรงแรมได้ก็จริง แต่กรณีของการซื้อสินค้าและบริการต่าง ๆ ในระหว่างท่องเที่ยวเป็นอีกเรื่อง กรณีที่ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านนวด เป็นร้านที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และคุณสามารถขอให้ทางร้านออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปให้คุณได้ คุณถึงจะสามารถใช้สิทธิชอปดีมีคืนได้ ไม่ว่าจะเป็นค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม (ไม่รวมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์) ค่าบริการนวดหน้า นวดตัว ทำสปา ทว่าย้ำอีกครั้งว่าต้องไม่รวมการซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ เพราะสุรา ไวน์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ ไม่สามารถใช้สิทธิตามมาตรการนี้ได้

การดูแลยานพาหนะในการเดินทาง

สำหรับสายท่องเที่ยวที่เดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว การเช็กความพร้อมของยานพาหนะเป็นสิ่งที่คุณต้องทำก่อนออกเดินทาง ดังนั้น การเช็กสภาพรถ ซ่อมรถ เปลี่ยนยางรถยนต์ เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง ซื้ออุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ หรืออะไหล่รถยนต์ คุณสามารถใช้สิทธิชอปดีมีคืนได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นการเข้าศูนย์ตรวจเช็กสภาพรถ การซ่อมรถ และบริการอื่น ๆ ข้างต้น จะต้องซื้อหรือเข้ารับบริการให้แล้วเสร็จในช่วงวันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2566 เท่านั้น หากนอกเหนือจากช่วงเวลานี้ไปแล้วจะไม่สามารถใช้สิทธิได้

อย่างไรก็ดี สำหรับมาตรการชอปดีมีคืน 2566 นี้ สามารถใช้สิทธิเติมน้ำมันและก๊าซได้ด้วย โดยสถานีบริการน้ำมันนั้น ๆ จะต้องสามารถออกใบกำกับภาษีให้คุณได้ คุณถึงจะนำมาใช้สิทธิยื่นเพื่อลดหย่อนภาษีได้นั่นเอง ทั้งนี้ รถส่วนตัวที่คุณต้องการจะใช้สิทธิเติมน้ำมันและก๊าซ ไม่จำเป็นต้องเป็นรถยนต์ของคุณเอง เป็นรถยนต์ใครก็ได้ กรณีที่คุณยืมรถของเพื่อนมาใช้ คุณสามารถใช้สิทธิยื่นเพื่อลดหย่อนภาษีของตัวเองได้ เนื่องจากในใบกำกับภาษีจะระบุแค่ชื่อผู้เติมน้ำมัน ที่อยู่ และเลขบัตรประชาชน ไม่ได้ระบุเลขทะเบียนรถยนต์ หากคุณเป็นคนจ่ายค่าน้ำมันและก๊าซ คุณก็แจ้งชื่อ ที่อยู่ และเลขบัตรประชาชนของคุณเอง เพื่อขอให้สถานีบริการน้ำมันออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปให้คุณได้เลย

ดูเนื้อหาต้นฉบับ

ที่มา : https://www.sanook.com/travel/1436209/
ขอขอบคุณ : https://www.sanook.com/travel/1436209/

เรื่องที่เกี่ยวข้อง



บัตรกดเงินสด ซิตี้ เรดดี้เครดิต

บัตรเครดิต ซิตี้ ลาซาด้า

บัตรเครดิตซิตี้ แกร็บ

บัตรเครดิต ซิตี้ แคชแบ็ก แพลตตินั่ม

บัตรเครดิต ซิตี้ รีวอร์ด