รถไฟฟ้าสายสีส้มเป็นหนึ่งในโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าในระบบรถไฟฟ้ามหานคร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ดำเนินการโดย บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ภายใต้การร่วมลงทุนกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เป็นระบบรถไฟฟ้าที่มีทั้งโครงสร้างใต้ดินและยกระดับ มีแนวเส้นทางที่รองรับการเดินทางภายในเขตเมืองตามแนวตะวันออก-ตะวันตกของกรุงเทพมหานคร มีระยะทางรวมทั้งหมด 35.9 กิโลเมตร ตั้งแต่บางขุนนนท์-มีนบุรี โดยแบ่งเป็น
- สายตะวันออก จะเป็นเส้นทางภายในเขตเมืองตามแนวตะวันออก “ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)” ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10+ยกระดับ 7) โดยจะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่นอีก 3 สาย ได้แก่ สถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ เชื่อมสายสีน้ำเงิน, สถานีแยกลำสาลี เชื่อมสายสีเหลือง และสถานีมีนบุรี เชื่อมสายสีชมพู
- สายตะวันตก เส้นทาง “ศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์” ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร มีสถานีทั้งหมด 11 สถานี แนวเส้นทางในส่วนตะวันตกเป็นเส้นทางใต้ดินทั้งหมด โดยจะเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟร่วมศิริราช โรงพยาบาลศิริราช, รถไฟฟ้ามหานคร สายสีม่วง, รถไฟฟ้าบีทีเอสที่สถานีราชเทวี, รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่สถานีราชปรารภ และรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล
โดยเส้นทางในสายตะวันออก ส่วนของงานโยธา ในการออกแบบและก่อสร้างโครงสร้างส่วนใต้ดิน โครงสร้างยกระดับ อาคารจอดแล้วจร ศูนย์ซ่อมบำรุง แล้วเสร็จเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ในเกือบทุกสัญญาก่อสร้าง แต่ในส่วนของสัญญาการเดินรถ หรืองานระบบรถไฟฟ้านั้นยังไม่สามารถทำได้ เนื่องจากทางคณะกรรมการ รฟม. มีมติให้รวมงานเดินรถเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาการก่อสร้างของโครงการส่วนตะวันตก
สำหรับเส้นทางสายตะวันตก ทาง รฟม. ได้ประกาศได้ประกาศเชิญชวนเอกชนมาร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในวันที่ 24 พ.ค. 2565 และในวันที่ 27 ก.ค. 2565 มีบริษัทเอกชนยื่นเสนอ 2 รายคือ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) BEM และ ITD Group โดยประกาศผลการคัดเลือกเมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2565 และบริษัทที่ชนะการประมูลคือ BEM
ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่าการตรวจสอบสัญญาตามมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ของสำนักงานอัยการสูงสุด หากอัยการตรวจสอบสัญญาแล้วเสร็จและผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี บริษัทเอกชนสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ คาดว่าจะสามารถดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2568 ส่วนของการเดินรถนั้นมีรายงานข่าวว่า ทาง BEM จะทยอยนำขบวนรถมาทดสอบเดินรถภายใน 1 ปีครึ่งหรือ 2 ปี เพื่อให้สามารถเปิดใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออกได้ก่อน นอกจากนี้ จะปรับแผนงานการก่อสร้างส่วนตะวันตกให้รวดเร็วมากขึ้นด้วย
ดูเนื้อหาต้นฉบับ
ที่มา : https://www.sanook.com/travel/1436741/
ขอขอบคุณ : https://www.sanook.com/travel/1436741/