ในบรรดาผลงานของศิลปินระดับโลกอาจกล่าวได้ว่าภาพวาดของ วินเซนต์ แวนโก๊ะ (Vincent Van Gogh, ค.ศ.1853–1890) เป็นผลงานที่ถูกหยิบยกมานำเสนอใหม่ด้วยเทคโนโลยีมัลติมีเดียและได้รับความนิยมมากที่สุด ณ ปัจจุบันนี้มีบริษัทไม่ต่ำกว่า 5 แห่งที่จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับแวนโก๊ะในรูปแบบดิจิทัลอิมเมอร์ซีฟด้วยชื่อที่คล้ายๆ กัน กระจายการแสดงนิทรรศการไปยังหลายเมืองทั่วโลก และสำหรับนิทรรศการล่าสุดที่จัดขึ้นในประเทศไทยคือ Van Gogh Alive Bangkok โดยบริษัท Grande Experiences จากประเทศออสเตรเลีย ผู้ผลิตคอนเทนต์และเจ้าของลิขสิทธิ์นิทรรศการ Van Gogh Alive จัดแสดงมาแล้วใน 80 เมืองทั่วโลกและมีผู้เข้าชมกว่า 9 ล้านคน แต่ในประเทศไทยถือเป็นนิทรรศการที่ใหญ่ที่สุดบนพื้นที่ขนาด 4,120 ตารางเมตรของ Attraction Hall ชั้น 6 ไอคอนสยามและจัดแสดงเป็นระยะเวลา 4 เดือนตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม-31 กรกฎาคม 2566
“ชีวิตของแวนโก๊ะมีแง่มุมที่น่าสนใจที่นำมาเล่าเรื่องได้และผลงานของเขาในแต่ละช่วงเวลาสะท้อนสภาวะจิตใจตั้งแต่ผลงานตอนอยู่ที่เนเธอร์แลนด์จนกระทั่งย้ายไปปารีสและเมืองอื่นๆ ในฝรั่งเศส แม้แต่กำลังเผชิญสภาวะป่วยทางจิต เขาก็ยังคงทำงานอย่างต่อเนื่อง ภาพวาดของเขามีความพิเศษและมีสีสันหลากหลาย ทั้งภาพเหมือนตัวเอง ภาพผู้คนและภาพธรรมชาติ เมื่อเรานำภาพมาขยายเป็นฟอร์แมทที่ใหญ่ขึ้นและนำเสนอด้วยเทคโนโลยีอิมเมอร์ซีฟจึงทำให้งานน่าสนใจ” ร็อบ เคิร์ก (Rob Kirk) หัวหน้าฝ่ายนิทรรศการของบริษัท Grande Experiences กล่าว
โปรเจกต์ Van Gogh Alive เริ่มในปี ค.ศ. 2009 เมื่อทาง Grande Experiences เห็นความเป็นไปได้ในการนำภาพวาด 2 มิติของ วินเซนต์ แวนโก๊ะ มานำเสนอด้วยดิจิทัลเทคโนโลยีเพื่อเปิดประสบการณ์ใหม่ในการรับชม และให้คนได้ใกล้ชิดกับงานศิลปะมากขึ้น แต่เบื้องหลังนั้นกลับต้องใช้เวลาถึง 2 ปี ในการพัฒนาเทคโนโลยีและอุปกรณ์เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนวิธีการนำเสนอให้เหมาะสมตามสถานที่จัดแสดงที่แตกต่างกัน โดยเริ่มจัด Van Gogh Alive Touring Exhibition ครั้งแรกใน ค.ศ. 2011
“นอกจากที่กรุงเทพฯ แล้ว นิทรรศการ Van Gogh Alive ในขณะนี้มีการจัดแสดงในอีก 7 ประเทศพร้อมกัน คือ เยอรมนี อังกฤษ สหรัฐอเมริกา จีน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย แต่ที่กรุงเทพฯเป็นนิทรรศการที่ใหญ่ที่สุดในแง่ของพื้นที่นับตั้งแต่ที่เราเคยจัดมา และหวังว่าผู้ชมที่อาจจะไม่มีโอกาสได้ไปดูภาพวาดจริงในพิพิธภัณฑ์จะสนุกกับงานนี้ รวมไปถึงอาจจุดประกายให้กลุ่มคนรุ่นใหม่อย่าง Gen Y และ Gen Z สนใจอยากศึกษางานศิลปะมากขึ้น” เคิร์กกล่าว
ภาพจำของศิลปินไส้แห้งผู้จบชีวิตตัวเองหนีความทุกข์ทรมาน
วินเซนต์ แวนโก๊ะ เป็นจิตรกรชาวดัชต์ผู้สร้างสรรค์ผลงานในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 กับศิลปะแบบโพสต์อิมเพรสชันนิสม์ (Post-Impressionism) เขาเริ่มวาดรูปจริงจังในวัย 27 ปี ตลอดเวลาเพียง 10 ปี (ค.ศ.1880-1890) แวนโก๊ะวาดภาพสีน้ำมันมากกว่า 800 ภาพและภาพดรอว์อิงราว 900 ภาพ ไม่นับภาพที่ตกหล่นถูกโยนทิ้งเพราะโดนมองว่าไร้ค่าหรือเลหลังขายแบบเศษผ้าใบ ในจำนวนผลงานมากมายนี้มีเพียงภาพชื่อ The Red Vineyard ที่ขายได้เพียงรูปเดียวในราคาเพียง 400 ฟรังก์ในขณะที่เขามีชีวิตอยู่
ชีวิตของแวนโก๊ะเป็นภาพจำของศิลปินไส้แห้งผู้อาภัพรัก ผู้มีอารมณ์รุนแรงราวกับฝีแปรงพู่กันที่เขาวาด ผู้มีอาการทางจิตจนตัดหูซ้ายของตัวเองจนต้องเข้ารับการรักษาในสถาบันจิตเวช และในท้ายที่สุดเขาจบชีวิตในวัยเพียง 37 ปี โดยทิ้งปริศนาไว้ว่าเขาฆ่าตัวตายเพื่ออยากจบความทุกข์ทรมานจากอาการป่วย หรือถูกฆาตกรรมโดยเด็กวัยรุ่นที่มองว่าเขาเป็นศิลปินวิกลจริต แต่แวนโก๊ะนับเป็นตัวอย่างของศิลปินผู้อุทิศตนสร้างสรรค์งานศิลปะตามแนวทางที่เขามุ่งมั่น
Van Gogh Alive Bangkok นำผลงานของแวนโก๊ะมากกว่า 3,000 ภาพมาฉายแบบพาโนรามา 360 องศาด้วยโปรเจกเตอร์ 60 ตัว สำหรับฉายบนผนังจอสูง 6 เมตร จำนวน 40 จุด และฉายบนพื้นอีก 20 จุด พร้อมกับเพลงประกอบคลาสสิกระบบเซอร์ราวด์ไล่เรียงเรื่องราวตามไทม์ไลน์ประวัติชีวิตการทำงาน นอกจากนี้ยังมีการสร้างฉากต่างๆ จำลองให้เป็นสถานที่ตามในภาพวาดชื่อดังของแวนโก๊ะ เหมาะกับผู้ชมสายถ่ายรูป เช่น The Yellow House (1888) บ้านสีเหลืองซึ่งเขาตั้งใจให้เป็นสตูดิโอและแหล่งพำนักของเพื่อนศิลปิน หรือฉากท้องฟ้าสีเข้มที่หมุนเป็นเกลียวและต้นไซเปรสสีดำจากภาพ The Starry Night (1889) รวมไปถึงป๊อปอัพคาเฟ่ Van Gogh Café by After You ซึ่งตกแต่งคล้ายกับภาพ The Night Cafe (1888) ที่มีโต๊ะบิลเลียดตั้งอยู่ตรงกลางร้าน
“เราคาดหมายว่าตลอดระยะเวลาจัดแสดง 4 เดือน จะดึงดูดผู้ชมได้ประมาณ 1-2 แสนคน เพราะนอกจาก Gallery Hall ที่ผู้ชมจะเต็มอิ่มกับผลงานกว่า 3,000 ชิ้น เรายังเพิ่มประสาทสัมผัสด้านกลิ่นด้วยกลิ่นอโรมาปรุงเฉพาะสำหรับงานนี้ เช่น กลิ่นไม้สน ส่วนการจำลองสถานที่ต่างๆในภาพวาดที่มีชื่อเสียงของแวนโก๊ะเราให้กลุ่มนักศึกษาศิลปะคนไทยเป็นคนทำและลงสีด้วยมือไม่ได้ใช้อิงค์เจท นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมวาดรูปและ AI Room ที่เปลี่ยนรูปถ่ายเราให้กลายเป็นเหมือนภาพวาด” เดวิน หม่า (Devin Ma) ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Live Impact โปรดิวเซอร์ของงานในครั้งนี้กล่าวและแย้มว่าในปี ค.ศ. 2024 ทางบริษัทวางแผนที่จะนำนิทรรศการอิมเมอร์ซีฟของเลโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci) และ ซัลวาดอร์ ดาลี (Salvador Dali) ที่ทาง Grand Experiences ถือลิขสิทธิ์มาจัดแสดงในไทย
ไทม์ไลม์ชีวิตทำงานตลอด 10 ปีผ่านดิจิทัลอิมเมอร์ซีฟแบบ 360 องศา
วิธีการนำเสนอของ Van Gogh Alive ไม่ได้เน้นการฉายภาพและใช้ภาพแอนิแมชันในจังหวะรวดเร็วและเร้าใจแต่มีการทิ้งจังหวะให้ผู้ชมได้เห็นรายละเอียดของภาพมากขึ้น พร้อมกับสอดแทรกบางข้อความที่แวนโก๊ะกล่าวถึงสภาพแวดล้อม สภาพจิตใจ และผลงานที่เขาวาดในจดหมายกว่า 800 ฉบับที่เขาเขียนถึง เธโอ (Theo Van Gogh) น้องชายผู้สนับสนุนพี่ชายทั้งแรงใจและการเงินให้ได้เดินบนเส้นทางศิลปะ
ใน Gallery Hall ฉายภาพไล่เรียงตามไทม์ไลน์โดยใช้เวลาประมาณ 40 นาที เริ่มจากชุดภาพสเก็ตช์ขาวดำและภาพสีน้ำมันในยุคแรกของแวนโก๊ะที่เรียกว่า Dutch Period ซึ่งเขาใช้สีโทนหม่นและเขียนแนวเรียลลิสติกส์ในขณะพำนักที่เมืองนือเน่น (Nuenun) ประเทศเนเธอร์แลนด์อยู่ 2 ปี แสดงถึงความยากจนขัดสนของผู้คน เช่น ภาพคนทอผ้าในงานชื่อ Weaver (1884) และภาพคนกินมันซึ่งเป็นอาหารหลักของคนยากไร้ในภาพ The Potato Eaters (1885) ที่แวนโก๊ะเขียนถึงน้องชายว่าผลงานชิ้นนี้เป็นหนึ่งในงานที่ดีที่สุดของเขาแม้จะรู้ดีว่าคงไม่มีใครสนใจที่จะซื้อภาพแนวนี้
จากภาพสีหม่นและท่วงทำนองดนตรีที่เศร้าสร้อยเปลี่ยนเป็นภาพถ่ายเมืองปารีสในช่วงศตวรรษที่ 19 และดนตรีที่สดใสมากขึ้นเพื่อเปลี่ยนผ่านไปยังช่วงที่แวนโก๊ะย้ายไปอยู่ที่ปารีสในช่วง ค.ศ.1886–1888 และที่ปารีสเป็นช่วงเวลาที่เขาได้รู้จักกับศิลปินกลุ่มโพสต์อิมเพรสชันนิสม์ เช่น ตูลูส-ลอเทร็ก (Henri de Toulouse-Lautrec) เดกาส์ (Edgar Degas) ปีซาโร (Camille Pissarro) เซอราท์ (Georges Seurat) ซิกแนค (Paul Signac) และ โกแกง (Paul Gauguin)
เขาได้เห็นงานภาพพิมพ์ไม้ญี่ปุ่นของศิลปินญี่ปุ่นชื่อดังอย่าง คัทซึชิคะ โฮะคุไซ (Katsushika Hokusai) และ อูตางาวะ ฮิโรชิเงะ (Utagawa Hiroshige) ซึ่งมีอิทธิพลต่องานของเขา ดังเช่นภาพ Bridge in the Rain (after Hiroshige) ในปี ค.ศ. 1887 ที่เขาวาดภาพสีน้ำมันตามแบบภาพพิมพ์ไม้ชื่อ Sudden Shower Over Shin-Ohashi Bridge and Atake (1857) ของฮิโรชิเงะ และภาพ The Bedroom (1888) ซึ่งมีการจัดวางองค์ประกอบสิ่งของต่างๆ ในห้องนอนแบบแบนๆ และไม่มีเงาดังเช่นที่แวนโก๊ะบรรยายในจดหมายถึงน้องชายว่า เพื่อให้เหมือนภาพพิมพ์ญี่ปุ่น
แม้ผลงานในช่วงที่อยู่ปารีสจะมีสีสันมากขึ้น แต่ด้วยสุขภาพที่ย่ำแย่จากยาสูบและเหล้า ประกอบกับความเบื่อหน่ายความวุ่นวายของมหานคร เขาตัดสินใจออกเดินทางจากปารีสในช่วงต้นปี ค.ศ. 1888 ไปยังตอนใต้ของฝรั่งเศส โดยจุดพักแห่งแรกคือที่เมืองอาร์ล (Arles) และเกิดความประทับใจกับธรรมชาติที่สดใสยามเริ่มเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิในขณะที่ไปถึง ขณะอยู่ที่เมืองอาร์ล (ค.ศ.1888-1889) เป็นช่วงที่เขาสร้างสรรค์ผลงานที่มีชื่อเสียงต่อมามากมาย เช่น Sunflowers, Café Terrace at Night, The Langlois Bridge, The Bedroom และ The Yellow House บ้านสีเหลืองที่เขาชวนเพื่อนศิลปินคือโกแกงให้มาอยู่ด้วยกัน แต่ด้วยทัศนคติที่ขัดแย้งทำให้ทั้งคู่มีปากเสียงกันอย่างรุนแรงและทำให้แวนโก๊ะตัดหูข้างซ้ายของตัวเองซึ่งสะท้อนในภาพชื่อ Self-portrait with Bandaged Ear
สภาพจิตใจย่ำแย่แต่สร้างงานมาสเตอร์พีช The Starry Night
แวนโก๊ะเริ่มมีอาการป่วยทางจิตและมีผู้แนะนำให้เขาเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจิตเวชในเมืองแซ็งต์-เรมี (Saint-Rémy) ในช่วงกลางปี 1889 ขณะเข้ารับการบำบัดเป็นเวลา 1 ปี เขาเขียนภาพราว 150 ภาพโดยส่วนใหญ่เป็นภาพทิวทัศน์จากหน้าต่างในโรงพยาบาล และบางครั้งได้รับอนุญาตให้ออกไปเขียนภาพข้างนอกได้บ้าง ดังเช่นภาพ The Starry Night ที่เขาวาดท้องฟ้าสีเข้มลากวนเป็นก้นหอยบิดเบี้ยวพร้อมกับต้นไซเปรสสีดำรูปร่างดั่งเปลวเพลิงบ่งบอกถึงสภาพจิตใจที่หดหู่ในช่วงเวลานั้น อย่างไรก็ตามยังมีเรื่องน่ายินดีที่ทำให้แวนโก๊ะสร้างงานที่มีชีวิตชีวาชื่อ Almond Blossoms (1890) เป็นภาพต้นอัลมอนด์ออกดอกผลิบานในฤดูใบไม้ผลิกับพื้นหลังสีฟ้าเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่เขาตั้งใจวาดเพื่อรับขวัญหลานชายซึ่งเป็นลูกชายของเธโอน้องรักที่ลืมตาดูโลกเมื่อช่วงต้นปี 1890
ถัดมาเข้าสู่ช่วงวาระสุดท้ายของชีวิตเมื่อเขาย้ายไปอยู่ที่เมืองโอเวร์-ซูร์-อัวส์ (Auvers-sur-Oise) เมื่ออาการดีขึ้นและได้รับการดูแลจากหมอพอล กาเช่ต์ (Dr Paul Gachet) ซึ่งภาพเหมือนของหมอกาเช่ต์ (Portrait of Dr. Gachet) เป็นหนึ่งในภาพที่มีชื่อเสียงของแวนโก๊ะและถูกประมูลไปในราคา 82.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ. 1990 ในช่วงเวลากว่า 2 เดือนที่อยู่ในเมืองนี้ แวนโก๊ะวาดภาพราว 70 ภาพส่วนใหญ่เป็นภาพบ้านเรือน ผู้คนและโบสถ์
การนำเสนอจบลงที่เสียงปืนหนึ่งนัดกับภาพ Wheatfield with Crows (1890) ที่คาดว่าเป็นรูปสุดท้ายของแวนโก๊ะที่วาดภาพฝูงนกอีกาบินว่อนเหนือทุ่งข้าวสาลีสีเหลืองท่ามกลางท้องฟ้าขมุกขมัว แวนโก๊ะจบชีวิตในวัยเพียง 37 ปีตามที่เชื่อกันว่าเขายิงตัวเองในวันที่ 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1890 บริเวณทุ่งข้าวโดยกระสุนเข้าบริเวณช่องท้องก่อนจะพาตัวเองกลับมาที่พักและเสียชีวิตในอีก 2 วันต่อมา อย่างไรก็ตามการตายของเขายังคงเป็นปริศนามาจนถึงทุกวันนี้
จำลองฉากเด่นในภาพเขียนชื่อดังทั้งทานตะวันและบ้านสีเหลือง
โซนถัดไปเป็นจุดที่สร้างขึ้นสำหรับสายถ่ายรูปโดยเฉพาะกับการสร้างฉากต่างๆตามภาพเขียนที่มีชื่อเสียง เช่นห้องกระจกที่เต็มไปด้วยดอกทานตะวัน (พลาสติก) สะพานไม้กับฉากหลังเป็นภาพท้องฟ้าปั่นป่วนและต้นไซเปรสบิดเบี้ยวอย่างในภาพ The Starry Night และกองฟางเหมือนอย่างในภาพ Noon – Rest from Work (after Millet) (1890) ที่แวนโก๊ะวาดตามอย่างภาพ Noonday Rest (1866) ของ Jean-François Millet ซึ่งเป็นภาพคนคู่หนึ่งนอนพักที่กองฟางในช่วงเวลากลางวันหลังเหนื่อยล้าจากการทำงาน
นอกจากนี้ยังมีการสร้างอาคารทาสีเหลืองเหมือนอย่างบ้านในภาพ The Yellow House เพื่อเป็นห้องสำหรับกิจกรรมต่างๆ เช่น ห้องที่ให้ผู้เข้าชมวาดภาพ 2 ภาพคือ The Starry Night และ The Bedroom ตามวิดีโอสาธิต และห้องเรียนศิลปะวาดภาพแบบแวนโก๊ะด้วยสีอะคริลิกโดยสตูดิโอสอนศิลปะ Factory Art Center (มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม) และปิดท้ายด้วย Van Gogh Shop โซนขายของที่ระลึกที่หลายชิ้นจัดทำเป็นพิเศษสำหรับนิทรรศการที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะ เช่น กระเป๋าสานพิมพ์ลายภาพเหมือนของแวนโก๊ะกับภาพสัญลักษณ์ไอคอนิกของประเทศไทยอย่าง วัดพระแก้ว รถตุ๊กตุ๊ก และยักษ์วัดโพธิ์
Fact File
- Van Gogh Alive Bangkok จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม-31 กรกฎาคม 2566 ณ Attraction Hall ชั้น 6 ไอคอนสยาม
- ซื้อบัตรเข้าชมได้ที่ Thai Ticket Major ราคาบัตร VIP 1,490 บาท (พร้อมของที่ระลึกที่ไม่มีจำหน่าย), บัตรทั่วไป 990 บาท, บัตร Early Bird 690 บาท (ใช้ได้ถึง 30 เม.ย. 2566) และบัตรนักเรียน/นักศึกษา 480 บาท
- รายละเอียดเพิ่มเติม โทร.1338 หรือ Facebook: ICONSIAM
ดูเนื้อหาต้นฉบับ
ที่มา : https://www.sanook.com/travel/1437191/
ขอขอบคุณ : https://www.sanook.com/travel/1437191/