Isan Creative Festival 2023 กลับมาอีกครั้งในจังหวัดขอนแก่น โดยปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 3 แม้ว่าตัวงานจะเกิดขึ้นในย่านกังสดาลและย่านศรีจันทร์ สองย่านเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดขอนแก่น แต่ความตั้งใจของ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ไปจนถึงเหล่านักสร้างสรรค์คือการขับเคลื่อนท้องถิ่นอีสาน และมองหาโอกาสในการต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสานในระดับภูมิภาค ฉะนั้นเราเลยจะได้เห็นการปล่อยไอเดียจากนักออกแบบและนักสร้างสรรค์ที่ไม่ได้จำกัดแค่จังหวัดขอนแก่น แต่มาจากทั้ง 20 จังหวัดในภูมิภาคอีสาน แต่ละคนก็นำโชว์เคสและกิจกรรมมาให้ร่วมสนุกกว่า 300 โปรแกรม
คอนเซปต์ของเทศกาล Isan Creative Festival 2023 ปีนี้คือ “Regional (enlight) sation เติมเต็มถิ่นฐาน ตื่มบ้านตื่มเมือง” ซึ่งคำว่า ตื่ม ภาษาอีสานหมายถึง การเติมเต็ม ในที่นี้โฟกัสไปที่การยกระดับ 3 อุตสาหกรรมหลัก คือ อุตสาหกรรมอาหารที่ให้ความสำคัญกับข้าว อุตสาหกรรมบันเทิงที่โดดเด่นในเรื่องหมอลำและภาพยนตร์ ส่วนอีกด้านคือหัตถกรรมและงานฝีมือที่ฉายโฟกัสไปถึงงานสานและงานทอเป็นหลัก
แม้สามด้านนี้จะเป็นเสมือนภาพจำของเมืองอีสานที่เราคุ้นเคย แต่หากมองถึงมิติต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ก็ยังมีโอกาสอีกมากที่สามารถต่อยอดไปสู่ความร่วมสมัยที่ยกระดับไปถึงเวทีสากลได้ คำว่า “เติมเต็มถิ่นฐาน ตื่มบ้านตื่มเมือง” จึงเป็นการมองหาช่องว่างที่อาจไม่เคยถูกมองเห็นของอัตลักษณ์เหล่านี้ เพื่อขยายออกแล้วเติมเต็มลงไปด้วยความสร้างสรรค์ที่ไม่ได้จำเป็นต้องมาจากดีไซเนอร์เพียงเท่านั้น แต่เกิดจากความร่วมมือของคนในท้องถิ่นหลากหลายอาชีพด้วยเช่นเดียวกัน และนี่คือพิกัดกิจกรรมที่เราอยากชวนทุกคนไปตามรอยด้วยกัน
กิจกรรมแรกที่น่าสนุกโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่ยังไม่มีแพลนการเดินทาง เพราะ Connect Places with Friendly Routes ได้รวบรวมพิกัดร้านกินท้องถิ่นแทรกด้วยจุดเช็กอินสายศิลปะที่น่าสนใจไว้ในแผนที่อย่างครบครัน แบ่งเป็น Friendly Route เส้นทางในย่านศรีจันทร์ที่ห่างกันไม่กี่ก้าวเดิน Early Bird Route เส้นทางของคนตื่นเช้าและ Nightlife Route เส้นทางสำหรับสายปาร์ตี้ในตอนกลางคืน โดยที่แต่ละจุดจะมีงานศิลปะกระจายอยู่ ผ่านจุดไหนสามารถแสตมป์ประทับตราเพื่อเช็คอินได้ หรือจะแวะไปส่องพิกัดจากเวอร์ชัน Google Map เขาก็รวบรวมไว้ให้พร้อมแล้ว bit.ly/3MbJLhV
พิกัดหลักในย่านกังสดาลคือพื้นที่ของ TCDC ขอนแก่น ที่ต้อนรับเราด้วยความม่วนของรถ “หมอลำบัส” กันตั้งแต่ด้านหน้า เปิดไปสู่ตัวอาคารชั้น 1 อันเป็นที่จัดแสดงนิทรรศการ “หมอล้ำ หมอลำ” เปิดประวัติหมอลำตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เปิดประสบการณ์ด้วยการฟังเพลงหมอลำ 12 เพลงไล่ตั้งแต่ยุคดั้งเดิมจนถึงหมอลำที่มีความร่วมสมัยมากขึ้น ก่อนนำเข้าสู่เนื้อหาแน่นๆ ที่ถ่ายทอดท่ามกลางบรรยากาศจำลองเสมือนฉากหลังของเวที ฉายภาพหมอลำในทุกมิติรวมถึงภาพโอกาสการเติบโตสู่ตลาดสากลในฐานะ Soft Power ที่ไม่เพียงแต่หมอลำแต่หมายรวมถึงเครื่องดนตรีอีสาน อาทิ พิณ แคน ที่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของวงดนตรีที่หลากหลายได้
ชั้น 2 นิทรรศการ ยากให้ตายต้องได้ย้อม นำโดย แก้งค์ถิ่นนิยม ที่มีหัวเรืออย่าง มล-จิราวรรณ คำซาว และ แพรี่พาย-อมตา จิตตะเสนีย์ ที่ย่นย่อ “ถิ่นนิยม-คลาสรูม” มาไว้ใน 4 สเตชัน ผู้ชมจะได้รู้จักต้นกำเนิดของสีตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ เริ่มตั้งแต่ทำความเข้าใจว่าความหลากหลายทางชีวภาพสัมพันธ์กับสีที่สวยงามอย่างไร ในประเทศไทยมีวัตถุดิบธรรมชาติที่ให้เฉดสีอะไรบ้าง ไปจนถึงตัวอย่างผลงานสีธรรมชาติตั้งแต่ภาคเหนือ อีสาน จรดภาคใต้ ที่ทำให้เห็นถึงโอกาสที่สี เส้นใยธรรมชาติ และเทคนิคเฉพาะตัวของช่างพื้นถิ่น จะสามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในภาคธุรกิจที่ร่วมสมัยได้อย่างไร จุดนี้หากใครยังนึกภาพไม่ออกหรืออยากทดลองด้วยตัวเอง สามารถไปเข้าร่วมเวิร์กช็อปผสมสีและลองวาดด้วยสีธรรมชาติกันได้เลยที่ลานด้านล่าง
ไฮไลต์ของโซน TCDC ขอนแก่น ที่สนุกมากคือนิทรรศการ รสชาติข้าวอีสาน ที่จะชวนทุกคนไปสำรวจข้าว 40 สายพันธุ์ นิทรรศการนี้นำเสนอคาแรกเตอร์ของข้าวที่ได้ไอเดียมาจาก Flavor Wheel ของกระบวนการชิมกาแฟหรือไวน์ แต่ครั้งนี้คนกินข้าวอย่างเราๆ จะได้สัมผัสตั้งแต่รูป รส และกลิ่นของข้าว นอกจากนี้ยังนำเสนอไอเดียการแปรรูปที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ภาพของข้าวที่เป็นอาหารหลัก แต่สามารถต่อยอดไปสู่ธุรกิจด้านอื่นๆ ที่ดึงคาแรกเตอร์และคุณภาพของข้าวในแต่ละสายพันธุ์ออกมาใช้ได้เต็มศักยภาพมากขึ้น จุดนี้มีเวิร์กช็อป “เบลนด์ข้าว” โดย กลุ่มชาวนาไทอีสาน นำโดย ตุ๊หล่าง-แก่นคำกล้า พิลาน้อย เกษตรกรลูกอีสานวัย 40 ปีที่มีเป้าหมายในอาชีพและการพัฒนาพันธุ์ข้าวให้ทุกคนมีสิทธิ์ปลูกและสามารถเลี้ยงชีวิตได้ จุดเริ่มต้นง่ายๆ เราจะได้เรียนรู้ผ่านกระบวนการ “ดู ดม เคี้ยว อม กลืน” เพื่อทำความรู้จักกับข้าวแต่ละสายพันธุ์ อาทิ ข้าวเหนียวขาวบริสุทธิ์ ข้าวฮางงอก ข้าวเจ้าหอมเวสสันตะระ ข้าวเหนียวศรีถาวรแดงและข้าวเหนียวคนึงนิตย์ ว่าแต่ละตัวมีจุดเด่นอย่างไร และควรจะผสมอย่างไรเพื่อให้ได้รสสัมผัสและประโยชน์ที่เหมาะกับตนเอง
ต่อยอดไปสู่กิจกรรม Rice Pairing ที่โรงแรม Avani และร้านแก่น หัวใจหลักของกิจกรรมนี้คือการยกระดับข้าวไปสู่เมนูที่ร่วมสมัย ยกตัวอย่างเมนูพิเศษจากอวานี “เป็ดย่างซอสข้าวก่ำ” เมนูนี้นำข้าวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเมนูอาหารจีนในรูปแบบของซอส ส่วนเมนูอีสานก็ไม่น้อยหน้าเสิร์ฟมาด้วยเมนูลาบปิ้งอีสานกับข้าวคั่วข้าวก่ำ ใครสนใจสามารถไปลองชิมกันได้ตั้งแต่วันที่ 1-9 เมษายน 2566 นี้
พิพิธภัณฑ์ธนารักษ์
อย่างที่บอกว่าปีนี้ทางเทศกาลให้ความสำคัญกับ ข้าว อีกหนึ่งมิติจึงเป็นการนำเสนอประสบการณ์ใหม่ควบคู่ไปกับดนตรีหมอลำ ในกิจกรรมที่ชื่อว่า Isan Music Pairing โดยจะเป็นการจับคู่ดนตรีหมอลำ 5 สไตล์กับ 5 ร้านอาหารในเมืองขอนแก่นที่จะมาร่วมครีเอตเมนูและเครื่องดื่มสไตล์อีสาน อย่างคู่ที่เราได้ลองมีชื่อว่า “อีสานฟิวชัน” ที่เกิดจากฟิวชันสองสาขานั่นคือเมนู “ขนมผักกาดข้าวก่ำอีสาน” จากโรงแรม Avani ที่มาเจอกับวงดนตรีอีสานคลาสสิคอย่าง “หมาเก้าหาง” นอกจากนี้ยังเอนเตอร์เทนต์ต่อเนื่องด้วยฝั่งภาพยนตร์ที่เป็นการเปิดพื้นที่ให้กับหนังเชิงทดลองได้มาร่วมเปิดประสบการณ์ฉายพร้อมไลต์ติ้งในครั้งนี้ด้วย ที่กล่าวมาเป็นเพียงกิจกรรมภาคค่ำ แต่หากใครมาช่วงกลางวันก็ยังสามารถเยี่ยมชมโชว์เคสภายในอาคารได้ อาทิ นิทรรศการ Locating the Locals โดย PTT ที่หยิบเอาเทคโนโลยี AR และ VR มาใช้เพื่อประกอบการรับชม
ชุมชนเจ้าพ่อขุนภักดี
อีกหนึ่งสีสันของงานคือ “ชุมชนเจ้าพ่อขุนภักดี” อดีตย่านที่เจริญที่สุดของขอนแก่นเมื่อราว 50 ปีก่อน พรชัย แก้วกุลชัย ประธานชุมชนเล่าย้อนถึงความรุ่งเรืองของย่านนี้ว่าอดีตเคยเป็นพื้นที่ที่มีโรงภาพยนตร์ถึง 3 โรงเลยกลายเป็นที่รวมตัวของเหล่าวัยรุ่น ขณะเดียวกันก็มีชื่อเสียงในนามตลาดผ้าที่ใหญ่ที่สุดรายล้อมไปด้วยห้องเสื้อและร้านผ้าม่านที่ปัจจุบันยังคงหลงเหลืออยู่ แต่ปรับเปลี่ยนเป็นบ้านที่อยู่อาศัยกันมากกว่า และเพื่อป๊อปอัพสีสันของย่านให้กลับคืนมาช่วงเทศกาล (และต่อยอดหลังจากจบงาน) ร้านและอาคารภายในชุมชนจึงปรับพื้นที่จัดโชว์เคสและนิทรรศการเกี่ยวกับงานผ้า แต่ที่น่าสนใจคือนิทรรศการที่นำเอาความคลาสสิกของเครื่องมืออุปกรณ์การทำมาค้าขายของคนในย่านที่ยังหลงเหลืออยู่มาจัดแสดงเป็นผนัง Hidden Items เพื่อสะท้อนถึงความเป็นมาและเรื่องราวที่ซ่อนอยู่ของย่านนี้
ม๊าเดี่ยว-อภิเชษฐ์ เอติรัตนะ แฟชั่นดีไซเนอร์เป็นอีกคนที่ได้เข้ามาร่วมครีเอตชุดคอลเลกชันพิเศษจากวัสดุในย่านโดยเฉพาะร้านผ้าม่าน แต่ที่เราอยากชวนดูคือแฟชั่นเซ็ตที่นางแบบนายแบบไม่ใช่ใครที่ไหนแต่ชวนอาม่าคุณยายมาร่วมเดินแฟชั่นด้วยกันอย่างมีชีวิตชีวา เช่นเดียวกันกับแววตาและน้ำเสียงภูมิใจของ นภัสธวัล พรพิรุณโรจน์ เจ้าของร้านฟ็อกซ์ ห้องเสื้อกาวน์หนึ่งเดียวในจังหวัดขอนแก่นที่ปรับตัวเปลี่ยนผ่านตามยุคสมัยจากห้องเสื้อสั่งตัดที่มีนางงามตู้กระจกเป็นลูกค้าประจำ แต่เมื่อมีเสื้อสำเร็จรูปเข้ามาพร้อมกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ราว พ.ศ.2544 เธอจึงมองหาลู่ทางใหม่ด้วยใจรักในการตัดเสื้อทำให้ตอนนี้ลูกค้าประจำกลายเป็นคุณหมอที่มาจากจังหวัดใกล้เคียงด้วย นั่นทำให้เห็นว่าจริงๆ แล้วเสน่ห์และเอกลักษณ์ประจำย่านยังคงมีชีวิตอยู่ จากจุดนี้สามารถเดินไปยัง ตึกแก่น เพื่อชมโชว์เคสจากโครงการเกษตรปังพลังคิดและมักหมักที่มาจัดแสดงผลิตภัณฑ์อีสานที่ต่อยอดต้นทุนมาจากภูมิปัญญาดั้งเดิมบริเวณชั้น 1 ต่อได้อีกด้วย
Fact File
เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ หรือ Isan Creative Festival จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-9 เมษายน พ.ศ.2566 ย่านกังสดาลและย่านศรีจันทร์ จังหวัดขอนแก่น รายละเอียดเพิ่มเติมเว็บไซต์ www.isancreativefestival.com/isancf2023
ดูเนื้อหาต้นฉบับ
ที่มา : https://www.sanook.com/travel/1437283/
ขอขอบคุณ : https://www.sanook.com/travel/1437283/