พัทลุง เป็นอีกหนึ่งจังหวัดของภาคใต้ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางด้านการท่องเที่ยว ทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ อาหารการกิน รวมไปถึงศิลปะวัฒนธรรมที่เด่นชัด กลายเป็นจุดดึงดูดให้นักเดินทางจากทั่วทุกสารทิศเดินทางมาที่นี่
ในจำนวนนั้นมีหนึ่งในงานประเพณีพิธีกรรมที่มีความโด่งดังและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของจังหวัดพัทลุง ที่เราเองอยากจะมาเห็นด้วยตาตัวเองสักครั้งมานานแล้ว นั่นก็คืองาน “โนราโรงครู” งานไหว้ครูโนราและรำลึกถึงบรรพบุรุษ ซึ่งเป็นงานพิธีกรรมที่เข้มขลัง และสะท้อนให้เห็นถึงความสวยงามทางศิลปะการรำโนราของเมืองพัทลุงต้นกำเนิดแห่งโนรา ซึ่งได้ถูกยกเป็นมรดกโลกทางศิลปะวัฒนธรรมจาก UNESCO
งานประเพณีโนราโรงครูนี้จะถูกจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในทุก ๆ วันพุธ-ศุกร์ที่ 2 ของเดือน 6 ตามจันทรคติ ที่วัดท่าแค ในเขตอำเภอเมืองพัทลุง ซึ่งที่วัดท่าแค่แห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานของพ่อขุนศรีศรัทธาหรือเทพสิงหล ปฐมโนราเมืองพัทลุง จึงได้ยกให้วัดแห่งนี้เป็นต้นกำเนิดแห่งโนราเมืองพัทลุงด้วย
บรรยากาศภายในงานนั้นจะมีพ่อค้าแม่ค้ามาออกร้านขายของสร้างความคึกคักกันภายในงาน รวมถึงมีลูกศิษย์ลูกหา รวมไปถึงผู้ที่มีสายเลือดโนราเดินทางเข้ามาร่วมงานกันเป็นจำนวนมากนับพันคนในตลอดช่วงระยะเวลา 4 วัน 4 คืน
พิธีกรรมในครั้งนี้เราได้พบกับคุณ เกรียงเดช นวลระหงษ์ ครูโนราชื่อดังแห่งเมืองพัทลุงที่เป็นผู้ดำเนินพิธีกรรมในครั้งนี้ และได้มีโอกาสได้ร่วมพูดคุยถึงประวัติความเป็นมาและจุดประสงค์ของการจัดงานในแต่ละปี
สำหรับจุดประสงค์ในการจัดงานโนราโรงครูนั้น จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีเพื่อสืบสานวัฒนธรรมอันเปรียบดั่งจิตวิญญาณของชาวพัทลุง รวมไปถึงเคารพบูชาแก่ครูตายายโนราและบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ
โดยในตำนานการกำเนิดโนรานั้นสันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยยุคศรีวิชัยเรืองอำนาจในเขตภาคใต้ โดยผู้เฒ่าผู้แก่เล่ากันว่า เจ้าเมืองพัทลุงในยุคนั้นคือพระยาสายฟ้าฟาดมีลูกสาวชื่อว่านวลทองสำลี ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นอย่างมากในเรื่องของการร่ายรำ อยู่มาวันหนึ่งนางนวลทองสำลีได้เกิดตั้งครรภ์ขึ้นโดยที่ยังไม่แต่งงานและไม่มีสามี พระยาสายฟ้าฟาดโกรธมากจึงได้นำตัวนางศรีมาลาไปลอยแพในทะเล (คาดว่าเป็นทะเลสาบสงขลา) และนางได้ลอยไปจนติดอยู่ฝั่งเกาะใหญ่ และได้ให้กำเนิดบุตรชายมีชื่อว่าเทพสิงหล
จากนั้นนางก็ได้เลี้ยงดูและสอนการร่ายรำให้กับเทพสิงหลจนเติบใหญ่และเก่งกาจในด้านการร่ายรำจนเป็นที่เลื่องลือไปถึงในเมืองพัทลุง พระยาสายฟ้าฟาดจึงได้สั่งให้พาตัวเทพสิงหลเข้ามาในวังเพื่อถวายการร่ายรำโดยไม่รู้ว่านั่นคือหลานชายของตัวเอง
ด้วยการร่ายรำที่อ่อนช้อยสวยงามของเทพสิงหลทำให้เป็นที่ถูกใจของพระยาสายฟ้าฟาดเป็นอย่างมากจึงถอดเครื่องแต่งกายกษัตริย์ที่ใส่อยู่มอบให้แก่เทพสิงหลและกล่าวว่า “เครื่องแต่งกายกษัตริย์ชุดนี้มอบให้เป็นเครื่องแต่งกายของโนรานับแต่นี้เป็นต้นไป”
หลังจากนั้นเทพสิงหลจึงได้เฉลยความจริงว่าแท้จริงแล้วตนคือหลานของพระยาสายฟ้าฟาดนั่นเองพระยาสายฟ้าฟาดจึงรับโนราไว้ในราชสำนัก และให้สิทธิแต่งกายเหมือนกษัตริย์ทุกประการ และยกให้เทพสิงหลเป็นปฐมโนรานับตั้งแต่นั้นมา
โดยคุณเกรียงเดช นวลระหงษ์ ได้ให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจในเรื่องของการที่โนราได้ถูกยกให้เป็นมรดกโลกของ UNESCO ว่า “โนรานั้นเปรียบเสมือนที่ดินผืนหนึ่ง ที่ลูกหลานโนราได้หากินทำกินบนที่ดินผืนนี้โดยไม่มีโฉนด เมื่อถึงวันหนึ่งที่ทาง UNESCO ได้ยกให้โนราเป็นมรดกแล้ว ก็เหมือนกับว่าโนรากลายเป็นที่ดินที่มีโฉนดถูกต้อง ไปที่ไหนก็ได้รับการยอมรับ”
สำหรับพิธีกรรมภายในงานที่เราได้ไปเยี่ยมชมในช่วงวันที่ 5-6 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมานี้ จะมีทั้งการรำแก้บน ที่เชื่อกันว่าหากมาบนบานกับครูโนราภายในงานแล้วหากได้ตามที่บนไว้จะต้องมาทำการรำแก้บนในปีถัดมาเพื่อความเป็นสิริมงคลในชีวิต นอกจากนี้ยังมีการรำคล้องหงส์ และ รำแทงเข้ เพื่อบูชาและระลึกถึงครูบาอาจารย์ด้วย รวมไปถึงการเหยียบเสน เพื่อรักษาแก่เด็กๆ ที่เจ็บป่วย
บรรยากาศภายในงานต้องบอกเลยว่าดูศักดิ์สิทธิ์และเข้มขลังมากๆ ภายในโรงครูจะถูกตั้งโต๊ะหมู่บูชาพร้อมเครื่องเซ่นไหว้ บายศรี พร้อมกับเทริด (ชฎาโนรา) และหน้ากากพรานบุญ ที่เป็นส่วนประกอบของพิธี เมื่อได้เข้าไปสัมผัสแล้วรู้สึกขนลุกมากจริง ๆ
แต่นอกจากความขลังของพิธีแล้วอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับเลยว่าทำให้เราประทับใจจริงๆ ก็คือความสวยงามของพิธีกรรม การร่ายรำ ชุดแต่งกาย และ ขั้นตอนในการทำพิธีแก้บน ที่ถือเป็นประสบการณ์ใหม่ครั้งแรกที่เราได้มาเห็น
เรียกได้ว่านี่คือหนึ่งในงานประเพณีที่งดงาม และมีเอกลักษณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทยเลยก็ว่าได้ ในปีหน้าหากมีโอกาสอยากให้ทุกคนได้ลองมาชมกันครับ
ดูเนื้อหาต้นฉบับ
ที่มา : https://www.sanook.com/travel/1437655/
ขอขอบคุณ : https://www.sanook.com/travel/1437655/