ตะลึง! “กาดช้างเผือก” ตลาดสดเก่าแก่ชื่อดังกลางเมืองเชียงใหม่ประกาศขาย ราคา 400 ล้านบาท แม่ค้าเผยเจ้าของอยากขายมานานแล้วแต่คาดว่าเนื่องจากราคาสูงลิ่วและเศรษฐกิจไม่ดีทำให้ยังไม่คนมาซื้อ ทั้งนี้ไม่ทราบเหตุผลที่อยากขาย แต่เชื่อไม่ได้เดือดร้อนเรื่องเงิน เพราะเจ้าของร่ำรวยระดับมหาเศรษฐีอยู่แล้ว ขณะที่จากการสืบค้นประวัติตลาดพบเป็นของตระกูลดังเชียงใหม่
รายงานจากจังหวัดเชียงใหม่แจ้งว่าพบผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์ประกาศขายตลาดสดช้างเผือก หรือ “กาดช้างเผือก” ซึ่งเป็นตลาดสดเก่าแก่ที่ตั้งอยู่กลางเมืองเชียงใหม่ ใกล้ประตูช้างเผือก ในราคา 400 ล้านบาท โดยรายละเอียดระบุว่า “ตลาดช้างเผือก….ตำนานเมืองเชียงใหม่ 4 ไร่ 58 ตารางวา รายได้ระยะยาวจากการเช่า ปัจจุบันประมาณ 450,000++ ต่อเดือน จำนวน 25 อาคาร พร้อมแผงลอยในตลาด พิกัด:https://goo.gl/maps/KNszpBuDgP6Sz5mp9 ผังเมือง : สีแดง ราคา 400 ล้าน ค่าโอนคนละครึ่ง (สนใจต่อรองกับเจ้าของโดยตรง) รายละเอียดเพิ่มเติม inbox หรือ โทร/ไลน์ 081 946 xxxx บจก.ซีพีเอ็น คอร์ป” โดยโพสต์ดังกล่าวมีผู้ให้ความสนใจเข้าไปแสดงความคิดเห็นและแชร์ต่อเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้จากการสังเกตการณ์ที่บริเวณตลาดช่วงสายวันนี้พบว่า ร้านค้าและแผงขายของในตลาด ยังมีการเปิดขายตามปกติ แต่เหลือเพียงไม่กี่ร้าน เนื่องจากตลาดแห่งนี้เปิดขายในช่วงเช้าเป็นหลัก จากนั้นในช่วงสายตลาดจะค่อยๆ วาย ขณะที่จากการสอบถามแม่ค้าในตลาด บอกว่า เรื่องที่เจ้าของตลาดประกาศขายตลาดสดแห่งนี้ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่แต่อย่างใด เพราะเท่าที่ทราบว่าทางเจ้าของตลาดอยากที่จะขายมานานหลายปีแล้ว แต่เข้าใจว่าอาจจะเป็นเพราะราคาขายที่สูงหลายร้อยล้าน และเศรษฐกิจไม่ดีด้วย ทำให้ยังไม่มีผู้ใดมาซื้อ ส่วนเหตุผลที่อยากขายนั้น ไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าน่าจะไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องเงิน เพราะเจ้าของเป็นกลุ่มคนที่มีฐานะร่ำรวยระดับมหาเศรษฐีอยู่แล้ว
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า จากความพยายามติดต่อเจ้าของตลาดผ่านคนกลางเพื่อขอพูดคุยสอบถามเรื่องการประกาศขายตลาดนั้น ปรากฏว่าทางเจ้าของตลาดไม่สะดวกที่จะพูดคุยให้ข้อมูลใดๆ ขณะที่ประวัติความเป็นมาของตลาดสดช้างเผือกนั้น ตามข้อมูลอ้างอิงจากหนังสือ “เชียงใหม่สะปะเรื่องตะวา” ตีพิมพ์เมื่อปี 2543 และหนังสือ “ประวัติชุมชนในเมืองเชียงใหม่ (สังคมเมืองเชียงใหม่ เล่ม 10) ตีพิมพ์เมื่อปี 2550 ที่เขียนโดยพันตำรวจโทอนุ เนินหาด ระบุว่า ตลาดประตูช้างเผือก เป็นอีกหนึ่งตลาดเก่าแก่ของเชียงใหม่ เดิมเป็นกรรมสิทธิ์ของ หลวงสำเริงณรงค์ หรือนายทองคำ รัตนัย ด้านในเป็นตลาด ด้านนอกที่ติดกับถนนช้างเผือกสร้างเป็นห้องแถวไม้ชั้นเดียวให้เช่า ประมาณ 10 หลัง
บ้านของหลวงสำเริงณรงค์อยู่ถัดจากตลาดไปทางทิศเหนือบริเวณธนาคารออมสินติดโรงเรียนโกวิทธำรงในปัจจุบันนี้ เดิมเป็นย่านการค้าที่มีกลุ่มพ่อค้าจากทางเหนือนำของพื้นเมืองต่างๆ มาวางขายร่วมกับคนในชุมชนย่านช้างเผือกซึ่งเป็นที่รวมของชุมชนหลากหลายเชื้อชาติเช่นเดียวกับย่านอื่นๆ คือมีทั้งชาวจีน คนเมือง คนไทยใหญ่ และมุสลิม ความหลากหลายของผู้คนเหล่านี้เห็นได้จากศาสนสถานซึ่งเป็นสถานที่ทำบุญของแต่ละชุมชนที่ยังคงอาศัยอยู่จนถึงทุกวันนี้ เช่น กลุ่มคนเมืองและคนจีนไปวัดเชียงยืน คนไทยใหญ่ไปวัดป่าเป้า ส่วนคนมุสลิมก็มีมัสยิดเป็นศูนย์รวมจิตใจอยู่ในชุมชน ชุมชนมุสลิมแห่งนี้เพิ่งจะมาตั้งอยู่ที่นี่ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จากความหลากหลายของชุมชนทำให้ตลาดแห่งนี้มีกลิ่นอายของความเป็นตลาดนานาชาติโดยเฉพาะช่วงปี พ.ศ.2500 – 2530 และยังมีกลุ่มคนชาวเขาจากทางตอนเหนือของเชียงใหม่ (อ.แม่ริม) ได้นำผลิตผลทางกรเกษตร ของใช้และ เสื้อผ้าแบบชาวเขา มาจำหน่ายด้วย
ตลาดประตูช้างเผือกถูกเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ต่อให้ตระกูลตันตรานนท์ ซึ่งซื้อจากหลวงสำเริงณรงค์ผ่านทางธนาคารไทยพาณิชย์เมื่อปี พ.ศ.2503 ราคาขณะนั้นประมาณ 6 แสนบาท เนื้อที่ 4 ไร่ 50 ตารางวา สมัยนั้นเป็นตลาดเล็กๆ บางส่วนเป็นนาข้าว ด้านทิศใต้ทางคูเมืองเชียงใหม่เป็นลำเหมืองกว้างใกล้ต้นฉำฉาในปัจจุบัน ต่อมาเทศบาลถมที่และทำเป็นตลาดขายอาหารในเวลากลางคืน ส่วนด้านหน้าติดกับถนนช้างเผือกก็เป็นร่องน้ำ ต่อมาปรับเป็นทางเดินเท้า ด้านทิศตะวันตกแบ่งทำกิจการปั๊มน้ำมันคาลเท็กซ์เมื่อปี พ.ศ.2506 จนปี พ.ศ.2509 จึงสร้างตึกแถวด้านข้างและด้านหน้าตลาด รวม 23 ห้องให้เช่า ปัจจุบันตลาดช้างเผือกบริหารในนามของ ห้างหุ้นส่วนสามัญ นิติบุคคลตลาดช้างเผือก มีหุ้นส่วนลูกหลานตระกูลตันตรานนท์รวม 17 คน ซึ่งตลาดช้างเผือกเปิดทำการสองช่วงเวลาหลักคือ ช่วงเช้าเริ่มเปิดตลาดตั้งแต่เวลาประมาณ 03.00 -10.00 น. และช่วงเย็นเวลาประมาณ 17.00 น. เป็นต้นไป
โดยช่วงเช้าลูกค้าส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าขายปลีกและกลุ่มที่ทำอาหารขาย ซึ่งมีทั้งอาหารสดและอาหารสำเร็จรูป ส่วนหนึ่งขายกันแบบยกโหล เช่น แคบหมู โจ๊ก บะหมี่ และก๋วยจั๊บ รวมทั้งอาหารสดเช่น หมู ไก่ และเนื้อ แม่ค้าจะทำเป็นห่อเล็กๆ ใส่ถุงๆ ละ 12 ห่อ ผู้ซื้อจะนำไปขายให้กลุ่มคนงานที่เข้าทำงานซึ่งมีทั้งคนงานก่อสร้างและคนงานเก็บลำไย เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกลุ่มลูกค้าที่เป็นคนท้องถิ่นที่อาศัยย่านช้างเผือกที่มาหาวัตถุดิบประกอบอาหารในครัวเรือน กลุ่มคนทำงาน และกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งแบบมาเดินเที่ยวเองและแบบมาเที่ยวตามรายการท่องเที่ยวของบริษัททัวร์ ส่วนช่วงเย็น เป็นร้านรถเข็นเปิดขายบริเวณลานด้านหน้าตลาดซึ่งเปิดขายแบบโต้รุ่ง จึงเป็นที่นิยมของกลุ่มนักท่องเที่ยวยามราตรีและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ อาหารที่ขึ้นชื่อคือ ขาหมูช้างเผือกหรือ ขาหมูคาวบอย ซึ่งผู้ขายมีการแต่งตัวแบบคาวบอยเพื่อสร้างเสน่ห์ในการขาย
นอกจากนี้อาชีพหนึ่งที่เคยเป็นอาชีพหลักของชาวไทยใหญ่ในแถบนี้คือ การทำหนังปอง หรือหนังพอง ที่นิยมรับประทานแกล้มกับขนมจีนน้ำเงี้ยว หนังปองมีลักษณะคล้ายแคบหมูทำจากหนังวัว ในขณะที่แคบหมูทำจากหนังหมู ปัจจุบันอาชีพนี้ไม่ได้พบว่ามีการผลิตขึ้นในชุมชนย่านช้างเผือกแล้ว.
ดูเนื้อหาต้นฉบับ
ที่มา : https://www.sanook.com/travel/1442251/
ขอขอบคุณ : https://www.sanook.com/travel/1442251/