ประเทศไทยประกาศยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยวให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางสัญชาติจีนและคาซัคสถาน (ผ.30) เป็นการชั่วคราวตามนโยบายรัฐบาล โดยเริ่มต้นตั้งแต่ 25 กันยายน 2566 – 29 กุมภาพันธ์ 2567 เร่งกระตุ้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยสู่เป้าหมายรายได้ 2.38 ล้านล้านบาทในปี 2566
ตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นำโดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 13 กันยายน 2566 ได้เห็นชอบมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวระยะเร่งด่วน โดยยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมการเดินทางเข้าราชอาณาจักรของนักท่องเที่ยวสัญชาติจีนที่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวเป้าหมายหลักของไทย และสัญชาติคาซัคสถานที่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวตลาดใหม่ที่มีศักยภาพในการเติบโตในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว เพื่อช่วยเพิ่มรายได้ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทย ถือเป็นนโยบายเร่งด่วนแรกของคณะรัฐมนตรี โดยมีมติให้ยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยวให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางสัญชาติจีนและคาซัคสถานซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกิน 30 วัน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2566 – 29 กุมภาพันธ์ 2567 คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยเร่งเครื่องอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ของปี 2566 และส่งผลดีถึงต้นปี 2567
นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า นักท่องเที่ยวตลาดจีนถือเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของประเทศไทย โดยยังมีการฟื้นตัวอยู่ที่ประมาณร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับช่วงปี 2562 และเป็นตลาดใหญ่ที่มีศักยภาพการเติบโตสูงทั้งด้านรายได้และจำนวนนักท่องเที่ยว ทั้งนี้เชื่อมั่นว่ามาตรการยกเว้นการตรวจลงตราจะเป็นแรงส่งช่วยพลิกฟื้นการเติบโตของตลาดนักท่องเที่ยวจีนให้กลับมาอีกครั้ง โดยคาดการณ์ว่า ตลอดช่วงระยะเวลา 5 เดือนที่มีการยกเว้นการตรวจลงตราจะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าประเทศไทยจำนวนประมาณ 1,912,000 – 2,888,500 คน ซึ่งจะทำให้สัดส่วนการฟื้นตัวเมื่อเทียบกับปี 2562 จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 41 – 62 สร้างรายได้เข้าประเทศ 92,583 – 140,313 ล้านบาท ขณะที่นักท่องเที่ยวคาซัคสถานในช่วง 5 เดือนดังกล่าวจะมีจำนวนประมาณ 129,485 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 49.7 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา สร้างรายได้ประมาณ 7,930 ล้านบาท โดยมาตรการดังกล่าวเป็นหนึ่งในมาตรการ Quick Win ที่รัฐบาลใช้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในระยะสั้น และขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับฐานรากของประเทศ
นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 10 กันยายน 2566 จำนวน 2,284,281 คน ถือเป็นตลาดนักท่องเที่ยวอันดับที่ 2 รองจากมาเลเซียที่เดินทางเข้าประเทศไทยมากที่สุด ทั้งนี้ ถ้าไม่มีมาตรการในการยกเว้นการตรวจลงตรา ( Visa Exemption) จะมีแนวโน้มจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าประเทศไทยในปี 2566 จำนวนรวมทั้งสิ้น 3,470,430 คน ซึ่งคิดเป็นอัตราการฟื้นตัวร้อยละ 31 สร้างรายได้ 174,358 ล้านบาท แต่เมื่อมีการยกเว้นการตรวจลงตราจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยในการกระตุ้นตลาด ทำให้มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าประเทศไทยจำนวน 4.04-4.4 ล้านคน และมุ่งสู่เป้าหมายรายได้ที่ตั้งไว้ 257,500 ล้านบาทในปี 2566 เนื่องจากเป็นการอำนวยความสะดวกในการเดินทาง (Ease of Traveling) นักท่องเที่ยวไม่ต้องใช้ระยะเวลาในการขอตรวจลงตรา และเสียค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา จะส่งผลให้นักท่องเที่ยวจีนตัดสินใจเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยได้ง่ายขึ้น รวมถึงในช่วงวันที่ 1 – 8 ตุลาคมนี้ที่จะเป็นช่วง Golden week ที่นักท่องเที่ยวชาวจีนนิยมออกเดินทางท่องเที่ยว ประกอบกับพันธมิตรด้านสายการบินมีความพร้อมจัดทำเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (Charter Flight) และเพิ่มความถี่ของเที่ยวบิน ตลอดจนการเปิดเส้นทางการบินใหม่ อาทิ เฉิงตู – สมุย, ปักกิ่ง – เชียงใหม่, กวางโจว – เชียงใหม่, เซี่ยงไฮ้ – เชียงใหม่, เซี่ยงไฮ้ – ภูเก็ต, กวางโจว – ภูเก็ต, คุนหมิง – หาดใหญ่ ทั้งนี้ ระยะของมาตรการยกเว้นการตรวจลงตรายังครอบคลุมถึงช่วงเทศกาลวันหยุดปีใหม่และตรุษจีนที่จะช่วยส่งเสริมกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวในช่วงต้นปี 2567 อีกด้วย
สำหรับตลาดคาซัคสถานถือเป็นตลาดที่เติบโตได้ดีและมีศักยภาพสูง โดยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 10 กันยายน 2566 มีนักท่องเที่ยวคาซัคสถานเดินทางเข้าประเทศไทยแล้วจำนวน 108,636 คน ซึ่งนับว่าเป็นสถิติจำนวนนักท่องเที่ยวที่สูงที่สุด โดยนักท่องเที่ยวคาซัคสถานนิยมเดินทางมาพักผ่อนที่จังหวัดภูเก็ตเป็นจำนวนมาก การยกเว้นการตรวจลงตราให้กับนักท่องเที่ยวคาซัคสถานจะช่วยกระตุ้นการตัดสินใจเลือกประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางมากขึ้น
การยกเว้นการตรวจลงตราของทั้งสองประเทศดังกล่าวจะเป็นส่วนสำคัญในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจด้วยการท่องเที่ยว และผลักดันให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยในปี 2566 บรรลุเป้าหมายทั้งทางด้านจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 25 – 30 ล้านคนและรายได้รวม 2.38 ล้านล้านบาทต่อเนื่องไปจนถึงเป็นแรงส่งในการกระตุ้นการท่องเที่ยวในปี 2567 ด้วยนโยบายของรัฐบาลที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของภาคการท่องเที่ยวอันเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และให้ประเทศไทยยังคงเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก
ดูเนื้อหาต้นฉบับ
ที่มา : https://www.sanook.com/travel/1442299/
ขอขอบคุณ : https://www.sanook.com/travel/1442299/