ททท. สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าทางการท่องเที่ยวด้วยโครงการ Local Co-Creation ต่อยอดพัฒนาภูมิปัญญา รังสรรค์เมนูท้องถิ่นชูอัตลักษณ์ สู่ Fine Dining ระดับสากล
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ดำเนินโครงการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าทางการท่องเที่ยว (Local Co-Creation) ซึ่งเป็นการพัฒนาต่อยอดสร้างคุณค่า และมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าทางการท่องเที่ยวให้มีอัตลักษณ์ สามารถส่งมอบประสบการณ์ที่มีคุณค่าให้แก่นักท่องเที่ยว โดยเฉพาะอาหารและวัตถุดิบท้องถิ่นที่รวบรวมได้ และนำมาเชื่อมโยงกับมรดกทางภูมิปัญญา ขนบธรรมเนียม ประเพณี วิถีชีวิต วัฒนธรรม อันเป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่ เพื่อใช้ในการออกแบบทั้งสินค้า และบริการการท่องเที่ยวอย่างเป็นรูปธรรม
ซึ่งภายใต้โครงการนี้ เป็นการทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย เพื่อยกระดับมาตรฐาน และร่วม รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันยังช่วยกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยว และการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวนับเป็นการกระจายรายลงไปสู่เศรษฐกิจฐานรากได้อย่างยั่งยืน
นายอภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว ททท. กล่าวว่า กิจกรรมภายใต้โครงการ Local Co-Creation นับเป็นหนึ่งในโมเดลในการออกแบบสินค้าและบริการท่องเที่ยวที่ประสบผลสำเร็จอย่างอย่างยิ่ง เนื่องจาก ททท. ให้ความสำคัญกับกระบวนการทำงานร่วมกับชุมชน ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่อย่างใกล้ชิดเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ตรงตามความต้องการของนักท่องเที่ยว และพันธมิตรมากที่สุด
สำหรับขั้นตอนการทำงานนั้น รองผู้ว่า ททท. อธิบายว่า เริ่มตั้งแต่การฟังความเห็นของนักท่องเที่ยว (Voice of Customer) ควบคู่ไปกับการรับฟังความเห็นของพันธมิตรในพื้นที่ที่มีผลต่อการเติบโตของชุมชน (Voice of Supply) อีกทั้งทำการศึกษาเทรนด์ตลาดการท่องเที่ยวในภาพใหญ่ทั้งระดับโลก และระดับประเทศ ต่อด้วยการนำองค์ความรู้ในด้านการสร้างสรรค์สินค้าการท่องเที่ยวถ่ายทอดสู่ชุมชน สร้างความร่วมมือ และเครือข่ายพันธมิตรทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนในจังหวัด เพื่อเข้าร่วมแสดงความคิด และร่วมพัฒนาสินค้าการท่องเที่ยวไปพร้อมกัน ก่อนที่จะเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวเชิงอาหารอย่างยั่งยืน ช่วยขมวดภาพกิจกรรมให้เป็นไปตามความต้องการของตลาด ภายใต้ทรัพยากรที่ชุมชนมี “จึงนับได้ว่าโครงการนี้ได้ทั้งสินค้าและบริการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ และเกิดการบูรณาการเพื่อพัฒนาชุมชนอย่างแท้จริง”
ตัวอย่างความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมของโครงการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าทางการท่องเที่ยว (Local Co-Creation) คือการยกระดับรูปแบบอาหารพื้นบ้านภาคอีสานจนสามารถพัฒนาสู่ระดับ Fine Dining ด้วยรสชาติ การจัดเสิร์ฟบนโต๊ะอาหารกลางวันที่ใช้รับรองคณะของ ฯพณฯ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงมอสโก พร้อมคณะ เยือนชุมชนสาวะถี อ. เมือง ขอนแก่น เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยชุดอาหารกลางวันประกอบด้วยคานาเป้ก้อยปลาดุก ที่นำข้าวเกรียบแบบอีสานโรยหน้าด้วยก้อยปลาดุก เป็นเมนูเรียกน้ำย่อย ส่วนอาหารจานหลักเสิร์ฟเป็นปลานึ่งสมุนไพร และขนมจีนน้ำยา
นอกจากนี้ เชฟไพศาล ชีวินศิริวัฒน์ และ เชฟจิ๊บ-กัญญารัตน์ ถนอมแสง แห่งร้านแก่น ซึ่งเป็นพันธมิตรของโครงการ Local Co-Creation ได้นำวัตถุดิบพร้อมเรื่องราวจากชุมชนสาวะถี ไปนำเสนอผ่าน Casual Fine Dining โดยเฉพาะ Tasting Menu ในนาม Taste of Kaen ซึ่งนักชิมจะได้สนุกกับรสชาติอาหารที่นำเสนอผ่านแนวคิดต่าง ๆ ที่มีรากที่มาจากชุมชนท้องถิ่นได้อย่างไม่รู้เบื่อ
ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อเร็ว ๆ นี้ ในงานแถลงข่าว Krabi Wellness Festival 2024 ชุมชนท่องเที่ยวบ้านไหนหนัง ซึ่งเป็นชุมชนประมงพื้นบ้านแห่งตำบลเขาคราม อ. เมืองกระบี่ ได้จัดชุดอาหารว่าง ด้วยเมนูกระทงทอง วุ้นหนึบน้ำผึ้งมะนาวและน้ำเสาวรส ซึ่งเป็น Signature Ingredients ของชุมชน เป็นวัตถุดิบหลักในการปรุง นับเป็นอีกหนึ่งอีกผลผลิตจากโครงการ Local Co-Creation ที่สามารถเพิ่มมูลค่าของผลผลิตจนได้รับความสนใจ ในงานพิธีทั้งในระดับจังหวัดและระดับชาติ
ดูเนื้อหาต้นฉบับ
ที่มา : https://www.sanook.com/travel/1448195/
ขอขอบคุณ : https://www.sanook.com/travel/1448195/