ออกไปตามหาความหมายของความสุข ที่ซ่อนอยู่ในงานคราฟต์ และการคราฟต์ชีวิตให้มีความสุขฉบับชาวสุโขทัย
Focus
- เอ่ยถึงสุโขทัย แน่นอนคนส่วนใหญ่จะนึกถึงความหมาย “รุ่งอรุณแห่งความสุข” หรือไม่ก็การเป็น “เมืองแห่งคราฟต์ ” ที่เต็มไปด้วยงานประณีตศิลป์
- “ความคราฟต์” ไม่ได้ถูกถ่ายทอดผ่านวัตถุสิ่งของหรืองานศิลปะที่เป็นรูปธรรมเท่านั้น แต่ความคราฟต์ยังหมายถึงความพิถีพิถัน ความประณีต ละเอียดลออ ที่ได้ผสมกลมกลืนกลายมาเป็นชีวิตปกติและเสน่ห์ของคนสุโขทัย
“สุโขทัยเป็นเมืองยาก…คนที่จะมา สุโขทัย ต้องเข้าใจก่อนว่าถ้าจะมาสุโขทัยต้องตั้งใจมา แต่ในความยากนั้นมันมีเหตุผล เริ่มจากการเดินทางที่ สุโขทัย เป็นไข่แดงอยู่ตรงกลางระหว่างทางหลวงสองเส้น ดังนั้นถ้าใครจะเดินทางมาเที่ยวต้องตั้งใจจริงๆ สุโขทัยมีงานคราฟต์ชั้นสูงมากมาย มีร้านอาหารดีๆ มีกาแฟระดับแชมป์ของประเทศที่อาจหลบซ่อนอยู่ไกลๆ แต่คุณอาจจะไม่สามารถเดินไปแล้วเจอพวกเขาได้เลย ต้องนัดล่วงหน้า ต้องโทรไปหาถึงจะได้เจอ ส่วนคนสุโขทัยเองก็เรียกได้ว่าเป็นคนคราฟต์มาก งานคราฟต์ชั้นสูง คนคราฟต์มาก ทว่าชีวิตเรียบง่ายมาก เป็นความคราฟต์ที่อยู่ภายใต้วิถีชีวิตที่เรียบง่าย เรียกว่าเป็นความยาก เพื่อให้มีความสุขที่ง่ายขึ้นก็ได้ และถ้าใครที่รู้ว่าการทำงาน การเที่ยวในสุโขทัยเป็นการทำแบบยาก เพื่อให้มีความสุขที่ง่าย มันจะทำให้เข้าใจ สุโขทัย มากขึ้นว่า…นั่นแหละคือสุโขทัย”
เอ่ยถึง สุโขทัย แน่นอนคนส่วนใหญ่จะนึกถึงความหมาย “รุ่งอรุณแห่งความสุข”หรือไม่ก็การเป็น “เมืองแห่งคราฟต์” ที่เต็มไปด้วยงานประณีตศิลป์ งานช่างฝีมือมากมายหลายแขนงไม่ว่าจะเป็นสังคโลก เครื่องเงิน เครื่องทอง ทอผ้า ซึ่งทั้งความสุขและความคราฟต์ฉบับสุโขทัยดูเหมือนจะเป็น DNA ที่ถูกส่งต่อผ่านกาลเวลาจากศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงสู่ปัจจุบัน เพราะปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่างานศิลปะช่างฝีมือเหล่านั้นจะถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาไม่ได้เลยหากอยู่ในสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ทำให้ใจไม่เป็นสุข และถ้าได้ลองมาสัมผัสสุโขทัยอย่างลึกซึ้งเราจะพบว่า “ความคราฟต์” ที่ว่าไม่ได้ถูกถ่ายทอดผ่านวัตถุสิ่งของหรืองานศิลปะที่เป็นรูปธรรมเท่านั้น แต่ความคราฟต์ยังหมายถึงความพิถีพิถัน ความประณีต ละเอียดลออ ที่ได้ผสมกลมกลืนกลายมาเป็นชีวิตปกติและเสน่ห์ของคนสุโขทัย เช่นเดียวกับความคราฟต์และความสุขฉบับสุโขทัยของผู้คนตัวเล็กๆ เหล่านี้ที่เราจะพาไปค้นพบและตกหลุมรักสุโขทัยไปพร้อมกัน
“สุโขทัยเป็น Sleeping Town ที่มีเสน่ห์มาก สามทุ่มคือเงียบกริบ แต่ความเงียบคือความสุขสงบ” หทัยรัตน์ พรมเพ็ชร, ศิลปินผู้ร่วมก่อตั้ง กะเณชาแกลลอรี
เมื่อเอ่ยถึงสุโขทัย แน่นอนว่าเครื่องสังคโลกคือหนึ่งในงานศิลปะเลื่องชื่อที่เป็นมรดกมาตั้งแต่พ่อขุนรามคำแหงโดยมี สุเทพสังคโลก ผู้ที่รื้อฟื้นงานสังคโลกโบราณให้กลับมาและขยายสู่ความร่วมสมัยในรุ่นลูกภายใต้แบรนด์ กะเณชาแกลลอรี โดยมี สันติ และ หทัยรัตน์ พรมเพ็ชร เป็นผู้บุกเบิกและยึดอาชีพช่างปั้นดินสืบสานงานสังคโลกมา 20 ปีเต็ม
“ความโชคดีของ สุโขทัย คือ เรามีต้นทุนทางวัฒนธรรมค่อนข้างสูงมากๆ มีเมืองโบราณ มีสังคโลก มีเครื่องเงินเครื่องทอง ผ้าทอ เป็นต้นทุนทางศิลปวัฒนธรรมที่เยอะมาก เราเป็นคนยุคใหม่ที่อยากอนุรักษ์ตรงนี้แล้วใส่ความสมัยใหม่เป็นงานของกะเณชา สังคโลกเป็นงานประณีตศิลป์ทุกขั้นตอนทำด้วยมือ มันจึงต้องใช้ใจทำจริงๆ ถ้าใจไม่ได้คือไม่ได้เลย เรารู้สึกว่าเป็นความภาคภูมิใจมากที่ได้เป็นนักปั้นดิน คิดว่าคนทำสังคโลกก็น่าจะรู้สึกอย่างเดียวกันคือมีความภาคภูมิใจในการร่วมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของเรา”
หทัยรัตน์ พรมเพ็ชร สาวน่านที่มาตกหลุมรักสุโขทัยและอาศัยอยู่ในเมืองเล็กๆ แสนเงียบเชียบที่เธอบอกว่าเป็น Sleeping Town บอกเล่าถึงความภาคภูมิใจในอาชีพช่างปั้นดิน ซึ่งเธอบอกว่าอันที่จริงแล้วแนวทางการทำงานของกะเณชาแกลลอรีก็ไม่ต่างอะไรจากเมืองนั่นก็คือเป็นพวก “สุขนิยม” เพราะถ้าใจไม่มีความสุขก็จะไม่สามารถสร้างสรรค์งานศิลปะได้
“คนที่ทำงานศิลปะแน่นอนว่าจะต้องเป็นคนที่ใจมีความสุข ต้องนิ่ง ไม่อย่างนั้นจะไม่สามารถสร้างงานสวยๆ งานประณีตศิลป์ขึ้นมาได้ ซึ่งความสุขของเมืองนี้มีมาตั้งแต่ 700 ปีตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหงพ่อขุนรามฯ ได้วางรากฐานความคราฟต์ไว้ในสุโขทัย พระพุทธรูปในกรุงสุโขทัยถึงมีพระพักตร์งามที่สุดในโลก เป็น DNA แห่งความสุขที่ไม่ได้ปรุงแต่ง มีอยู่แล้ว และมันมีอยู่ในสายเลือดชาวสุโขทัย”
“คนสุโขทัยเป็นคนต๊ะต่อนยอน เป็นคนคราฟต์ช่างประดิดประดอย จะไปวัดก็ต้องตกแต่งของให้ดี แม้แต่จะตักน้ำก็ต้องมีกระบวย ทำด้ามกระบวยให้สวยงาม เลือกกะลาที่ดีเท่านั้น” ศรีลา ชุมภูวัน, โฮมสเตย์บ้านแม่ทุเลา
สุโขทัยไม่ได้มีดีแค่อุทยานประวัติศาสตร์ แต่สุโขทัยยังมีเรื่องราวของวิถีชีวิตและผู้คนที่เป็นเสน่ห์แตกต่างจากเมืองอื่น และการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ก็เป็นหนึ่งในวิธีการที่จะเข้าไปซึมซับและเข้าใจความเป็นคนสุโขทัยได้ดีสุด เช่นเดียวกับโฮมสเตย์บ้านแม่ทุเลา อำเภอทุ่งเสลี่ยม ที่แทบจะไม่มีอะไรเลยนอกจากผู้คน รอยยิ้ม และธรรมชาติ ทว่าก็ทำให้คนที่เคยมาพักอยากจะกลับมาซ้ำๆ
“เราอยากให้ได้มาสัมผัสวิถีวัฒนธรรม ผู้คน อาหารพื้นถิ่น เรามีลำคลองหลังบ้าน มีวิถีธรรมชาติ ซึ่งเราคิดว่าบ้านเราสวยนะ เราก็เลยอยากให้คนอื่นลองมองดูบ้างว่าบ้านเราสวยอย่างที่เราคิดไหม”
ศรีลา ชุมภูวัน ผู้ริเริ่มชวนคนในชุมชนที่ส่วนใหญ่เป็นผู้เฒ่าสูงวัยมารวมกลุ่มกันทำโฮมสเตย์บ้านแม่ทุเลา ซึ่งเหตุผลหนึ่งเพื่อปลุกชีวิตชีวาให้คนสูงวัยในหมู่บ้านที่เริ่มซึมเซา อีกเหตุผลก็เพื่อปูทางให้คนหนุ่มสาวอยากที่จะกลับบ้าน และเหตุผลสุดท้ายก็เพื่อจะให้การท่องเที่ยวได้ทำหน้าที่สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นเอาไว้
“ด้วยวิถีต๊ะต่อนยอนของเรา หรือจะเรียกว่าของคนสุโขทัยก็ว่าได้ ทำให้เรามีเวลาที่จะคิดประดิดประดอยสิ่งต่างๆ เช่น สานก่องข้าวใส่ข้าวเหนียว ทอผ้า ทำย่าม ทำผ้านวมไว้ใช้ จะไปวัด ไปตานก๋วยสลากก็ต้องคิดประดิดประดอยของที่จะเตรียมไปให้สวยที่สุด หรืออย่างในสมัยก่อนไม่มีตู้เย็น ทุกบ้านจะมีหม้อน้ำและกระบวย จะดื่มน้ำต้องดื่มจากกระบวย ซึ่งแต่ละบ้านก็จะทำกระบวยไว้ใช้ แต่เขาจะไม่ได้ทำกระบวยธรรมดา ก็จะทำด้ามจับ ทำลาย เลือกกะลาที่ดี ไม่ได้ขาย แต่จะทำของสวยงามไว้ใช้เอง คือนี่แหละที่บอกว่าสุโขทัยเป็นคนคราฟต์”
และเมื่อถามถึงความสุขที่ได้มาทำงานที่ต้องลุกขึ้นเป็นเสาหลักของชุมชนในการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวโฮมสเตย์ ศรีลากล่าวทิ้งท้ายว่ามันอาจจะไม่ได้มีเป็นรูปธรรมที่ชี้วัดได้ แต่การที่เธอได้เห็นคนเฒ่าคนแก่ไม่จับเจ่าซึมเซา ลุกขึ้นมาพูดคุยกับนักท่องเที่ยวอย่างสดใส หรือในท้ายที่สุดจะมีลูกหลานในหมู่บ้านเติบโตและใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนโดยไม่ต้องละทิ้งบ้านเกิดไปทำงานไกล และทำให้ตัดสินใจลูกหลานกลับบ้าน…นั่นคงเป็นความสุขที่สุดของเธอแล้ว
“คนสุโขทัยช่างคิด รักในวัฒนธรรมของตัวเอง มีอะไรดีก็พยายามดึงขึ้นมาให้คนต่างชุมชนได้รู้ อยากบอกให้คนอื่นรู้ว่าทำไมสุโขทัยถึงเป็นเมืองแห่งความสุข” สมนึก ศิริโภคา, ปราชญ์งานจักสานไม้ไผ่บ้านศรีสุข
อย่างที่เกริ่นไว้ว่าความคราฟต์ของ สุโขทัย นั้นผสานกลมกลืนอยู่ในชีวิตประจำวัน และนั่นก็ทำให้ สมนึก ศิริโภคา นำงานคราฟต์จักสานไม้ไผ่ที่เคยนั่งล้อมวงจักตอกทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในบ้านมาเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตจากพนักงานโรงงานที่ทำมานานกว่า 20 ปี ก็พลิกมาเป็นปราชญ์งานจักสานไม้ไผ่แบรนด์ บ้านศรีสุขซึ่งเป็นงานใหม่ ชีวิตใหม่ที่ทำให้เธออยากจะตื่นขึ้นมาทำงานในทุกๆ วัน
“เรียนรู้การจักสานมาจากปู่ย่าตายาย จักตอกทำเครื่องมือเครื่องใช้ แทบทุกบ้านในชุมชนก็จะทำแบบนี้ทั้งนั้น เช่น พอหน้าน้ำเราก็จักตอกทำเครื่องมือจับปลา พอน้ำลดหมดปลาเราก็เอาเครื่องสานที่เราทำไปขายได้พอวันหนึ่งที่เราคิดว่าเราอยากกลับบ้านก็เลยคิดถึงงานจักสาน ซึ่งพอกลับมาทำมันก็ขายได้ อยู่ได้ แม้จะได้เงินน้อยกว่า แต่มันสุขกว่า งานจักสานมันเป็นสิ่งที่ติดตัวเรามาอยู่แล้วพอกลับมาทำอีกครั้งก็ทำได้ไม่ยาก ทุกอย่างมันฝังอยู่ในหัว แล้วก็พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นเรื่อยๆ”
สมนึกย้อนเล่าวันที่ตัดสินใจเปลี่ยนชีวิตจากสาวโรงงานมานั่งจักตอกสานไม้ไผ่อยู่ที่บ้าน ซึ่งของแต่ละชิ้นตั้งราคาขายที่เรียกได้ว่าถูกมากแต่สำนึกก็บอกว่าแม้จะเป็นงานราคาถูกแต่ทุกชิ้นไม่เคยปล่อยผ่าน พร้อมทั้งได้ขยายจากแค่ทำผลิตภัณฑ์เป็นพื้นที่ให้ความรู้เรื่องภูมิปัญญา พร้อมย้ำว่า “คนสุโขทัยช่างคิด รักในวัฒนธรรมของตัวเอง มีของดีอะไรก็จะพยายามดึงขึ้นมาให้ต่างชุมชนได้รู้ว่าเรามีดีตรงนี้นะ แล้วก็นำเสนอออกมา เราไม่หวงวิชา เราอยากอนุรักษ์ของเหล่านี้ให้อยู่ต่อไป”
“ถ้าได้ของไม่ดีมาคือไม่ขาย เราติดลูกค้า เวลาที่ลูกค้าบอกว่า ป้า! อร่อยจัง เท่านี้ก็สุขละ” อารมย์ แสงพัด, ร้านอาหารป้าแอ๊ด
ว่ากันว่าปลาที่ดีที่สุดในสุโขทัยจะต้องถูกส่งมาที่ร้านอาหารเล็กๆ ที่ชื่อว่า ร้านป้าแอ๊ด ก่อนเป็นลำดับแรก และเมื่อได้มีโอกาสแวะมาที่ร้านเราก็พบว่าที่เขา “ว่ากันว่า” นั้นไม่เกินจริงเลย แต่มากกว่านั้นร้านนี้ไม่มีเมนู เป็น Chef’s Table ฉบับพื้นบ้านที่ป้าแอ๊ด-อารมย์ แสงพัดวัย 70 เศษและพี่สาว “ป้าอ๊อด” จะเดินเข้ามาพูดคุยแนะนำชนิดของปลาที่ได้มาในแต่ละวัน พร้อมแนะนำว่าปลาชนิดไหนควรปรุงแบบไหน ลูกค้าชอบกินแบบไหน ป้าก็จะแมตช์ปลาและคิดเมนูแนะนำให้เสร็จสรรพ จากนั้นนั่งรอฟังเสียงโขลกพริก หั่นผัก เสียงตะหลิวกระทะ ทำแบบออร์เดอร์ต่อออร์เดอร์ ที่สำคัญร้านนี้ไม่สต๊อกวัตถุดิบ ปลาหมดก็คือหมดเพราะป้าแอ๊ดเลือกซื้อปลาจากชาวบ้าน ที่วันนี้อาจได้มาเพียงหนึ่งตัว สองตัว และย้ำว่าต้องเป็นปลาในสุโขทัยเท่านั้น
“เราจะซื้อปลาที่อื่นทำไม แค่ฟรีซมาข้ามจังหวัดก็ไม่อร่อยแล้ว ร้านเราถึงเล็ก แต่เราใช้ของดี ปลาต้องสดเท่านั้น ได้ไม่สดมาคือไม่ขาย เราไม่เคยให้ใครมาส่งปลาที่ร้าน ชาวบ้านโทร.มาว่าได้ปลามา ป้าแอ๊ดก็จะไปดูปลาเองเหมือนดูตัวเจ้าสาว เพราะถ้าไม่ดีก็ไม่เอา หรือถ้ามีปลาไม่ดีหลงมา ก็ไม่ขาย ซื้อมาแล้วต้องทำเอง ไม่เคยให้คนอื่นทำปลาให้อยากให้คนทานได้กินของดีอร่อยๆ”
มากินร้านป้าแอ๊ดนอกจากจะได้ปลาดีแล้วยังมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับเมืองสุโขทัยที่จะทำให้เห็นภาพว่า “ในน้ำมีปลา” ไม่ได้เป็นเพียงแค่คำในจารึก
“ถ้ามาตอนน้ำเต็มฝั่งจะได้กินปลากล้วย ปลาทอง ปลาหมู ปีหนึ่งมีให้กินแค่ครั้งหนึ่ง ขาย 2 เดือนหมดก็หยุดขายแล้วก็เปลี่ยนไปขายปลาอื่น เป็นพวกปลาเนื้ออ่อน อย่างปลากดเหลือง ปลากดคัง ปลาค้าว ส่วนปลาทองตัวเท่าไม้ขีด เป็นปลาธรรมชาติ มันออกมาตามดิน ปีหนึ่งถ้าน้ำเต็มฝั่งปลาทองก็จะมา แต่ตอนนี้ใกล้สูญพันธุ์แล้ว ขายกิโลละ 500 ทำแกง ห่อหมกต้มยำ อร่อยมาก”
อาจจะต้องเข้าใจว่าที่นี่ทำงานกันสองคนพี่น้องที่อายุเข้าสู่วัย 70 อาหารจึงอาจจะช้าหน่อย ซึ่งป้าแอ๊ดก็บอกว่าสิ่งที่ทำให้ยังมีแรงทำไหวก็คือลูกค้า และป้าก็จะมีแรงทำต่อทุกครั้งที่ลูกค้ากินแล้วบอกว่า “ป้าแอ๊ด! อร่อยมาก”
“ค้นพบว่าความสุขของคนสุโขทัยมันสามารถแผ่กระจายไปให้คนอื่นได้อย่างเป็นปกติของคนที่นี่โดยที่เขาไม่รู้ตัว” ปริวัฒน์ วิเชียรโชติ, Taste From The Root ลิ้มรสให้รู้ราก
จากพนักงานออฟฟิศที่ทำงานในแวดวงโฆษณาและการสื่อสาร เมื่อวันหนึ่งตัดสินใจว่า “ต้องกลับบ้าน ก่อนที่จะไม่มีใครให้กลับไปหา” แน็ค-ปริวัฒน์ วิเชียรโชติ จึงต้องกลับมาคิดตกตะกอนกับตัวเองว่าการกลับบ้านที่ไม่ได้กลับมานานครั้งนี้เขาจะกลับมาทำอะไร
“ผมเริ่มขยับออกจากกรุงเทพฯ ด้วยการมาใช้ชีวิตที่อยุธยา สักพักเราเริ่มรู้สึกว่าที่สุโขทัยและอยุธยามีความเหมือนกันในบางจุด จนรู้สึกว่าสิ่งที่ทำที่อยุธยาก็น่าจะทำได้ที่สุโขทัย ก็เลยกลับมาทำโฮสเทลและคาเฟ่ที่สุโขทัย แต่หลังจากโควิดก็ต้องปิดโรงแรมเพราะไม่มีนักท่องเที่ยว 100 เปอร์เซ็นต์ผมก็เลยกลับมามองอาชีพที่เราเคยทำคือนักทำสื่อ นักสื่อสาร แต่จะทำอย่างไรให้สิ่งที่เราทำมาทั้งชีวิตมันสร้างคุณค่าให้กับสังคมผ่านอาชีพนักสื่อสารของเรา ก็เลยกลายมาเป็น ลิ้มรสให้รู้ราก สื่อสารเรื่องภูมิปัญญา วิถีชีวิต วัฒนธรรม ผ่านแบรนด์ ผ่านสื่อ ที่มันสื่อถึงภูมิปัญญาโดยไม่บิดพลิ้ว ไม่สร้างเรื่องมาทับซ้อนกับความดั้งเดิม แต่ในขณะเดียวกันเราต้องสร้างรายได้ให้ทั้งเราเอง ชุมชน อยู่ได้ และรักษาภูมิปัญญาไปพร้อมกัน”
ด้วยแนวคิดดังกล่าวทำให้แน็คเริ่มต้นด้วยการเข้าไปเก็บข้อมูล เข้าไปเป็นลูกเป็นหลาน ทำความรู้จักและทำความเข้าใจในชุมชน เริ่มต้นหาว่าอะไรคือราก โดยเริ่มจากชุมชนทำตาลโตนดที่อำเภอคีรีมาศ ใช้เวลานานร่วม 2 ปี จนเริ่มผลิตเป็นสินค้าออกมาโดยที่ยังมีความเคารพในแหล่งที่มาและเล่าในสิ่งที่ชุมชนเป็น ซึ่งการลงพื้นที่นอกจากจะเก็บรักษาภูมิปัญญาแล้วยังทำให้แน็คมองเห็นในอีกแง่มุมของสุโขทัยที่เขาอาจหลงลืมไปแล้ว
“หลังจากที่เรามาทำงานแล้วเราพาคนที่อื่นๆ มา มันทำให้คนรู้ว่าคนสุโขทัยมีความเป็นญาติมิตรสูงโดยที่เราอาจไม่เคยรู้สึกเพราะเราเคยชิน แต่พอคนกรุงเทพฯ มาอุ๊ย! ทำไมคนที่นี่ใจดี เหมือนลุง เหมือนตา เขาแถมอันนี้ให้ เราก็ตั้งคำถามว่าสิ่งนี้มันไม่ปกติหรอ และมาค้นพบว่าความสุขของคนสุโขทัยมันสามารถแผ่กระจายไปให้คนอื่นได้อย่างเป็นปกติของคนที่นี่โดยที่เขาไม่รู้ตัว ซึ่งเราเองก็คิดว่าธรรมดา แต่คนที่อื่นคือว้าวคือไม่ธรรมดา ความสุขของความเป็น สุโขทัย ที่เป็นชื่อเมืองมันถูกแผ่กระจายจนกลายเป็นเรื่องปกติของคนที่นี่เป็นวิถีชีวิต ตอนแรกเรารู้สึกว่าสร้างภาพหรือกลยุทธ์ตลาดหรือเปล่า แต่พอเจอกับทุกคนมันไม่ใช่แล้ว มันน่าจะเป็นความสุขของคนที่นี่ที่แผ่ไปที่อื่นได้ง่ายมาก”
อีกสิ่งที่แน็คบอกว่าบ่งบอกความเป็นสุโขทัยได้อย่างดีคือ ความยากที่นำไปสู่ความเรียบง่าย
“สุโขทัยเป็นเมืองยาก…คนที่จะมาสุโขทัยต้องเข้าใจก่อนว่าถ้าจะมาสุโขทัยต้องตั้งใจมาสุโขทัย แต่ในความยากนั้นมันมีเหตุผล เริ่มจากการเดินทางที่สุโขทัยเป็นไข่แดงอยู่ตรงกลางระหว่างทางหลวงสองเส้น ดังนั้นถ้าใครจะเดินทางมาเที่ยวต้องตั้งใจจริงๆ สุโขทัยมีงานคราฟต์ชั้นสูงมากมาย มีร้านอาหารดีๆ มีกาแฟระดับแชมป์ของประเทศที่อาจหลบซ่อนอยู่ไกลๆ แต่คุณอาจจะไม่สามารถเดินไปแล้วเจอพวกเขาได้เลย ต้องนัดล่วงหน้า ต้องโทรไปหาถึงจะได้เจอ ส่วนคนสุโขทัยเองก็เรียกได้ว่าเป็นคนคราฟต์มาก งานคราฟต์ชั้นสูง คนคราฟต์มาก ทว่าชีวิตเรียบง่ายมาก เป็นความคราฟต์ที่อยู่ภายใต้วิถีชีวิตที่เรียบง่าย เรียกว่าเป็นความยาก เพื่อให้มีความสุขที่ง่ายขึ้นก็ได้ และถ้าใครที่รู้ว่าการทำงาน การเที่ยวในสุโขทัยเป็นการทำแบบยาก เพื่อให้มีความสุขที่ง่าย มันจะทำให้เข้าใจสุโขทัยมากขึ้นว่า…นั่นแหละคือสุโขทัย”
“เปิดร้านทุกวันไม่เคยหยุด ไม่เคยยั้ง กลัวลูกค้ามาแล้วไม่ได้กิน บางคนมาไกล ถ้าเราหยุดเขาก็ผิดหวังสิ” รวม เอี่ยมอ่อน, ร้านขนมป้ารวม
ความคราฟต์ในการใช้ชีวิตฉบับสุโขทัยนั้นไม่จำเป็นต้องสื่อสารผ่านชิ้นงานศิลปะเท่านั้น แม้แต่ร้านขนมเล็กๆ ในชุมชนเล็กๆ ที่รถวิ่งสวนกันแทบจะพอดีทางอย่างชุมชนบ้านกล้วยก็มีความคราฟต์ในแบบฉบับของเขา และร้านขนมที่ว่าก็คือ ร้านป้ารวม ร้านขนมไทย ขนมสุโขทัยที่เปิดขายมากว่า 30 ปี ตกทอดสูตรการทำขนมจากรุ่นแม่ป้ารวม เอี่ยมอ่อน สู่ลูกสาว มานี หนูเมืองและแม้จะเป็นร้านขนมเล็กๆ เพียงหนึ่งตู้กระจกแต่ทั้งคู่ตื่นมาเตรียมของทำขนมตั้งแต่ตี 2 ตี 3พอถึงตี 5 ก็พร้อมขาย ทำเช่นนี้ซ้ำๆ มากว่า 30 ปี โดยที่แทบจะไม่มีวันหยุดเพียงเพราะเหตุผลเดียวคือ “กลัวลูกค้ามาไม่เจอแล้วผิดหวัง”
“วันหนึ่งก็ทำประมาณนี้แหละ 10 อย่างได้ นึกเอง ปรุงเอง ทำเอง ขนมโบราณก็มีไข่หงส์ ลูกตุย บ้าบิ่น หม้อแกง ขนมตาล ขนมเกลียว ขนมเทียน ทำแบบโบราณเลย อย่างลูกตุยนี่ก็ขนมสุโขทัยเลย แต่ไม่ค่อยมีคนทำแล้วเพราะมันทำยาก ใช้เวลานาน กวนไส้ก็ครึ่งวันแล้ว แต่เราก็ไม่อยากให้มันหายไปก็เลยยังทำอยู่”
ลูกค้าของป้ารวมขนมไทยก็ไม่ใช่ใครอื่น เป็นคนในชุมชน “เขาไปนาไปไร่ก็แวะซื้อ ยิ่งช่วงเกี่ยวข้าวจะขายดี เขาจะซื้อก่อนไปไร่ ร้านเราเลยเปิดทุกวัน ไม่เคยยั้ง (หยุด) เสาร์อาทิตย์ก็ไม่ยั้ง บางทีลูกค้ามาไกล จะซื้อไปฝากพ่อแม่ เดี๋ยวมาไม่เจอเขาจะผิดหวัง”
และเมื่อถามต่อถึงเคล็ดลับความอร่อยที่ทำให้ลูกค้ามาซื้อประจำกว่า 30 ปี แค่ช่วงบ่ายขนมก็หมดเกลี้ยงแล้ว มานี ลูกสาวผู้สืบทอดย้ำว่าเคล็ดลับที่นี่คือต้องหวานมันและใส่ใจโดยเฉพาะขนมโบราณของสุโขทัยที่เรียกว่า “ลูกตุย” ซึ่งมันอาจจะดูหน้าตาธรรมดาขายราคาถูก แต่เธอกล่าวว่า “จะทำเล่นๆ ไม่ได้”
“สุโขทัยถ้าเป็นคนนอกฟังจะนึกถึงอะไรเก่าๆ แต่ถ้าเป็นคนสุโขทัยมันจะคิดถึงการเริ่มต้นใหม่เหมือนชื่อ รุ่งอรุณแห่งความสุข” ศักดิ์เกษม ตันติยวรงค์, กรรมการผู้จัดการ บริษัท สุโขทัยพัฒนาเมือง จำกัด
คนสุโขทัยนอกจากจะยิ้มแย้มมีความสุขเผื่อแผ่สู่นักท่องเที่ยวต่างถิ่นอย่างเราๆ แล้วก็ยังมีคนสุโขทัยอีกกลุ่มที่อยากจะส่งต่อความสุขของเมืองไปสู่ลูกหลานชาวสุโขทัยเพื่อที่วันหนึ่งลูกหลานเหล่านี้จะไม่จากไปไกลบ้าน และหนึ่งในกลุ่มคนที่ทำงานขับเคลื่อนเมืองสุโขทัยก็คือ บริษัท สุโขทัยพัฒนาเมือง จำกัด บริษัทที่ลงทุนโดยเจ้าของธุรกิจในสุโขทัยที่อยากจะเห็นคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เห็นเมืองเติบโตขึ้น
“บริษัทสุโขทัยพัฒนาเมือง มันเกิดมาจากรุ่นพี่รุ่นน้องที่รักสุโขทัยร่วมกันตั้งบริษัทขึ้นมาทำกิจกรรมเมือง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้คุณภาพชีวิตคนที่นี่ดีขึ้น แต่ว่าต้องทำอะไรบ้างนั้นตอนตั้งบริษัทเราก็ยังไม่รู้หรอก แต่เรามีเป้าหมายชัดเจนคือการตั้งโจทย์ว่าจะทำอย่างไรให้คุณภาพชีวิตของคนที่นี่ดีขึ้น อาจจะไม่ได้ร่ำรวย หรือเป็นเมืองอินโนเวชัน หรือเป็นสมาร์ตซิตี แต่เป็นอย่างที่เราเป็นนี่แหละแต่ให้มีความสุขขึ้นสมกับชื่อ สุโขทัย เมืองแห่งความสุข” ศักดิ์เกษม ตันติยวรงค์ หนึ่งในผู้ปลุกปั้นกลุ่มสุโขทัยพัฒนาเมืองย้อนที่มาของการชักชวนนักธุรกิจในพื้นที่มาลงขัน ซึ่งศักดิ์เกษมยอมรับว่าที่ผ่านมาอาจจะไม่ได้เห็นอะไรที่อาจเรียกได้ว่าความสำเร็จแต่เขาเชื่อว่ากลุ่มได้เดินมาถูกทาง
“เราลองผิดลองถูกหลายอย่าง ซึ่งต้องยกเครดิตให้ทีมขอนแก่นพัฒนาเมือง เราได้รับแรงบันดาลใจจากเขาว่าถ้าเรารวมตัว เราน่าจะทำได้ เราก็เลยทดลองทำดู เช่น โปรเจกต์รถขนส่งประจำทางที่มีเส้นทางรถ มีป้าย มีแอปพลิเคชันแบบกรุงเทพฯ แต่ปรากฏสุดท้ายแล้วรถไม่วิ่ง คนไม่ขึ้น นั่นก็เป็นบทเรียนให้เราเริ่มมองโจทย์ของการพัฒนาเมืองที่ชัดเจนขึ้น เราทำมาหลายอย่างมาก และเราก็รู้สึกว่าเฮ้ย! ทำแล้วไม่สำเร็จ แต่ที่นี่คือบ้านเราไง ไม่สำเร็จแต่เราก็ยังอยากทำให้มันดีขึ้นครั้งหนึ่งตอนที่จัดงานเราให้ผู้เข้าร่วมงานเขียนว่าอยากได้อะไรจากงานที่เราจัด มีคุณป้าคนหนึ่งเขียนว่า อยากให้ลูกกลับบ้าน เท่านี้มันก็เป็นกำลังใจที่อยากจะทำต่อ ซัปพอร์ตให้เด็กๆ อยากที่จะกลับบ้าน”
สำหรับศักดิ์เกษมนั้นเขาบอกว่าแม้เขาจะเคยอยู่มาในหลายเมืองแต่เขากลับรู้สึกว่าสุโขทัยยังเป็นเมืองที่มีความน่ารัก และเป็นเมืองที่พร้อมให้ทุกคนมาเริ่มต้นใหม่
“สุโขทัยถ้าเป็นคนนอกจะนึกถึงอะไรเก่าๆ เมืองเก่า อุทยานประวัติศาสตร์ แต่ถ้าเป็นคนสุโขทัยอย่างผมจะคิดถึงการเริ่มต้นใหม่เหมือนชื่อรุ่งอรุณแห่งความสุข ไม่ว่าคุณจะเจออะไรมา แต่ที่นี่คือเมืองแห่งการเริ่มต้น ทั้งการเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ ลายสือไทย สุโขทัยเมืองที่น่ารัก คนที่นี่พร้อมจะซัปพอร์ต คนที่นี่เขามีความสุขกับเรื่องง่ายๆ เรื่องเล็กๆ คุณอาจจะเจออะไรมาหนักหนา แต่มาที่นี่คุณจะได้เจอความสุขในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เป็นพลังในการกลับมาเริ่มต้นอะไรใหม่ๆ”
“การท่องเที่ยวโดยชุมชนไม่ใช่เรื่องของการปรุงแต่ง เป็นเรื่องซื่อๆ ตรงๆ คิดอย่างไรก็บอกอย่างนั้น ผมแค่ทำหน้าที่นำเสน่ห์ที่มีอยู่แล้วของเมืองเก่าที่ซื่อๆ ตรงๆ มาถ่ายทอดใหม่” ปองเลิศ เฉลิมสิริโรจน์, ประธานชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนเมืองเก่าสุโขทัย
“มีนักวิชาการกล่าวว่าคนเมืองเก่าโชคดีที่นั่งทับขุมทองเอาไว้ เราก็กลับมาคิดว่าขุมทองนี้คืออะไร ขุมทองอันแรกคือมรดกโลกที่ราชวงศ์พระร่วงสร้างขึ้นมา มีตำนาน ประวัติ เรื่องเล่ามากมาย อันที่ 2คือวิถีชีวิตที่อยู่ในชุมชนที่สามารถดึงออกมาเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวโดยชุมชนได้ สองสิ่งนี้เลยเป็นมุมมองในการทำการท่องเที่ยวโดยชุมชน ที่มีวิถีชีวิต ความเรียบง่าย ไม่ใช่เรื่องของการปรุงแต่ง เป็นเรื่องซื่อๆ ตรงๆ คิดอย่างไรก็บอกอย่างนั้น ผมแค่ทำหน้าที่นำเสน่ห์ที่มีอยู่แล้วของเมืองเก่าที่ซื่อๆ ตรงๆ มาถ่ายทอดใหม่”
จากคนสุโขทัยที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ หลายสิบปีแต่พอวันหนึ่งตัดสินใจกลับบ้าน ปองเลิศ เฉลิมสิริโรจน์ จึงเริ่มมองหาแล้วว่าสุโขทัยที่เขาเกิดและเติบโตมามีของดีอะไร จนมาค้นพบว่าวิถีชีวิตคนเมืองเก่าสุโขทัยล้วนคือเรื่องเล่าตำนานวิถีชีวิตคนเมืองเก่าสุโขทัยแยกไม่ออกจากพื้นที่ประวัติศาสตร์ และนั่นคือไอเดียตั้งต้นที่พัฒนาไปสู่ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนเมืองเก่าสุโขทัย ใช้ประวัติศาสตร์ ตำนานเชื่อมวิถีชีวิตชุมชนเข้ากับนักท่องเที่ยว ให้ชุมชนมีรายได้จากการท่องเที่ยว เมื่อมีรายได้เรื่องเล่า ตำนาน ประวัติศาสตร์เหล่านั้นก็จะยังคงอยู่
“การท่องเที่ยวในชุมชนสร้างประสบการณ์ใหม่ให้นักท่องเที่ยวจนเกิดความประทับใจในเสน่ห์ของชุมชน สิ่งที่ตามมาคือชุมชนมีรายได้ นั่งตอกตัวนก ฟันไม้อยู่ที่บ้านก็มีคนเดินเข้ามาซื้อ เมื่อเปิดการท่องเที่ยวมันทำให้วัฒนธรรม ภาษา การพูด อาหารการกิน ภูมิปัญญา อะไรที่มันใกล้จะสูญหายกลับมาอีกครั้ง และที่นักท่องเที่ยวจะได้เห็นคือความสุขที่มันมีรากมาจากจารึกของพ่อขุนรามคำแหง”
ปองเลิศขยายความคำว่าความสุขฉบับสุโขทัยว่า “หลายๆ คนมองว่าสุโขทัยเป็นเมืองเงียบ สงบ เป็นแหล่งวัฒนธรรม สโลว์ไลฟ์ ผมก็อยากให้เสน่ห์เหล่านี้มันคงอยู่ พยายามดึงเสน่ห์แต่ละชุมชนให้ออกมาแล้วร้อยเรียงเป็นเส้นทางท่องเที่ยวโดยชุมชน ให้คนได้เห็นเสน่ห์ของวิถีชีวิตที่ไม่ทิ้งอะไรเก่าๆ ให้การท่องเที่ยวยั่งยืนยังคงอยู่พร้อมการเติบโตของเมือง”
ดูเนื้อหาต้นฉบับ
ที่มา : https://www.sanook.com/travel/1448091/
ขอขอบคุณ : https://www.sanook.com/travel/1448091/