สยามพารากอน ฉีกกฎนิยามคำว่า ลักซ์ชัวรี่ ด้วยการนำงานศิลปะระดับโลกมาเปลี่ยนบรรยากาศของสยามพารากอนให้เป็นเหมือนแกลเลอรีที่ทุกคนสามารถเข้าถึงงานศิลปะได้ กับที่สุดของงานศิลปะ Siam Paragon’s World Art Collective
Focus
- Siam Paragon’s World Art Collective มีจุดเริ่มต้นมาจากความตั้งใจที่จะขยายประสบการณ์ไลฟ์สไตล์ จากการชอปปิ้งแฮงก์เอาท์เป็น “แพลตฟอร์ม” ที่เชื่อมโยงศิลปะ ศิลปิน กับผู้คน
- Siam Paragon’s World Art Collective ชวนศิลปินไทยชื่อดังและศิลปินระดับโลกมาร่วม Co-create ผลงานศิลปะร่วมสมัยสุดเอ็กซ์คลูซีฟสำหรับสยามพารากอนโดยเฉพาะในแบบที่เรียกว่า site specific art installation
การเดินศูนย์การค้าจะเปลี่ยนไป เมื่อ สยามพารากอน ได้ฉีกกฎนิยามคำว่า “ลักซ์ชัวรี่” ด้วยการนำงานศิลปะระดับโลกมาเปลี่ยนบรรยากาศของสยามพารากอนให้เป็นเหมือนแกลเลอรีที่ทุกคนสามารถเข้าถึงงานศิลปะได้ กับที่สุดของงานศิลปะ Siam Paragon’s World Art Collective ชวนศิลปินไทยชื่อดังและศิลปินระดับโลกมาร่วม Co-create ผลงานศิลปะร่วมสมัยสุดเอ็กซ์คลูซีฟสำหรับสยามพารากอนโดยเฉพาะในแบบที่เรียกว่า site specific art installation พร้อมจัดแสดงผลงานศิลปะร่วมสมัยมากมาย เชื่อมโยงประสบการณ์ศิลปะระดับโลกสู่สยามพารากอน เปิดประตูรับทุกคนมาร่วมเป็น “พลเมืองของโลกศิลปะ” ไปพร้อมกัน
นภนิศ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้บริหารกลุ่มงานสร้างสรรค์ประสบการณ์และกลยุทธ์โครงการ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด กล่าวถึงแนวคิดของการเปิดพื้นที่ให้ประสบการณ์ศิลปะได้เข้ามาเติมเต็มไลฟ์สไตล์แบบมีสุนทรียะผ่าน Siam Paragon’s World Art Collective ว่ามีจุดเริ่มต้นมาจากความตั้งใจที่จะขยายประสบการณ์ไลฟ์สไตล์ จากการชอปปิ้งแฮงก์เอาท์เป็น “แพลตฟอร์ม” ที่เชื่อมโยงศิลปะ ศิลปิน กับผู้คน ให้ศิลปะผสมผสานเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันและไลฟ์สไตล์ที่เข้าถึงได้ง่ายยิ่งขึ้น
“สยามพารากอนถือเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย เรามีสินค้าที่เป็นลักซ์ชัวรี่มากมาย ถือเป็นการใช้ชีวิตแบบสุนทรีย์อีกรูปแบบหนึ่ง ครั้งนี้เราเลยอยากก้าวข้ามนิยามคำว่า ลักซ์ชัวรี่ ด้วยการนำงานศิลปะที่เป็นสุนทรียะอีกรูปแบบหนึ่งเข้ามาเป็นส่วนประกอบ ก้าวสู่การเป็น จุดหมายปลายทางระดับโลกที่นำเสนอสุดยอดประสบการณ์มิติใหม่ ‘New World of Luxury’ ที่ผู้มาเยือนจะได้สัมผัสกับประสบการณ์ลักซ์ชัวรี่หลากหลายมิติ ที่ไม่ได้ตีกรอบอยู่แค่สินค้าและการช้อปปิ้งอีกต่อไปซึ่งแน่นอนว่า “ศิลปะ” เป็นอีกนิยามของประสบการณ์ลักซ์ชัวรี่ และด้วยความที่สยามพารากอนเป็นเดสติเนชั่นของทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ เพราะฉะนั้นเราจึงมีแนวคิดที่จะดึงงานศิลปะของศิลปินชั้นนำจากหลากหลายชาติ ทั้งไทย ฝรั่งเศส อเมริกัน เนเธอร์แลนด์ และเกาหลีใต้ มาให้ได้ชม ชาวต่างชาติที่เขาได้เห็นงานของศิลปินในบ้านเขาที่นี่ เขาก็จะได้รู้สึกว่าสยามพารากอน เป็นความภูมิใจของประเทศเขาเหมือนกัน”
New World of Luxury เมื่อศิลปะเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้
ผลงาน Co-Creation ระหว่างสยามพารากอนและศิลปินระดับโลกรวมทั้งศิลปินชั้นแนวหน้าของไทยกับ Siam Paragon’s World Art Collective มีไฮไลต์ 9 ชิ้น เริ่มด้วยผลงาน Aurora ของ ปาสกาล ดอมบีส์ (Pascal Dombis) ซึ่งจัดแสดงด้านบนเพดานเหนือบันไดเลื่อน โซน Next Wealth ณ ชั้น 5 สยามพารากอน ความพิเศษคืองานระดับโลกชิ้นนี้เป็นงานติดตั้งถาวรตอกย้ำความเป็น New World of Luxury
Aurora เมื่อแสงเหนือมาสาดสีที่ท้องฟ้าสยามพารากอน
สำหรับ ปาสกาล ดอมบีส์ ศิลปินชาวฝรั่งเศส ผู้สร้างสรรค์งาน co-creation ร่วมกับสยามพารากอนชิ้นล่าสุดกับผลงาน Aurora จัดแสดงโซน Next Wealth ชั้น 5 สยามพารากอน ศิลปินนำแรงบันดาลใจมาจากแสงเหนือและชิ้นงานแบบเรโทร โดยชิ้นงาน Aurora ถูกออกแบบเป็นรูปทรงวงกลมคล้ายวงล้อทฤษฎีสี (Color Wheel ) สร้างจากแผ่นเลนติคิวลาร์ (Lenticular) ที่วางเหลื่อมซ้อนเป็นวง 24 แผ่น แต่ละแผ่นใช้สีตั้งต้น 1 สีมาผสมกับสีขาวและสีดำ จากนั้นป้อนข้อมูลเส้นสีแนวดิ่งทั้ง 3 สี ลงในระบบอัลกอริทึมแบบเกินพอดีจนทำให้เกิดการขัดข้องทางเทคนิคที่งดงาม กลายเป็นเอกลักษณ์ความโดดเด่นในงานของ ปาสกาล ดอมบีส์
นอกจากนี้ ปาสกาล ดอมบีส์ ยังถนัดการผสมผสานแนวคิดศิลปะแบบมินิมอลกับความล้น (excessive) ผลลัพธ์ที่ได้คืองานดิจิทัลอาร์ตที่คนดูจะได้เห็นเฉดสี ลายเส้น การไล่สีซ้อนกันแบบคาดเดาได้ยากโดยงานชิ้นที่สร้างสรรค์ร่วมกับสยามพารากอนนี้ ศิลปินย้อนเล่าถึงความน่าสนใจของแสงเหนือว่าเป็นแสงสีที่ทำให้คนตื่นตาตื่นใจมานานนับพันปี เป็นแสงสีที่เกิดจากธรรมชาติสร้างสรรค์ เขาจึงต้องการสร้างอะไรที่หยุดคนดูและประสบการณ์เกี่ยวกับแสงสีนี้ไว้ แต่เป็นการใช้คอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีในยุคดิจิทัลเข้ามาหยุดปรากฏการณ์นับพันปีนี้ไว้ สอดคล้องกับคอนเซ็ปต์การสร้างงานศิลปะ ที่ไม่ได้จำกัดอยู่ในพื้นที่แกลเลอรี อย่างสยามพารากอน ที่เขาอยากจะดึงดูดความสนใจจากผู้ชม
“คนที่มาที่ศูนย์การค้า ต่างกับคนที่เดินเข้าแกลเลอรีเพื่อตั้งใจไปชมงานศิลปะโดยเฉพาะ เพราะฉะนั้นศิลปินเองต้องหาวิธีที่จะสะกดพวกเขา ต้องทำให้เขาตะลึงเพื่อที่เขาจะได้หยุดดู และสนใจงาน แบบ ว้าว มันคืออะไรเนี่ย…”
ปาสกาล ดอมบีส์ ยังได้ทิ้งท้ายถึงการเปิดประสบการณ์ใหม่ให้ผู้ชมงานศิลปะในพื้นที่เปิดอย่างสยามพารากอนว่า สำหรับเขาแล้วที่นี่ถือเป็นพื้นที่สร้างสรรค์งานที่มีความท้าทายอย่างมาก เพราะย่อมต่างจากการจัดแสดงงานในอาร์ตแกลเลอรีเฉพาะทาง แต่ข้อดีก็คือทำให้งานศิลปะสามารถเข้าถึงผู้คนได้มากยิ่งขึ้น
“การแสดงงานศิละปะในพื้นที่เปิดอย่างสยามพารากอน ที่มีผู้มาเยือนสถานที่แห่งนี้มีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติจากทั่วโลก เฉลี่ย 150,000 – 200,000 คนต่อวัน เป็นการเปิดโอกาสในการเข้าถึงงานศิลปะ และงานศิลปะเข้าถึงมวลชนได้ ต่างจากในแกลเลอรีที่บางทีอาจจะมีคนดูหลักสิบหลักร้อยเท่านั้นเอง”
ทั้งนี้ นภนิศ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้บริหารกลุ่มงานสร้างสรรค์ประสบการณ์และกลยุทธ์ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ผู้ร่วมออกแบบ Siam Paragon’s World Art Collective ได้กล่าวเสริมถึงการคัดสรรศิลปินมาร่วมสร้างสรรค์งาน และนำศิลปะมาสู่พื้นที่ที่เป็นสาธารณะอย่างสยามพารากอน ว่า เหตุผลที่สยามพารากอน ชวนปาสกาล ดอมบีส์มาร่วมสร้างสรรค์ศิลปะครั้งนี้ เพราะเห็นความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ แต่งาน Aurora ยังทำให้ผู้ชมได้ประสบการณ์ที่แตกต่างและแปลกใหม่ เป็นงานที่ชมได้ 360 องศาผ่านมุมมองที่แตกต่าง เริ่มจากจุดที่ยืนหน้าบันไดเลื่อนชั้น 4 และจนถึงเมื่อเคลื่อนตัวเข้าไปใกล้ชิ้นงานมากขึ้น ก็จะเห็นความเข้มข้นของสีที่ต่างกัน จากสีอ่อนหวานพาสเทลไปจนถึงโทนสีเข้มสด เฉดสีเข้มอ่อนที่ต่างกัน และรูปทรงของแสงสีที่ต่างกันออกไปตามมุมมองที่ผู้ชมยืน เหมือนอย่างที่ “ศิลปะทำให้ผู้ชมได้มองสิ่งต่างๆ ในมุมที่ต่างออกไป”
ไฮไลต์ 9 ศิลปะ Siam Paragon’s World Art Collective
สำหรับ Siam Paragon’s World Art Collective จัดแสดงตั้งแต่ชั้น 1 ไปจนถึงเพดานชั้น 5 ของสยามพารากอน มี ไฮไลต์ได้แก่
- “Aurora” ดิจิทัลอาร์ต ในรูปทรงกลมคล้ายวงล้อทฤษฎีสี แรงบันดาลใจจากแสงเหนือและแสงสีบนแผ่นเลนติคิวลาร์ โดย Pascal Dombis ศิลปินชาวฝรั่งเศส ประสบการณ์ชมศิลปะมุมมอง 360 องศาและใกล้-ไกลในแนวดิ่ง
- “Dylie” ประติมากรรมไฟเบอร์กลาส สร้างสรรค์จากคาแรคเตอร์ ไดลี่ ยมทูตน้อยน่ารักตัวสีม่วงที่ผสานสองขั้วของคาแรคเตอร์ ความน่ารักแบบเด็กน้อยกับการเล่าสอตรี่ด้านดาร์ก สร้างสรรค์โดย JWON หรือ สรายุทธ คุระแก้ว ศิลปินไทย นักวาดภาพ นักออกแบบคาแรคเตอร์ ที่กำลังมาแรงในแวดวงอาร์ตทอยและของสะสม
- “Cascading Melody” งานประติมากรรมสำริด โดดเด่นในเรื่องของแพทเทิร์น จังหวะ และความสมดุล ผลงานของ John Helton ประติมากรชาวอเมริกันแรงบันดาลใจจากโลกที่เชื่อมโยงกันเป็นนิรันดร์และเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา
- “Red Bubble” งานประติมากรรมสีแดงสะดุดตาโดย Donghoon Oh ศิลปินร่วมสมัยชาวเกาหลีใต้ แรงบันดาลใจของงานชิ้นนี้มาจากฟองสบู่ที่เด็กๆ เป่าเล่นกัน
- “คิดถึง” งานประติมากรรมไฟเบอร์กลาสผสมไม้ สื่อถึงความเหงาเดียวดายของมนุษย์ผ่านรูปทรงตัดทอนด้วยอารมณ์ความรู้สึกและจินตนาการส่วนตัว สร้างสรรค์ โดย นฤทธ์ธรณ์ เศรษฐคุณรัฐ ประติมากรไทยที่มีชื่อเสียงกับงานพุทธศิลป์สมัยใหม่
- “ไอ แอม ยู” (UOY MA I) ประติมากรรมคาแรคเตอร์ “น้องมะม่วง” เวอร์ชั่นนี้ สื่อเรื่องราวภาพสะท้อนและมุมมองต่อโลกของปัจเจกบุคคล เหมือนการส่องกระจกสะท้อนตัวเองและได้ครุ่นคิดถึงชีวิตตัวเอง งานสร้างสรรค์ของ วิศุทธิ์ พรนิมิต ศิลปินไทยผู้สร้างสรรค์คาแรคเตอร์น้องมะม่วง ทั้งในงานคอมิกส์ แอนิเมชัน
- “ไม่มาไกลเพื่อถอยหลัง” งานประติมากรรมไม้ไผ่ โดย อินสนธิ์ วงค์สาม ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) ปี พ.ศ. 2542 งานที่ได้แรงบันดาลใจจากการเดินทางของศิลปินไปเยือนถิ่นเกิดของ ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ถึงเมืองฟลอเรนซ์ อิตาลี ด้วยการขี่มอเตอร์ไซค์สกูตเตอร์ไปคนเดียวเจออุปสรรคมากมาย แต่ความพยายามไม่ย่อท้อทำให้ศิลปินไปถึงจุดหมายในที่สุด
- “The Way it Shapes You” งานประติมากรรมโลหะผสมเหล็กหล่อ สื่อถึงความเชื่อมโยงกับธรรมชาติ จากศิลปินชาวเนเธอร์แลนด์ Pieter Obels ผู้โดดเด่นด้วยการสร้างสรรค์เหล็กหล่อโลหะหนักให้เป็นงานศิลปะที่ให้ความรู้สึกเบา อ่อนช้อย ลื่นไหล ความงามที่สอดคล้องและมีความสมดุล
- “Kinetic Waves” และ “Vortex” ผลงานดิจิตัลอาร์ตที่ให้ประสบการณ์แบบอิมเมอร์ซีฟ 2 ชิ้น โดย มิเกล เชอวาลิเยร์ ศิลปินชาวฝรั่งเศสผู้บุกเบิกศิลปะแนวดิจิตัลอาร์ตมากว่า 40 ปี
Fact File
- รับชมคอลเล็คชันSiam Paragon’s World Art Collective ได้ตั้งแต่วันนี้ทั่วพื้นที่ สยามพารากอน
- ติดตามความเคลื่อนไหวของศิลปะใหม่ที่จะมาจัดแสดงเพิ่มเติมในอนาคต ได้ที่ FB : SiamParagon
ดูเนื้อหาต้นฉบับ
ที่มา : https://www.sanook.com/travel/1448831/
ขอขอบคุณ : https://www.sanook.com/travel/1448831/