สะพานคอนกรีตทอดยาวประมาณ 50 เมตร เกือบจะไร้ร้างความเคลื่อนไหวใดๆ หากไม่มีพรานปลาที่นั่งหย่อนเบ็ดรอคอยอย่างใจเย็น กับชาวท้องถิ่นผู้ทำหน้าที่เป็นมอเตอร์ไซค์รับจ้างคอยทักถามผู้มาเยือน
ระหว่างทางล่องเรือจากฝั่งระนองไปเกาะพยาม ก่อนถึงจุดหมายราว 15 นาที “เกาะช้าง” อวดความมหึมาอยู่ทางฝั่งขวามือ ชื่อของเกาะถูกตั้งตามลักษณะเนินเขารูปร่างโค้งมน มองจากระยะไกลคล้ายช้าง รวมทั้งขนาดพื้นที่ซึ่งเป็นเกาะใหญ่ที่สุดในทะเลระนอง แต่ความเงียบเชียบราวกับไม่มีใครกล้ำกรายตลอดแนวชายฝั่งที่ปกคลุมด้วยป่าเขียวครึ้ม อาจทำให้ใครหลายคนไม่รู้ว่า เกาะแห่งนี้มีมนต์เสน่ห์มากกว่าที่เห็นจากเปลือกนอก
อาณาเขตกว้างขวางบนเกาะช้างแทบทั้งหมดเป็นพื้นที่ป่าและเกษตรกรรม ถนนคอนกรีตสายเล็กๆ โอบขนาบด้วยร่มเงาของต้นกาหยู หรือมะม่วงหิมพานต์ สวนยางพารา และผืนป่าธรรมชาติ บางจุดต้นกาหยูแผ่กิ่งก้านประสานกันเป็นอุโมงค์ร่มรื่น ผลสุกปลั่งที่ร่วงหล่นลงพื้นดิน ส่งกลิ่นหอมประหลาดลอยฟุ้งไปทั่ว
การจะค้นพบว่า เกาะช้าง ที่แสนเคร่งขรึมก็มีสีสันของการท่องเที่ยว ต้องนั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้างฝ่าพื้นที่เกษตรกรรมไปอีกฟากของเกาะ ซึ่งเป็นที่ตั้งของบังกะโลชาวท้องถิ่น ขนานไปตามแนวชายหาด
จุดเริ่มต้นของกลุ่มคนที่มาแผ้วถางเส้นทางการท่องเที่ยว เกิดขึ้นหลายสิบปีก่อน เมื่อมีคนอพยพมาจากสมุย ชุมพร เพชรบุรี มาบุกเบิกทำสวนมะพร้าวในยุคที่เกาะยังเต็มไปด้วยป่าดงดิบ
เมื่อเกิดเป็นชุมชนเล็กๆบนเกาะอันห่างไกล จนกระทั่งราว 20 ปีก่อน กลุ่มนักท่องเที่ยวก็เริ่มเดินทางมาเยือน ชาวบ้านจึงตัดสินใจทำบังกะโลแบบเรียบง่าย เอาไว้ให้เป็นแหล่งหลบลี้หนีจากโลกภายนอกของเหล่านักเดินทางตะวันตก และที่พักเกือบทั้งหมดเป็นกิจการของคนท้องถิ่น เน้นความเป็นธรรมชาติ ด้วยรูปแบบเรือนไม้หลังเล็กๆ
ความห่างไกลความเจริญของเกาะช้าง จนแทบไม่มีอะไร กลายเป็นจุดแข็งทำให้เป็นเกาะนอกกระแสที่ยังรักษาแก่นความดั้งเดิมไว้ แทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากวันวาน เมื่อปราศจากผู้รุกล้ำทำลายความสมดุลของระบบนิเวศ เกาะช้างจึงยังเป็นแหล่งอาศัยของนกแก๊ก นกเงือกสายพันธุ์ชนิดหนึ่งที่มีเฉพาะสีขาวดำ และมีขนาดเล็กที่สุดจากบรรดานกเงือกที่พบได้ในประเทศไทย
คนเมืองอาจต้องเสาะแสวงหาการดูนกสายพันธุ์นี้จากพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติ แต่ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับชาวเกาะช้างที่คุ้นชินกับนกชนิดนี้ซึ่งมักปรากฏกายให้เห็นได้อย่างใกล้ชิดในช่วงเช้ามืด หรือก่อนพลบค่ำ อันเป็นเวลาที่มันออกหากิน โดยเฉพาะบริเวณแหลมฮอร์นบิล (Hornbill) มีนกแก๊กโบยบินหากินให้เห็นได้อย่างง่ายดาย เสริมจุดขายให้เกาะเป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางของผู้หลงใหลในการดูนก
การเดินทางไปเกาะช้าง จังหวัดระนอง
ใช้เส้นทางและวิธีการเดียวกันกับการไปเกาะพยาม
สะดวกที่สุด คือ ขึ้น/ลง ที่ท่าเรือไปเกาะพยาม เดินทางด้วยสปีดโบ๊ท ใช้เวลาประมาณ 30 นาที โดยแจ้งความประสงค์ว่าจะลงที่เกาะช้าง เรือจะแวะจอดให้ที่เกาะช้าง (ก่อนถึงเกาะพยาม ประมาณ 15 นาที) และต้องติดต่อนัดแนะวัน/เวลา เรื่องการเดินทางขากลับไว้ล่วงหน้า (หรือในกรณี จะเดินทางท่องเที่ยวต่อไปยังเกาะพยาม ก้ต้องติดต่อเรือไว้ล่วงหน้าเช่นกัน)
การเดินทางในเกาะช้าง
มีรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง แต่ไม่สามารถคาดการณ์เวลาได้แน่นอน เนื่องจากเกาะยังเงียบสงบมาก ดังนั้นควรติดต่อที่พักไว้ล่วงหน้าเพื่อประสานเรื่องการเดินทาง หากติดต่อกับคนท้องถิ่นได้แล้ว อาจขอเช่ามอเตอร์ไซค์เป็นรายวันในการเดินทางบนเกาะ
ดูเนื้อหาต้นฉบับ
ที่มา : https://www.sanook.com/travel/1425957/
ขอขอบคุณ : https://www.sanook.com/travel/1425957/